เนื้องอก

ความหมาย เนื้องอก

เนื้องอก (Tumor) คือ เนื้อเยื่อที่มีการแบ่งตัวและเจริญเติบโตผิดปกติ ซึ่งอาจเป็นเพียงเนื้อเยื่องอกเพิ่มขึ้นมา หรืออาจหมายถึงเนื้อร้ายที่เป็นเซลล์มะเร็งก็ได้ โดยเนื้องอกแต่ละประเภทย่อมมีลักษณะเฉพาะและวิธีการรักษาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและตำแหน่งที่เกิดด้วย

เนื้องอก

ชนิดของเนื้องอก

เนื้องอกธรรมดา (Benign Tumor) เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นแล้วไม่แพร่กระจายลุกลามไปสร้างความเสียหายยังเซลล์เนื้อเยื่อในบริเวณใกล้เคียงหรือเซลล์เนื้อเยื่อในอวัยวะส่วนอื่น แต่อาจทำให้เกิดความเสียหายหรืออันตรายต่อร่างกายได้ หากเนื้องอกที่เกิดขึ้นไปกดทับอวัยวะสำคัญ เช่น เส้นเลือดหรือเส้นประสาทของผู้ป่วย

เนื้องอกธรรมดามีหลายชนิดด้วยกัน โดยชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • ไฟโบรมา หรือไฟบรอยดส์ (Fibromas/Fibroids) อาจเกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณใดก็ตามบนร่างกาย โดยมากมักเกิดขึ้นในมดลูก และสร้างความเสียหายทำให้มีอาการอย่างเลือดไหลออกจากช่องคลอด ปวดท้องน้อย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะปัสสาวะ
  • ปาปิลโลมา (Papillomas) เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวและมีลักษณะก้อนเนื้อคล้ายรูปนิ้วมือ อาจเกิดขึ้นบริเวณผิวหนัง ท่อน้ำนมบริเวณทรวงอก ปากมดลูก หรือเยื่อบุหนังตา เนื้องอกชนิดนี้เป็นผลมาจากการสัมผัสกับเชื้อไวรัส Human Papillomavirus: HPV
  • ไลโปมา (Lipomas) หรือเนื้องอกไขมัน เกิดจากเซลล์ไขมัน มักเกิดขึ้นบริเวณลำคอ แขน ไหล่ หรือหลัง มักมีลักษณะกลม เคลื่อนไปมาได้ ก้อนนุ่ม และเจริญเติบโตอย่างช้า ๆ
  • อะดีโนมา (Adenomas) เกิดขึ้นบริเวณเนื้อเยื่อบุผิวของต่อมภายในร่างกาย มักเกิดขึ้นในลำไส้ใหญ่ ตับ หรือต่อมไทรอยด์ ซึ่งเนื้องอกชนิดนี้อาจพัฒนาไปเป็นเนื้อร้ายได้ แต่มีโอกาสเกิดน้อยกว่า 1 ใน 10 ครั้งที่พบเนื้องอกชนิดนี้
  • ฮีแมงจิโอมา (Hemangiomas) เป็นการรวมตัวของเซลล์หลอดเลือดในผิวหนังหรือในอวัยวะภายในเกิดเป็นเนื้องอก อาจปรากฏในรูปของปานสีแดงหรือสีดำคล้ำ
  • ไฝ หรือปาน (Nevi/Moles) เกิดขึ้นที่ผิวหนัง อาจเป็นจุดหรือบริเวณสีชมพู สีแทน สีน้ำตาล ไปจนถึงสีดำคล้ำ หากไฝหรือปานมีการเจริญเติบโตขึ้นอย่างผิดปกติหรือผิดรูปร่างไปจากเดิม ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ เพราะอาจเป็นสัญญาณเสี่ยงของการเกิดมะเร็งได้
  • ไมโอมา (Myoma) เป็นเนื้องอกของกล้ามเนื้อ และไลโอไมโอมา (Leiomyomas) เป็นเนื้องอกที่เติบโตในกล้ามเนื้อเรียบบริเวณอวัยวะต่าง ๆ เช่น กล้ามเนื้อของผนังกระเพาะอาหาร มดลูก หลอดเลือด
  • ออสทีโอคอนโดรมา (Osteochondroma) เป็นเนื้องอกบริเวณกระดูกที่มักทำให้เกิดปุ่มนูนตรงข้อต่อ อย่างหัวเข่าหรือหัวไหล่
  • นิวโรมา (Neuromas) เป็นเนื้องอกที่เจริญเติบโตบริเวณเส้นประสาท อาจเกิดขึ้นได้กับบริเวณใดก็ตามบนร่างกายที่เป็นที่อยู่ของเส้นประสาท พบมากในผู้ป่วยโรคทางพันธุกรรมนิวโรไฟโบรมาโตสิส (Neurofibromatosis) หรือโรคท้าวแสนปมนั่นเอง
  • เมนิงจิโอมา (Meningiomas) เป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อหุ้มสมองและเยื่อหุ้มไขสันหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการทางสมองและระบบประสาท เช่น ปวดหัว อ่อนแรงครึ่งซีก ชัก บุคลิกภาพเปลี่ยนแปลง มีปัญหาทางการมองเห็น เป็นต้น

เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย (Malignant หรือ Cancerous Tumor) เนื้อร้าย หรือเซลล์มะเร็ง เป็นเนื้อเยื่อที่เจริญเติบโตอย่างควบคุมไม่ได้ แพร่กระจาย และลุกลามไปเรื่อย ๆ ตามเนื้อเยื่ออื่นในบริเวณใกล้เคียง หรือเนื้อเยื่อที่อวัยวะอื่น ๆ ผ่านทางเลือด โดยเซลล์เนื้อร้ายจะไปทำลายเซลล์ปกติที่มีสุขภาพดี ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บป่วยหรืออาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม หรือกำจัดเซลล์เนื้อร้ายออกไปได้อย่างทันท่วงที

สาเหตุของเนื้องอก

เนื้องอกเกิดจากการขาดสมดุลระหว่างกระบวนการเจริญเติบโตของเซลล์ใหม่และการเสื่อมสลายของเซลล์เก่าภายในร่างกาย เนื่องจากโดยปกติแล้ว เซลล์เก่าที่ตายไปจะถูกทำลายและสลายไป เพื่อเปิดช่องว่างให้เซลล์ใหม่เจริญเติบโตขึ้นมาแทนที่ แต่หากกระบวนการดังกล่าวถูกรบกวนหรือเกิดความผิดปกติ เนื้อเยื่อจะเจริญเติบโตผิดปกติเกิดเป็นเนื้องอกขึ้นมา

โดยส่วนมาก เนื้องอกธรรมดามักเกิดขึ้นโดยไม่อาจระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่เนื้องอกที่เกิดขึ้นนั้นมักเกี่ยวข้องกับปัจจัยดังต่อไปนี้

  • สารพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น ร่างกายสัมผัสกับรังสีที่เป็นอันตราย
  • กรรมพันธุ์
  • การบาดเจ็บในบริเวณต่าง ๆ
  • การอักเสบ หรือการติดเชื้อ
  • ความเครียด
  • อาหารการกิน

ส่วนเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย หรือมะเร็ง อาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • สารเคมี สารพิษชนิดต่าง ๆ เช่น สารพิษในบุหรี่ สารเบนซีน
  • การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • สารพิษจากสิ่งแวดล้อม เช่น พิษจากเห็ดพิษ หรือพิษในเชื้อราอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxins) ที่มักปนเปื้อนอยู่ในอาหารตระกูลถั่ว
  • ร่างกายสัมผัสกับแสงแดดมากเกินไป ทำให้รังสียูวีจากแดดส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเซลล์ผิว
  • ร่างกายสัมผัสกับรังสีที่เป็นอันตราย
  • การติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก จากการติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus: HPV มะเร็งตับจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ B และ C
  • ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการเจ็บป่วยที่อาจถ่ายทอดผ่านทางพันธุกรรม
  • ภาวะอ้วน 
  • อาหารการกิน

อาการของเนื้องอก

ลักษณะอาการของผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในร่างกายแตกต่างกันไปตามชนิดของเนื้องอก และตำแหน่งที่มีเนื้องอกเกิดขึ้น ซึ่งผู้ป่วยอาจมีลักษณะอาการ เช่น

