โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

ความหมาย โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis)

โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) คือ โรคที่ร่างกายมีความหนาแน่นและมวลของกระดูกลดน้อยลง จนทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป และแตกหักได้ง่าย ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และหากเกิดการแตกหักของกระดูกส่วนสำคัญ เช่น กระดูกสันหลัง อาจกดเบียดไขสันหลังซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง จึงส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและอาจทำให้พิการได้ 

โรคกระดูกพรุนมักเกิดบริเวณข้อมือ สะโพก และกระดูกสันหลัง และยังพบได้บ่อยในผู้สูงอายุเนื่องจากเป็นวัยที่มวลกระดูกลดลงตามวัย ผู้ป่วยมักไม่มีอาการปวดหรืออาการอื่นที่บ่งบอกว่าเป็นโรคกระดูกพรุนจนกว่าจะเกิดกระดูกหัก การป้องกันแต่เนิ่น ๆ ด้วยการการดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ

กระดูกพรุน rs

 

อาการของโรคกระดูกพรุน

ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมักจะทราบว่าตนป่วยเมื่อมีอาการแสดงไปแล้ว และยังมีอาการบ่งชี้อื่น ๆ ที่ควรใส่ใจสังเกต เพื่อสามารถรักษาได้ทันการณ์ ดังนี้

  • กระดูกข้อมือ แขน สะโพก และกระดูกสันหลังแตกหักได้ง่ายแม้ถูกกระแทกแบบไม่รุนแรง
  • หลังค่อมหรือกระดูกสันหลังส่วนบนโค้งลง
  • ความสูงลดลงเนื่องจากกระดูกผุกร่อน
  • ปวดหลังจากการที่กระดูกสันหลังเบียดบริเวณไขสันหลัง

สาเหตุของโรคกระดูกพรุน

กระดูกจะมีเซลล์สร้างกระดูก (Osteoblast) ทำหน้าที่สร้างกระดูกขึ้นมาใหม่จากแคลเซียมและโปรตีนตามกระบวนการการเจริญเติบโตของร่างกายและคอยทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอ และมีเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) ซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายเนื้อกระดูกเก่า 

โรคกระดูกพรุนเกิดจากการทำงานที่ไม่สมดุลกันของเซลล์กระดูกทั้ง 2 ชนิด จึงทำให้มีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก โดยอาจเป็นเพราะมีปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอต่อกระบวนการสร้างกระดูก หรืออาจมีความผิดปกติของเซลล์กระดูก

นอกจากนี้ ปัจจัยบางอย่างอาจเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนได้ เช่น

อายุ
ด้วยวัยที่เพิ่มมากขึ้น กระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายจะเริ่มช้าลง การฟื้นฟูและซ่อมแซมกระดูกส่วนที่สึกหรอก็จะเป็นไปได้ช้าด้วย หากร่างกายขาดแคลเซียมที่เพียงพอต่อการสร้างกระดูกก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน กระดูกจะเปราะบางและแตกหักง่ายหากถูกกระทบกระเทือนแม้ไม่รุนแรงก็ตาม เช่น การล้มและการกระแทก

ฮอร์โมน
ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิงที่ลดลงเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน และการลดระดับฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) ในเพศชายอาจเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกพรุนและเปราะบาง

กรรมพันธุ์
ผู้ที่มีญาติใกล้ชิดทางสายเลือดมีประวัติป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนมีความเสี่ยงที่จะได้รับพันธุกรรมของโรคดังกล่าวไปด้วย

ความผิดปกติของต่อมและอวัยวะในร่างกาย
ความผิดปกติในการทำงานของต่อมและอวัยวะต่าง ๆ เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมพาราไทรอยด์ ต่อมหมวกไต ไตและตับทำงานผิดปกติ  

