ขาหัก

ความหมาย ขาหัก

ขาหัก (Broken Leg)  คือ อาการที่กระดูกบริเวณขาได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง อาจเป็นผลมาจากอุบัติเหตุต่าง ๆ เช่น หกล้ม อุบัติเหตุทางรถยนต์ บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา เป็นต้น ในผู้ที่มีกระดูกไม่แข็งแรงหรือผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก จะมีโอกาสในการบาดเจ็บขาหักได้มากกว่า เช่น โรคมะเร็ง โรคกระดูกพรุน เป็นต้น หากมีอาการรุนแรง จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อจัดแนวกระดูก อาจต้องใช้เวลาพักฟื้นหลังการผ่าตัดอย่างน้อยประมาน 2-3 เดือน รวมถึงอาจต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูและเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อขาได้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ

ขาหัก

ขาของมนุษย์ประกอบไปด้วยกระดูก 4 ชนิดด้วยกัน คือ กระดูกต้นขา (Femur) เป็นกระดูกที่ยาวและแข็งแรงมากที่สุดในร่างกาย ส่วนบนของกระดูกต้นขาจะติดกับกับกระดูกเชิงกรานเป็นข้อต่อสะโพก ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหวได้หลายทิศทาง ส่วนล่างของกระดูกต้นขาติดกับกับกระดูกหน้าแข้ง (Tibia) กลายเป็นข้อเข่า โดยมีกระดูกสะบ้า (Patella) เลื่อนไปมาได้อยู่ที่ส่วนหน้าของข้อเข่า เป็นส่วนที่ช่วยเพิ่มพลังในการยืดหรือเหยียดขาออก เมื่อกระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่อง (Fibula) มาบรรจบกันกลายเป็นข้อเท้า หากได้รับบาดเจ็บข้อเท้าบิดอย่างรุนแรงจะทำให้กระดูกหน้าแข้งและกระดูกน่องหักได้

อาการของขาหัก

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหัก อาการทั่วไปที่พบได้คือ รู้สึกเจ็บ ปวด บวม มีรอยฟกช้ำ ในช่วงนี้ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกายมาก เพราะจะทำให้ความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น หากมีอาการรุนแรงอาจมีปัญหาในการเดิน หรือเดินไม่ได้ จะสังเกตเห็นได้ว่าลักษณะทางกายภาพของขาเปลี่ยนแปลงไป เช่น ขาสั้นลงกว่าข้างที่ไม่ได้รับบาดเจ็บ ขาบิด มีมุมหรือองศาเกิดขึ้นจากการหักของกระดูก

ขาหักอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จำเป็นต้องได้เข้ารับการรักษาโดยด่วน ในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทกสูง เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ หากได้รับบาดเจ็บขาหักหรือพบเห็นผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหัก โทรเรียกรถพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ทั้ง 3 หมายเลข คือ 1669 (ศูนย์นเรนทร) 1691 (ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาลกรมตำรวจ) หรือ 1554 (หน่วยกู้ชีพ กรุงเทพมหานคร) และควรไปพบแพทย์ หากพบว่าไม่สามารถเดินได้ตามปกติ รู้สึกเจ็บหรือปวดมากตอนเดิน รู้สึกเจ็บเมื่อกดที่กระดูกบริเวณขา รู้สึกกังวลหรือไม่แน่ใจว่าขาจะหักหรือไม่ ควรรีบไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ประเมินอาการ

รวมถึงผู้ที่เคยเข้ารับการผ่าตัดหรือเข้าเฝือกจากการได้รับบาดเจ็บขาหัก ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบว่ารู้สึกชาหรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ขาหรือเท้า และอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยาระงับอาการปวด อาจเป็นสัญญาณของภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อผิดปกติ (Compartment Syndrome) จะเกิดขึ้นเมื่อขามีอาการบวมมาก ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือด อวัยวะส่วนปลายขาดเลือดไปเลี้ยง อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ขาได้ หรือพบว่ามีไข้สูง ปวดบวม มีน้ำหนองที่บริเวณแผล ซึ่งเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่แผล

สาเหตุของขาหัก

สาเหตุที่ทำให้กระดูกขาหัก ต้องเกิดจากการใช้แรงมาก อาจเป็นผลมาจากการหกล้ม อุบัติเหตุทางรถยนต์ ได้รับบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา โดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระแทกหรือใช้แรงในการเล่น เช่น ฟุตบอล ฮอกกี้ บาสเก็ตบอล ศิลปะการต่อสู้ เป็นต้น หรือกิจกรรมที่ต้องออกแรงขาซ้ำ ๆ เช่น การวิ่ง รวมถึงเด็กที่ถูกทำทารุณกรรม โดยเฉพาะอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก่อนที่เด็กจะเดินได้ และในผู้ที่กระดูกไม่แข็งแรงหรือผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูก จะมีโอกาสในการบาดเจ็บขาหักได้มากกว่า เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคกระดูกพรุน เนื้องอกหรือก้อนซีสท์ที่กระดูก เป็นต้น