  • มีไข้ หรือหนาวสั่น
  • เมื่อยล้า อ่อนเพลีย
  • ไม่อยากอาหาร
  • น้ำหนักตัวลดลง
  • มีเหงื่อออกตอนกลางคืน
  • เจ็บปวดตามบริเวณที่เกิดเนื้องอก

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายที่มีเนื้องอก อาจมีลักษณะอาการเฉพาะ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริเวณที่เกิดเนื้องอก เช่น

  • เนื้องอกในปอด ผู้ป่วยอาจมีอาการไอ หายใจไม่อิ่ม และเจ็บหน้าอก
  • เนื้องอกในลำไส้ใหญ่ ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักตัวลดลง ท้องร่วงหรือท้องผูก ป่วยด้วยภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก และอาจถ่ายเป็นเลือด

ส่วนเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือมะเร็งนั้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ ปรากฏในระยะเริ่มแรก แต่อาจมีอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ที่รุนแรงขึ้น เมื่อเซลล์มะเร็งได้แพร่กระจายเข้าสู่ระยะลุกลาม ซึ่งลักษณะอาการที่เกิดขึ้นมักแตกต่างกันไปตามประเภทและบริเวณที่เกิดมะเร็งด้วยเช่นกัน

การวินิจฉัยเนื้องอก

แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยบริเวณที่เกิดเนื้องอกชนิดที่ปรากฏตามผิวหนังและร่างกายภายนอก หรือผู้ป่วยที่มีข้อสงสัยและไปพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บป่วยบางอย่าง แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเพื่อตรวจหาเนื้องอก หรือตรวจหาสาเหตุและความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย โดยแพทย์อาจเลือกใช้วิธีการดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือดและความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด  แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อนำตัวอย่างเลือดที่ได้ส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติ เพื่อหาจำนวนเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว ฮีโมโกลบินในเลือด หาความเข้มของเลือด หรือสารบ่งชี้มะเร็ง (Tumor Marker) เป็นต้น
  • การตรวจการทำงานของตับ แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจหาระดับสารเคมีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของตับ เช่น อัลบูมิน (Albumin) บิลิรูบิน (Billirubin) อัลคาไลน์ ฟอสเฟต (Alkaline Phosphatase) และเอนไซม์ต่าง ๆ เป็นต้น
  • การเอกซเรย์ช่องอก ผู้ป่วยต้องยืนหน้าเครื่องเอกซเรย์แล้วสูดหายใจเข้าในขณะที่เครื่องจับภาพเอกซเรย์ ภาพแรกคือยืนหันหน้าเข้าหาเครื่อง และอีกภาพหนึ่งคือยืนหันด้านข้างเข้าหาเครื่อง เป็นวิธีการตรวจบริเวณช่องอก ปอด หัวใจ เส้นเลือดใหญ่ กระบังลม และกระดูกซี่โครง
  • การสแกนอวัยวะและโครงสร้างภายใน แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้าเครื่องทำ CT Scan หรือ MRI Scan  เพื่อฉายภาพตำแหน่งที่อาจมีเนื้องอกเกิดขึ้น หรือบริเวณที่มีการแพร่กระจายลุกลามของเซลล์เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย และอาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วย PET Scan เพื่อดูการทำงานของเนื้อเยื่ออวัยวะและการไหลเวียนของเลือดอย่างชัดเจนขึ้น
  • การตรวจเนื้อเยื่อไขกระดูก ไขกระดูกเป็นเนื้อเยื่อในกระดูกที่ช่วยในกระบวนการสร้างเซลล์เม็ดเลือด เพื่อตรวจหาความผิดปกติของร่างกาย แพทย์อาจตัดเอาเนื้อเยื่อไขกระดูกบางส่วนจากบริเวณกระดูกเชิงกราน หรือกระดูกหน้าอกออกไปเพื่อตรวจในห้องปฏิบัติการ
  • การตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ หากตรวจพบว่ามีเนื้องอกเกิดขึ้นจริง แพทย์อาจนัดหมายเพื่อผ่าตัดนำชิ้นเนื้อบางส่วนจากก้อนเนื้องอกออกไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อให้ทราบความผิดปกติและชนิดของเนื้องอกให้แน่ชัดว่าเป็นเนื้องอกธรรมดา หรือเป็นเซลล์มะเร็ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนรักษาผู้ป่วยต่อไป

การรักษาเนื้องอก

แพทย์จะพิจารณาวางแผนรักษาเนื้องอกโดยคำนึงถึงชนิดของเนื้องอกและตำแหน่งที่เกิดเนื้องอกเป็นหลัก

เนื้องอกธรรมดา

หากผู้ป่วยมีเนื้องอกที่ไม่ใช่เซลล์เนื้อร้าย และตำแหน่งที่เกิดเนื้องอกไม่ได้เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา ผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาใด ๆ โดยทั่วไป การรักษาเนื้องอกที่เกิดขึ้นตามร่างกายภายนอก มักเป็นการผ่าตัดเพื่อศัลยกรรมตกแต่งเนื้อบริเวณนั้นให้มีความปกติ แต่หากเป็นเนื้องอกที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย และอยู่ในตำแหน่งที่เสี่ยงเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น มีเนื้องอกในสมอง หรือมีเนื้องอกที่ไปกดทับเส้นเลือดจนอาจทำให้การไหลเวียนเลือดมีปัญหา แพทย์อาจผ่าตัดนำเนื้องอกส่วนนั้นออกไป อาจใช้ยารักษาบางประเภท หรืออาจฉายรังสีเพื่อกำจัดเซลล์เนื้องอกในบริเวณนั้นออกไป โดยแพทย์จะพยายามให้เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงเสียหายน้อยที่สุด

เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็ง

สำหรับผู้ที่ถูกตรวจพบเนื้องอกที่เป็นเซลล์มะเร็ง ในเบื้องต้นผู้ป่วยอาจต้องการกำลังใจและการสนับสนุนจากครอบครัวและสังคม แต่อย่างไรก็ตาม การตรวจพบว่าเป็นมะเร็งแต่เนิ่น ๆ หรือในระยะแรกเริ่ม ย่อมเป็นผลดีต่อการรักษา และมีโอกาสสูงที่ผู้ป่วยจะหายเป็นปกติได้

โดยแพทย์อาจวางแผนรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีร่วมกัน เพื่อกำจัดเซลล์เนื้องอกที่เกิดขึ้น และยับยั้งการแพร่กระจายลุกลามไปยังเซลล์เนื้อเยื่ออื่น ๆ ด้วย เช่น

  • เคมีบำบัด หรือ คีโม (Chemotherapy) เป็นการให้ยาเพื่อรักษาอาการป่วยที่เกิดขึ้นจากมะเร็ง และทำลายเซลล์มะเร็ง หากเซลล์นั้นลุกลามและไม่สามารถกำจัดออกไปจนหมดได้ การให้ยาจะมุ่งเน้นการควบคุมไม่ให้เนื้อร้ายเจริญเติบโตหรือแพร่กระจายเพิ่มขึ้น หรือหากมะเร็งอยู่ในระยะลุกลาม แพทย์อาจให้ยาเพื่อบรรเทาและประคับประคองอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจากมะเร็ง
  • การให้ยาเจาะจงเซลล์มะเร็ง (Targeted Cancer Therapy) เป็นการให้ยารักษามะเร็งและกำจัดเซลล์มะเร็งอย่างเจาะจงบริเวณที่เกิดเนื้อร้ายขึ้น เพื่อฆ่าทำลายเซลล์มะเร็ง ชะลอหรือหยุดการเจริญเติบโตลุกลามของมะเร็งในบริเวณนั้น
  • รังสีบำบัด (Radiation) เป็นการใช้เครื่องมือเพื่อยิงคลื่นพลังงานสูงผ่านร่างกายเข้าไปในบริเวณที่เป็นเนื้อร้าย เพื่อฆ่าทำลายกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยเป็นวิธีที่ส่งผลกระทบต่อเซลล์สุขภาพดีในบริเวณใกล้เคียงเพียงเล็กน้อย
  • ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) เป็นการให้สารเคมีบางชนิดแก่ผู้ป่วย เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันร่างกายทำงานเพื่อต่อต้าน กำจัด ยับยั้ง หรือชะลอเซลล์มะเร็งได้ดีขึ้น และป้องกันการแพร่กระจายลุกลามของเซลล์มะเร็งไปยังเนื้อเยื่ออวัยวะส่วนอื่น ๆ ด้วย

