หลังค่อม (Kyphosis)

ความหมาย หลังค่อม (Kyphosis)

หลังค่อม (Kyphosis) คือ เป็นความผิดปกติของกระดูกสันหลังชนิดหนึ่งที่ทำให้กระดูกสันหลังโค้งนูนมากผิดปกติ โดยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น รู้สึกปวดหรือตึงบริเวณหลัง เจ็บที่กระดูกสันหลัง ซึ่งหลังค่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น พัฒนาการของกระดูกสันหลังผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์ การนั่ง ยืน หรือเคลื่อนไหวท่าทางไม่ถูกต้อง กระดูกสันหลังเสื่อมตามวัย 

หลังค่อมสามารถพบได้ในเด็ก วัยรุ่น และในผู้สูงอายุ ถึงแม้ว่าอาการหลังค่อมส่วนใหญ่อาจไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แต่ในผู้ที่มีอาการหลังค่อมรุนแรง ควรได้รับการรักษาจากแพทย์อย่างเหมาะสม เพราะหลังค่อมอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในหลาย ๆ ด้าน เช่น การเคลื่อนไหวลำบาก การรับประทานอาหาร การย่อยอาหาร

หลังค่อม

สาเหตุของหลังค่อม

หลังค่อมเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอกที่โค้งนูนมากผิดปกติ ซึ่งหลังค่อมที่พบทั่วไปอาจแบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้

  1. Postural Kyphosis เป็นผลมาจากการทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน เช่น การงอหลัง หรือการสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก ทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ประคองกระดูกสันหลังยืดหรือถ่างออก และดึงให้กระดูกสันหลังผิดรูป 
  2. Scheuermann's Kyphosis เป็นผลมาจากปริมาณเลือดไปเลี้ยงกระดูกสันหลังไม่เพียงพอ ทำให้กระดูกสันหลังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่และเส้นเอ็นรอบบริเวณกระดูกสันหลังมีความหนากว่าปกติ ซึ่งอาจเป็นลักษณะหนึ่งทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันภายในครอบครัว 
  3. Congenital Kyphosis เกิดจากภาวะกระดูกสันหลังพัฒนาผิดปกติตั้งแต่ทารกอยู่ในครรภ์ โดยผู้ป่วยอาจมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจหรือไตร่วมด้วย

นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการหลังค่อม เช่น

  • การบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับกระดูกสันหลัง
  • อายุ เมื่อมีอายุมากขึ้น กระดูกสันหลังจะโค้งมากขึ้น
  • โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) ทำให้กระดูกไม่แข็งแรงและแตกหักได้ง่าย
  • โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) รวมถึงหมอนรองกระดูกและเส้นเอ็นของกระดูกสันหลังที่เสื่อมไปตามวัย
  • อาการสไปนา ไบฟิดา (Spina Bifida) เป็นอาการที่กระดูกสันหลังพัฒนาได้ไม่ถูกต้อง
  • โรคพาเจท (Paget's Disease) เป็นอาการที่เกิดจากปัญหาของการฟื้นฟูกระดูก ส่งผลให้กระดูกไม่แข็งแรงหรืออาจทำให้ผิดรูปได้
  • โรคนิวโรไฟโบรมาโตซิส (Neurofibromatosis) หรือโรคท้าวแสนปมเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่มีผลต่อระบบประสาท
  • โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) เป็นภาวะทางพันธุกรรมที่ทำให้กล้ามเนื้อเสื่อมสภาพ และอาจมีโอกาสพิการได้
  • วัณโรค เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณปอด หรือกระดูกสันหลัง
  • โรคมะเร็ง ที่เกิดขึ้นบริเวณกระดูกสันหลังหรือลุกลามมาจากเชื้อมะเร็งในอวัยวะอื่น ๆ

อาการหลังค่อม

หลังค่อมจะมีอาการที่สังเกตได้ชัดคือ ลักษณะของหลังที่โค้งนูนมากกว่าปกติหรือมีลักษณะที่แปลกไป โดยปกติกระดูกสันหลังตอนบนจะมีลักษณะโค้งตามธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 20–45 องศา แต่ในผู้ที่มีอาการหลังค่อมจะมีความโค้งตั้งแต่ 50 องศาขึ้นไป 

นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ขึ้นอยู่กับสาเหตุและองศาความโค้งนูนของหลังในผู้ป่วยแต่ละราย เช่น

  • ไหล่ที่ห่อไปทางด้านหน้า 
  • รู้สึกปวดหรือตึงที่บริเวณหลัง 
  • รู้สึกเจ็บที่บริเวณกระดูกสันหลังหรือเมื่อยล้า 
  • รับประทานอาหารหรือหายใจลำบาก

อาการหลังค่อมที่ควรไปพบแพทย์

หลังค่อมสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัย โดยเฉพาะในเด็กหรือวัยรุ่นในช่วงที่มีการพัฒนาของกระดูกอย่างรวดเร็ว หากพบว่ากระดูกสันหลังตอนบนโค้งนูนของผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อวินิจฉัยสาเหตุ และหาแนวทางการรักษาหลังค่อมให้ดีขึ้น

นอกจากนี้ หลังค่อมอาจส่งผลให้เส้นประสาทถูกกระดูกสันหลังกดทับ ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากพบอาการต่าง ๆ เช่น แขนและขาเกิดอาการชาหรืออ่อนแรง มีปัญหาด้านการทรงตัว กลั้นปัสสาวะหรือขับถ่ายไม่ได้ 

การวินิจฉัยหลังค่อม

อาการหลังค่อมวินิจฉัยได้หลายวิธี โดยแพทย์ซักประวัติผู้ป่วย สอบถามเกี่ยวกับอาการ และตรวจร่างกาย โดยบางรายอาจมีกระดูกสันหลังที่โค้งนูนอย่างเห็นได้ชัดถึงอาการหลังค่อม แต่ในบางรายที่อาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจใช้ Adam's Forward Bend Test ซึ่งเป็นวิธีวินิจฉัยโดยให้ผู้ป่วยยืนเท้าชิดกัน เข่าตรง ก้มตัวไปด้านหน้า และยืดแขน 2 ข้างไปแตะที่พื้น เพื่อตรวจหาความโค้งนูนที่ผิดปกติของกระดูกสันหลัง 

อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • การเอกซเรย์ (X-Rays) เพื่อตรวจหาองศาความโค้งของกระกระดูกสันหลัง และตรวจหาความผิดปกติของกระดูกสันหลัง 
  • การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) เพื่อวินิจฉัยข้อมูลเพิ่มเติมหลังการเอกซเรย์
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แพทย์อาจใช้วิธีนี้ หากสงสัยว่าหลังค่อมเกิดจากเนื้องอกหรือการติดเชื้อ
  • การตรวจระบบประสาท (Neurological Tests) ในผู้ที่มีอาการชา รู้สึกเจ็บเหมือนมีเข็มแทง หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงในช่วงล่างของร่างกาย อาจต้องตรวจระบบประสาทเพื่อทดสอบการตอบสนอง การเคลื่อนตัวของกระแสประสาท
  • การทดสอบสมรรถภาพของปอด (Pulmonary Function Tests) เพื่อวินิจฉัยและทดสอบการหายใจ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการหลังค่อมมาก
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจหาการติดเชื้อต่าง ๆ เช่น วัณโรค

การรักษาหลังค่อม

การรักษาอาการหลังค่อมทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุและสุขภาพของผู้ป่วย ประเภทและอาการของหลังค่อม หรือองศาความโค้งนูนของกระดูกสันหลังในผู้ป่วยแต่ละราย โดยแนวทางในการรักษาแบ่งได้ 2 ประเภท คือ การรักษาที่ไม่ต้องผ่าตัด และการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัด โดยมีรายละเอียดดังนี้

การรักษาหลังค่อมโดยไม่ต้องผ่าตัด 

การรักษาหลังค่อมโดยไม่ผ่าตัดอาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมที่มีผลมาจากการทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานาน หรือผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมแบบ Scheuermann's Kyphosis แต่มีความโค้งของกระดูกสันหลังไม่เกิน 75 องศา โดยแพทย์จะมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้