อาการเจ็บป่วย
โรคและอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับตับ ไต และกระเพาะ โรคลำไส้อักเสบ โรคทางเดินอาหาร กรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ตัวเอง โรคแพ้กลูเตน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคมะเร็งเม็ดเลือด และโรคมะเร็งกระดูก ความผิดปกติในการรับประทานอาหารอย่างบูลิเมียและอะนอเร็กเซีย 

พฤติกรรมการบริโภค
การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโต หรือรับประทานอาหารที่ทำให้แคลเซียมเสียสมดุล เช่น โปรตีนจากเนื้อสัตว์ซึ่งมีความเป็นกรดสูง ดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาจทำให้เกิดโรคกระดูกพรุนได้

พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน
การสูบบุหรี่ติดต่อกันปริมาณมากเป็นเวลานาน การนั่งหรืออยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ เป็นเวลานาน รวมทั้งการทำงานที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายอย่างหักโหมล้วนส่งผลต่อสุขภาพกระดูกทั้งสิ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้สูง

การใช้ยาและการผ่าตัด
ยาบางชนิดที่ใช้เป็นเวลานานอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของกระดูกหรือระดับฮอร์โมน เช่น ยาสเตียรอยด์ ยารักษาโรคข้ออักเสบ ยารักษาโรคหืด ยารักษาอาการชัก ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจน และยารักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ รวมทั้งการผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วน และการปลูกถ่ายอวัยวะ

การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

การตรวจโรคกระดูกพรุนจะใช้เครื่อง Bone Densitometer ตรวจความหนาแน่นของกระดูกโดยใช้รังสี ซึ่งเครื่องนี้มีหลายแบบ แต่ที่นิยมใช้คือ DEXA Scan ซึ่งเป็นเครื่องตรวจหาความหนาแน่นของกระดูกที่มีความแม่นยำสูง ใช้เวลาในการสแกนน้อย ปริมาณรังสีที่เข้าสู่ร่างกายในขณะสแกนต่ำ ไม่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย และมีประสิทธิภาพมากในการประเมินความหนาแน่นของกระดูก

การตรวจวิธีนี้จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของโรค โดยค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) ของคนปกติจะมากกว่า -1.0 ส่วนคนที่มีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) จะมีค่า BMD อยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 และผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีค่า BMD น้อยกว่า -2.5

การรักษาโรคกระดูกพรุน

เนื่องจากโรคกระดูกพรุนเกิดจากภาวะกระดูกเสื่อมที่มาจากหลายสาเหตุ วิธีรักษาจะเป็นการกระตุ้นการทำงานของเซลล์สร้างกระดูก และลดการทำงานของเซลล์สลายกระดูกด้วยวิธีต่อไปนี้

การดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูก
บำรุงกระดูกและดูแลร่างกายให้กลับมามีสุขภาพที่แข็งแรงโดยรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีนและมีค่าความเป็นกรดสูง 

ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหรือการเคลื่อนไหวที่ต้องใช้แรงกายอย่างหักโหม และระมัดระวังการหกล้ม เช่น เก็บของในบ้านให้เป็นระเบียบไม่ให้กีดขวางทางเดิน เช็ดทำความสะอาดพื้นหากมีน้ำหก และติดราวจับกันลื่นสำหรับผู้สูงอายุในห้องน้ำ

การใช้ยารักษา
ยาที่ใช้รักษามีหลายกลุ่ม ซึ่งยากลุ่มบิสฟอสโฟเนต (Bisphosphonates) เป็นกลุ่มที่นิยมนำมาใช้ในการรักษา เช่น ยาอเลนโดรเนต (Alendronate) ยาไรซีโดรเนต (Risedronate) ยาไอแบนโดรเนท (Ibandronate) และโซลิโดรนิก แอซิด (Zoledronic Acid) ซึ่งช่วยชะลอหรือป้องกันการสูญเสียมวลกระดูก และช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่สามารถรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพียงพอ การรับประทานยาเม็ดแคลเซียมอาจช่วยรักษามวลกระดูกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม จึงลดโอกาสของการเกิดกระดูกหักได้ โดยรับประทานแคลเซียมวันละ 1,000–1,200 มิลลิกรัมหรือตามปริมาณที่แพทย์สั่ง