การวินิจฉัยขาหัก

ในการวินิจฉัย โดยปกติแพทย์จะเอกซเรย์เพื่อหาหลักฐานหรือตำแหน่งของกระดูกที่หัก ใช้มือสัมผัสเพื่อตรวจการรับความรู้สึกของขา อาจมีการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นร่วมด้วย เช่น การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจเอกซเรย์หลอดเลือด (Angiogram) หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการของกล้ามเนื้อ เส้นเลือดแดง หรือเส้นประสาทได้รับความเสียหาย หรืออาจต้องตรวจเพื่อหาสาเหตุที่ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและเกิดการแตกหักง่าย เป็นต้น

การรักษาขาหัก

ในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหัก จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ขาจะได้กลับมาใช้งานได้ตามปกติ ในระหว่างรอการเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาล สามารถปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้โดยหลีกเลี่ยงการขยับขาให้มากที่สุด เพื่อลดอาการเจ็บหรือปวด จากนั้นประคบเย็นด้วยห่อน้ำแข็ง หากเป็นไปได้ควรยกขาให้สูงกว่าระดับหน้าอกหรือใช้หมอนรองใต้ขาเพื่อลดการอาการบวม ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหักรุนแรงมักจะต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด ในระหว่างที่รอรักษาจึงไม่ควรให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มจนกว่าจะถึงมือแพทย์หรือแพทย์อนุญาตให้รับประทานได้

วิธีการรักษาขาหักจะขึ้นอยู่กับประเภทและตำแหน่งของกระดูกที่หัก เช่น กระดูกหักล้า (Stress Fractures) มักพบรอยแตกเล็ก ๆ จากการใช้งานหนักเกินไปซ้ำ ๆ เป็นประจำ พบได้มากในกลุ่มนักกีฬา อาจรักษาด้วยการนอนพักร่วมกับการตรึงอวัยวะ หรือกระดูกหักแบบแผลเปิด (Compound Fracture) คือกระดูกที่หักและแทงทะลุผิวหนังหรือมีบาดแผลเปิด เป็นชนิดที่รุนแรงและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ จำเป็นต้องรีบทำการรักษา เป็นต้น

เมื่อพบว่าผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บขาหักแพทย์จะมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้

  • การตรึงอวัยวะ แพทย์จะให้ผู้ป่วยรับประทานยาระงับอาการปวดและเข้าเฝือกชั่วคราว เพื่อลดการเคลื่อนไหว และป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นตามมา ในกรณีที่ผู้ป่วยขาหักรุนแรงแพทย์อาจให้ยาระงับอาการปวดฉีดเข้าเส้นเลือด จากนั้นจะเอกซเรย์เพื่อประเมินการหักของกระดูก ถ้ากระดูกหักแต่ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม แพทย์จะรใส่เฝือกแข็งให้ เพื่อลดการเคลื่อนไหว ในช่วงนี้อาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงร่างกายหรือไม้ค้ำเพื่อลดการลงน้ำหนักในขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บ
  • การจัดกระดูก (Reduction) ให้เข้าสู่ตำแหน่งเดิม แพทย์อาจให้ยาชา ยาระงับประสาท หรือยาสลบ ก่อนการจัดกระดูก จากนั้นจึงทำการใส่เฝือกแข็งเพื่อลดการเคลื่อนไหว
  • การผ่าตัด เพื่อดามหรือจัดกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องด้วยการใส่โลหะ ในกรณีที่มีกระดูกหักหลายจุดเกิดความเสียหายต่อเส้นเอ็นในบริเวณรอบข้าง กระดูกหักไปถึงข้อต่อ กระดูกหักหรือบดจากอุบัติเหตุ กระดูกหักที่บริเวณต้นขา เป็นต้น หลังการผ่าตัดอาจต้องใส่เฝือกแข็ง หรือใส่เครื่องยึดตรึงกระดูกภายนอก ประมาณ 6-8 สัปดาห์ หรือจนกว่าอาการจะหายดีเป็นปกติ
  • การใช้ยา เพื่อลดอาการปวด บวม และอักเสบ เช่น อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่าง หรือแพทย์อาจสั่งยาที่มีความแรงมากกว่านี้ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างรุนแรง

หลังเข้ารับการรักษา จะใช้เวลาประมาณ 6-8 สัปดาห์ในการพักฟื้นสำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหักไม่รุนแรง ในระหว่างนี้อาจต้องใช้อุปกรณ์พยุงร่างกาย ไม้ค้ำ หรือรถเข็น เพื่อลดการเคลื่อนไหวและการลงน้ำหนักที่ขา และในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขาหักรุนแรงอาจต้องใช้เวลาในการพักฟื้นนานถึง 3-6 เดือน หรือมากกว่านั้นแล้วแต่กรณี ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการฟื้นฟูด้วยการทำกายภาพบำบัด เพื่อเพิ่มความแข็งแรงหรือความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อ รวมถึงการออกกำลังกายเฉพาะในช่วงก่อนหรือหลังการใส่เฝือก ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ถึงแม้จะไม่พบอาการเจ็บปวด แต่การบาดเจ็บอาจยังไม่หายดีเต็มที่

ภาวะแทรกซ้อนของขาหัก

โดยปกติการบาดเจ็บขาหักจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนในการพักฟื้นจนกว่าจะหายเป็นปกติ บางรายอาจต้องผ่าตัดอีกครั้งหากกระดูกถูกจัดวางหรืออยู่ในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ผู้ที่มีการใช้งานหรือลงน้ำหนักขาข้างที่ได้รับบาดเจ็บมากเกินไปก่อนที่จะหายดี ผู้ที่กระดูกขาหักอย่างรุนแรง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่ในช่วงการรักษาและการพักฟื้น หรืออาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่่น ๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • กล้ามเนื้อ เส้นประสาท หลอดเลือดได้รับความเสียหายในบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บขาหัก อาจทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ความรู้สึกที่บริเวณขาลดลง และเลือดไปเลี้ยงขาไม่เพียงพอ
  • การติดเชื้อที่กระดูก แผลอาจสัมผัสกับเชื้อราหรือแบคทีเรีย การผ่าตัด หรือมีเศษกระดูกติดที่บริเวณผิวหนัง อาจต้องรักษาด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
  • ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อผิดปกติ (Compartment Syndrome) เกิดจากมัดกล้ามเนื้อมีอาการปวดและบวม ส่งผลต่อการไหลเวียนของเลือดที่บริเวณขา
  • โรคข้ออักเสบ อาจทำให้เกิดโรคข้อเข่าเสื่อมได้ภายหลัง จากการบาดเจ็บขาหักที่มีรอยแตกขยายไปถึงข้อต่อ หรือสรีระของแนวกระดูกที่ไม่เป็นธรรมชาติ
  • ความยาวของขาไม่เท่ากัน โดยปกติกระดูกแขนและขาจะเจริญเติบโตจากส่วนปลายของกระดูกหรือที่เรียกว่า Growth Plate หากเกิดการบาดเจ็บขาหักในส่วนนี้ จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกระดูก ทำให้กระดูกขามีความสั้นยาวไม่เท่ากัน

การป้องกันขาหัก

ขาหักป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บขาหัก เช่น

  • เสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกระดูก ด้วยการรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียม เช่น นม โยเกิร์ต ชีส หรือเลือกรับประทานแคลเซียมหรือวิตามินซีในรูปแบบของอาหารเสริม โดยปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย
  • เลือกสวมใส่รองเท้าที่พอดีและเหมาะสมกับแต่ละกิจกรรม เช่น รองเท้ากีฬา และเปลี่ยนรองเท้าใหม่เมื่อคู่เก่าส้นสึกหรือชำรุด  รวมถึงสวมใส่อุปกรณ์กันกระแทกโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีกิจกรรมที่ต้องใช้ความเร็ว ความสูง หรือมีความเสี่ยงต่อการกระแทก
  • การออกกำลังการแบบ Cross-Train เป็นทางเลือกหนึ่งในการออกกำลังกาย ที่ไม่จำเจด้วยการสลับกิจกรรมอื่น เช่น การว่ายน้ำ การปั่นจักรยาน แทนการวิ่งเพียงอย่างเดียว
  • เลือกใช้อุปกรณ์พยุงร่างกายหรือไม้ค้ำในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการหกล้ม และอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บขาหักหรือกระดูกในส่วนอื่น ๆ หักได้
  • ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการตรวจหาสาเหตุหรือโรคที่ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ
  • ไม่ควรวางของเกะกะขวางทางเดิน โดยเฉพาะบริเวณบันได เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการสะดุดล้ม