  • การทำกายภาพบำบัด เพื่อบรรเทาอาการปวด และเพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อบริเวณหลังและท้อง ยืดเอ็นร้อยหวาย รวมถึงเสริมสร้างความแข็งแรงให้ร่างกายโดยเฉพาะในส่วนที่ได้รับผลกระทบจากแนวโค้งของกระดูกสันหลัง
  • การรับประทานยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เพื่อบรรเทาอาการปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) หรือยานาพรอกเซน (Naproxen)
  • การใช้อุปกรณ์ค้ำกระดูก (Bracing) แพทย์อาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์ค้ำกระดูกในผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหลังค่อมแบบ Scheuermann's Kyphosis จนกว่ากระดูกจะเจริญเติบโตเต็มที่ โดยประเภทของอุปกรณ์และระยะเวลาการใช้ในแต่ละวันขึ้นอยู่กับองศาความโค้งของกระดูกสันหลัง

การรักษาหลังค่อมด้วยวิธีการผ่าตัด 

การผ่าตัดอาจเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมแบบ Congenital Kyphosis รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการหลังค่อมแบบ Scheuermann's Kyphosis แต่มีความโค้งของกระดูกสันหลังเกิน 75 องศา และผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง หรืออาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ 

โดยแพทย์อาจผ่าตัดเชื่อมข้อกระดูกสันหลัง (Spinal Fusion) เพื่อลดองศาความโค้งของกระดูกสันหลัง ซึ่งอาจทำให้อาการปวดหลังดีขึ้น รวมถึงป้องกันอาการอื่น ๆ ที่อาจตามมา 

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น การติดเชื้อ หลังการผ่าตัด เลือดออกมากที่แผลผ่าตัด รวมถึงเส้นประสาทอาจได้รับความเสียหาย ซึ่งในบางกรณีอาจส่งผลให้การทำงานของกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ผิดปกติ และในบางกรณีอาจส่งผลให้เป็นอัมพาตได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก

ภาวะแทรกซ้อนของหลังค่อม

หลังค่อมอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น

  • อาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งอาการอาจไม่บรรเทาลงหลังรับประทานยาแก้ปวด
  • ไม่สามารถการเคลื่อนไหวได้สะดวก ความโค้งของกระดูกสันหลังอาจทำให้การเดิน การลุก การเงยหน้า หรือการขับรถลำบากมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้นอนราบไม่สะดวก เพราะอาจทำให้รู้สึกเจ็บหลังได้ 
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ในผู้ป่วยที่มีองศาของกระดูกสันหลังหรือมีความโค้งมาก อาจส่งผลให้กระดูกไปกดทับปอดหรือทางเดินหายใจได้
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ในผู้ที่มีอาการหลังค่อมรุนแรง อาจส่งผลให้เกิดการกดทับอวัยวะต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหาร และก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ตามมา เช่น กรดไหลย้อน กลืนลำบาก
  • ปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ เด็กที่มีอาการหลังค่อมอาจรู้สึกอาย ไม่อยากเข้าสังคม รวมถึงไม่อยากทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่อาจเป็นการเปิดเผยอาการหลังค่อมให้ผู้อื่นรู้
  • เส้นประสาทถูกกระดูกสันหลังกดทับ ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเส้นประสาทที่วิ่งผ่านกระดูกสันหลังถูกกดทับ

การป้องกันหลังค่อม

หลังค่อมบางประเภทอาจไม่สามารถป้องกันได้ แต่สำหรับหลังค่อมที่เกิดจากการทำท่าทางที่ไม่ถูกต้องเป็นเวลานานอาจป้องกันได้ โดยการป้องกันหลังค่อมสามารถทำได้หลายวิธี เช่น

  • นั่งหรือยืนในท่าทางที่ถูกต้อง เช่น หลังตรง ไม่ห่อตัว อกผาย ไหล่ผึ่ง
  • หลีกเลี่ยงการสะพายกระเป๋าที่มีน้ำหนักมาก
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น การว่ายน้ำ การวิ่ง การเดิน การเล่นโยคะ การเล่นพิลาทิส เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นให้กับกล้ามเนื้อหลัง ท้อง และหน้าอก ซึ่งเป็นกล้ามเนื้อที่ช่วยพยุงกระดูกสันหลัง 

ถึงแม้ว่าหลังจากรักษาหลังค่อมจนหายดีแล้ว แต่หลังค่อมยังอาจกลับมาเป็นซ้ำได้ ดังนั้น การป้องกันด้วยวิธีต่าง ๆ เหล่านี้อาจช่วยป้องกันไม่ให้หลังค่อมกลับมาเป็นซ้ำได้