เตรียมตัวให้พร้อมก่อนทำ DEXA

DEXA Scan (Dual-Energy X-ray Absorptiometry: DEXA) เป็นเครื่องวัดความหนาแน่นของมวลกระดูกโดยใช้รังสีเอกซ์ที่มีพลังงานต่างกัน 2 ระดับพลังงาน เพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคกระดูกพรุน ซึ่งการตรวจด้วยเครื่อง DEXA จะไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ใช้เวลารวดเร็วและแม่นยำกว่ารังสีเอกซ์ทั่วไป 

การตรวจด้วย DEXA Scan จะแบ่งออกเป็นสองชนิด ได้แก่ การตรวจบริเวณกระดูกแกนกลางร่างกาย คือ กระดูกสันหลังส่วนล่างและสะโพก และการตรวจบริเวณกระดูกแขนและขา เช่น ข้อมือ นิ้วมือ เท้า ส้นเท้า เป็นต้น ซึ่งในการประเมินความเสี่ยงภาวะโรคกระดูกพรุน แพทย์มักใช้เครื่องตรวจบริเวณสะโพก กระดูกสันหลัง และข้อมือ เนื่องจากเป็นบริเวณที่พบกระดูกหักได้บ่อย 

2551-DEXA

ใครบ้างที่ควรทำ DEXA 

โดยทั่วไป กลุ่มคนที่แพทย์แนะนำให้เข้ารับการตรวจ DEXA เป็นประจำคือ ผู้สูงอายุ ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ชายที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป แต่แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนเข้ารับการตรวจ DEXA ด้วยในบางกรณี โดยอาจจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายอายุน้อยเกณฑ์หากพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อไปนี้  

  • มีประวัติเคยกระดูกหักหรือกระดูกเปราะ กระดูกหักง่ายกว่าปกติมาก่อน
  • ผู้หญิงที่มีภาวะขาดประจำเดือนนานกว่า 1 ปีขึ้นไป 
  • มีน้ำหนักตัวน้อยหรือค่าดัชนีมวลกายต่ำ (Body Mass Index: MBI) 
  • ส่วนสูงลดลงอย่างเห็นได้ชัด
  • คนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคกระดูกพรุนมาก่อน 
  • เคยเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมะเร็งเต้านม
  • มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อมวลกระดูก เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคเบาหวาน ไทรอยด์ฮอร์โมนไม่สมดุล โรคพฤติกรรมการกินผิดปกติ เป็นต้น
  • ผู้ที่ใช้ยาบางชนิดที่ทำให้สูญเสียมวลกระดูก เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาไทรอยด์ฮอร์โมนในปริมาณสูง เป็นต้น 

คำแนะนำก่อนการทำ DEXA 

เนื่องจาก DEXA Scan ไม่ค่อยมีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษ ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนการตรวจ ทำให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมจึงมีไม่มากนัก เช่น งดรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่มีส่วนผสมของแคลเซียมภายใน 24 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจ สวมใส่เสื้อผ้าที่สะดวกสบาย งดใส่เสื้อผ้า ชุดชั้นใน หรือเครื่องประดับที่มีส่วนประกอบของโลหะในระหว่างการตรวจ เป็นต้น

ทั้งนี้ หากกำลังตั้งครรภ์ สงสัยว่าอาจจะตั้งครรภ์ เคยได้รับสารทึบรังสีหรือกลืนแป้งแบเรียมที่ใช้ในการตรวจ CT Scan ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ เพราะอาจจำเป็นต้องเลื่อนการตรวจ DEXA ออกไปก่อนเพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย หากมีข้อสงสัยเพิ่มเติมหรือกังวลเรื่องความเสี่ยงก็สามารถปรึกษาแพทย์ได้เช่นกัน

ขั้นตอนและการแปรผลตรวจ DEXA 

ในการตรวจ DEXA ผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ๆ บนเตียงของเครื่องสแกน โดยจะมีเจ้าหน้าที่ช่วยจัดตำแหน่งร่างกายให้อยู่ในท่าที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) ที่ถูกต้องหลังจากสแกนกระดูกในจุดที่ต้องการแล้ว 

การสแกนปกติจะใช้ระยะเวลาเพียง 10-20 นาที และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ภายในวันเดียวกันหลังสิ้นสุดกระบวนการ หลังจากนั้นถึงค่อยมาฟังผลในภายหลัง โดยแพทย์จะนำค่า BMD ของผู้ป่วยไปเปรียบเทียบกับค่า BMD ของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีจำนวนหนึ่ง ผลลัพธ์ที่ได้จะถูกเรียกว่า ค่า T-score แล้วนำมาเทียบตามเกณฑ์ดังนี้ 

  • ค่า T-score ตั้งแต่ -1.0 ขึ้นไป แสดงถึงความหนาแน่นของมวลกระดูกอยู่ในระดับปกติ
  • ค่า T-score ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 แสดงถึง ความหนาแน่นของมวลกระดูกอยู่ในระดับต่ำหรือเป็นภาวะกระดูกบาง  
  • ค่า T-score ที่ต่ำกว่า -2.5 ลงไป แสดงถึงเป็นโรคกระดูกพรุน 

ทั้งนี้ ค่า T-score เป็นเพียงวิธีที่ช่วยบอกความเสี่ยงของการเกิดโรคกระดูกพรุนเท่านั้น ไม่สามารถบ่งชี้ถึงการแตกหักของกระดูกตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย นอกเหนือจากค่าวัดชนิดนี้ แพทย์บางคนอาจพิจารณาด้วยค่า Z-score ซึ่งจะเปรียบเทียบค่า BMD ของผู้ป่วยกับค่า BMD ของผู้อื่นที่มีอายุใกล้เคียงกันแทน 

ผลลัพธ์ที่ได้หลังทำ DEXA Scan จะเป็นประโยชน์ต่อแพทย์ในการวินิจฉัยโรค การแนะนำและรักษาผู้ป่วยในแนวทางที่เหมาะสม ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูกอีกครั้งภายใน 1-2 ปี เพื่อดูความหนาแน่นของมวลกระดูกที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

อย่างไรก็ตาม แม้ DEXA จะไม่ก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนและปลอดภัยต่อร่างกายค่อนข้างมาก แต่ก็อาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหากได้รับรังสีปริมาณมากจนเกินไปหรือต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สำหรับผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการสแกน เพื่อลดความเสี่ยงต่อร่างกายและทารกในครรภ์ให้ได้มากที่สุด