 

  • การผ่าตัด แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดนำเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายออกไปในผู้ป่วยบางราย โดยขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดเซลล์มะเร็ง และระดับความรุนแรงในการลุกลามด้วย เช่น แพทย์อาจต้องผ่าตัดนำอวัยวะส่วนที่มีการลุกลามของเซลล์มะเร็งออกไปจนหมดในผู้ป่วยบางราย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายลุกลามไปยังอวัยวะและเนื้อเยื่ออื่น ๆ ภายในร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อนของเนื้องอก

เนื้องอกธรรมดา

  • หากเนื้องอกมีขนาดใหญ่หรือมีรูปร่างผิดปกติ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดความวิตกกังวล เป็นทุกข์ ไม่สบายใจได้
  • หากเนื้องอกเกิดขึ้นในตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพ อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา และอาจเป็นอันตรายร้ายแรงถึงชีวิตได้ เช่น เนื้องอกกดทับเส้นเลือดหรือเส้นประสาท เนื้องอกในสมอง เป็นต้น

เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือเซลล์มะเร็ง

อาการป่วยและภาวะแทรกซ้อนของผู้ที่มีเนื้องอกเป็นเซลล์มะเร็งอาจแตกต่างกันไปตามระยะการลุกลามและตำแหน่งที่เกิดมะเร็ง โดยผู้ป่วยอาจมีอาการซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการลุกลามของมะเร็ง หรือจากการเข้ารับการบำบัดรักษามะเร็งด้วยวิธีต่าง ๆ ได้เช่นกัน

ตัวอย่างอาการที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้ป่วยมะเร็ง และผู้ที่กำลังเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง

  • เจ็บปวดตามร่างกาย
  • เมื่อยล้า  อ่อนแรง
  • หายใจลำบาก หรือ หายใจไม่อิ่ม
  • คลื่นไส้ วิงเวียน
  • ท้องผูก หรือ ท้องร่วง
  • น้ำหนักลด
  • ระดับสารเคมีในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือขาดสมดุล ทำให้อาจเกิดอาการ เช่น กระหายน้ำมากเกินไป ปัสสาวะบ่อย มีภาวะสับสนมึนงง
  • เกิดปัญหาในสมองและระบบประสาท เนื่องจากเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายอาจไปกดเส้นประสาท จนนำไปสู่อาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทางระบบประสาทได้ เช่น ปวดหัว ร่างกายอ่อนแรงครึ่งซีก หรือมีอาการอื่น ๆ ที่คล้ายเส้นเลือดในสมองแตกหรือตีบตัน
  • ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเซลล์มะเร็งผิดปกติ และอาจกลายเป็นทำลายเซลล์ที่มีสุขภาพดีได้ อาการรุนแรงที่อาจพบ ได้แก่ เดินลำบาก หรือมีภาวะชัก
  • หลังจากรักษามะเร็งไปแล้ว ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะกลับมาเป็นมะเร็งอีก
  • เซลล์มะเร็งอาจลุกลามและแพร่กระจายไปยังเซลล์เนื้อเยื่อและอวัยวะส่วนอื่น ๆ ทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความเสียหาย จนเสี่ยงต่อการเสียชีวิต

การป้องกันการเกิดเนื้องอก

เนื้องอกธรรมดาและเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยสาเหตุ แต่โดยทั่วไป อาจสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงได้ด้วยการระมัดระวังในการใช้ชีวิต และหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อปัญหาต่อสุขภาพได้ เช่น

  • ไม่สูบบุหรี่ เลิกสูบบุหรี่ หรือหลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่มีควันบุหรี่
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามหลักโภชนาการที่เหมาะสม เช่น บริโภคผักผลไม้ให้มาก ลดอาหารที่มีไขมันสูง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารสำเร็จรูป ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือดื่มในปริมาณที่พอดี เป็นต้น
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 150 นาที/สัปดาห์
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดเป็นเวลานานจนเกินไป อยู่ในที่ร่ม สวมใส่เครื่องแต่งกายปกคลุมผิวหนัง ทาครีมกันแดด
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง อย่างการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน มีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น ไวรัสตับอักเสบ และไวรัส HPV
  • ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ไปพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเป็นระยะ