การเพิ่มฮอร์โมน
การเพิ่มระดับฮอร์โมนบางชนิดอาจเป็นประโยชน์ต่อการสร้างกระดูก เช่น การฉีดหรือให้ยาเพิ่มฮอร์โมนเอสโตรเจนสำหรับผู้ป่วยเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือผ่าตัดมดลูกและรังไข่ออกไป ซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในระดับปกติ 

ตัวอย่างยาที่ใช้ เช่น ยาราโลซิฟีน (Raloxifene) ที่ช่วยลดความเสี่ยงไม่ให้กระดูกแตกหักง่าย รวมถึงอาจมีผลรักษาและป้องกันการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมบางชนิดด้วย แต่อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น ร้อนวูบวาบ ครั่นเนื้อครั่นตัว และเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันมากขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของโรคกระดูกพรุน

เมื่อเกิดโรคกระดูกพรุน ปัญหาที่ตามมาคือความเจ็บปวดจากภาวะกระดูกทรุดตัวและอาการปวดหลัง ส่งผลให้เคลื่อนไหวได้จำกัด ความสามารถในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง โดยเฉพาะกิจกรรมนอกบ้านหรือการเข้าสังคม จึงอาจทำให้ผู้ป่วยเก็บตัวหรือแยกตัวออกจากสังคม และอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า

นอกจากนี้ หากเกิดอาการกระดูกหัก โดยเฉพาะการแตกหักบริเวณกระดูกสะโพกจะทำให้ผู้ป่วยเดินไม่ได้ ขยับตัวลำบากเพราะความเจ็บปวด ต้องนั่งหรือนอนอยู่กับที่ตลอดเวลา ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคและอาการแทรกซ้อน เช่น การเกิดแผลกดทับ หรือโรคติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะที่อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

การป้องกันโรคกระดูกพรุน

คนทั่วไปสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ด้วยตนเอง ดังนี้

ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ให้ออกกำลังกายที่มีการลงน้ำหนักและใช้แรงต้าน เช่น วิ่ง เต้นแอโรบิก และกระโดดเชือก โดยไม่ใช้แรงหักโหมจนเกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตรายต่อกระดูกและร่างกาย หากเป็นผู้สูงอายุที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บได้ง่าย ควรออกกำลังกายเบา ๆ เช่น ไทเก๊ก และเดินเร็ว ส่วนผู้ที่ออกกำลังอย่างหนักหรือเลือกออกกำลังกายแบบที่ใช้พละกำลังสูงอย่างยกน้ำหนัก ควรหมั่นตรวจสุขภาพและความพร้อมของร่างกายอยู่เสมอ

รับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการที่ร่างกายควรได้รับ บริโภคโปรตีนในปริมาณที่เหมาะสมทั้งโปรตีนจากพืชและสัตว์ และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอ ซึ่งเป็นสารอาหารหลักที่สำคัญต่อการสร้างกระดูก 

ตัวอย่างอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เต้าหู้ งา กุ้งฝอย ปลาตัวเล็ก ถั่วต่าง ๆ และผักใบเขียวอย่างผักคะน้า ผักกระเฉด สะเดา กะเพรา ตำลึง เป็นต้น และอาหารที่มีวิตามินดี เช่น ตับ ไข่แดง นม เนื้อ ปลาทู ฟักทอง เห็ดหอม เป็นต้น

รับแสงแดดอ่อน ๆ
แสงแดดอ่อน ๆ ในตอนเช้าหรือตอนเย็นจะช่วยกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่ผิวหนัง และควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงเวลา 11.00–15.00 น. ที่อาจทำให้เป็นลม เกิดภาวะขาดน้ำ และเป็นอันตรายต่อผิวหนัง

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลมที่มีความเป็นกรดสูง ชา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่และไม่ใช้สารเสพติด และระมัดระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน