เฝือกกับหลากเรื่องที่ควรรู้

เฝือก เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์สำหรับดามกระดูก ข้อต่อ และโครงสร้างอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อ ทั้งยังมีหน้าที่ช่วยรักษากระดูกที่หักด้วยการตรึงบริเวณนั้นไว้ให้กระดูกทั้งสองชิ้นมาบรรจบกัน และจัดกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม ไม่ให้เกิดการขยับเขยื้อน จนกว่าการรักษาจะเสร็จสมบูรณ์ นอกจากนี้ เฝือกยังมีส่วนช่วยลดอาการปวด บวม และป้องกันบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บจากอันตรายอื่น ๆ อีกด้วย

เฝือก

ประเภทของเฝือก

ประเภทของเฝือกขึ้นอยู่กับการใช้งานและวัสดุที่ใช้ซึ่งแต่ละประเภทแตกต่างกัน ดังนี้

เฝือกแข็ง

เฝือกแข็งแต่ละชิ้นจะถูกผลิตขึ้นเฉพาะผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อประคับประคองรูปร่างหรือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอย่างพอดีและเหมาะสม เฝือกแข็งช่วยป้องกันการบาดเจ็บและการแตกหักได้ดีกว่าเฝือกอ่อน เพราะมีลักษณะเหมือนผ้าพันแผลขนาดใหญ่สองชั้น ชั้นในอยู่ติดกับกับผิวหนัง โดยทำมาจากผ้าฝ้ายนุ่มและวัสดุสังเคราะห์อื่น ๆ ส่วนชั้นนอกจะเป็นวัสดุแข็ง เพื่อป้องกันกระดูกเคลื่อน

วัสดุที่นิยมนำมาทำเฝือกแข็งได้แก่

  • ไฟเบอร์กลาส เป็นพลาสติกสังเคราะห์ชนิดหนึ่ง มีหลากหลายสีสัน น้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี ทนทาน และยังแสดงภาพเอกซเรย์กระดูกระหว่างใส่เฝือกได้ชัดเจน ใช้เป็นวัสดุกันน้ำชั้นนอก ส่วนการใช้วัสดุชั้นในขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
  • ปูนปลาสเตอร์ เป็นเนื้อพิมพ์วัสดุแข็ง ทำจากผงปูนผสมกับน้ำแล้วขึ้นรูปจนพอดีกับบริเวณที่บาดเจ็บ ราคาถูกกว่าและขึ้นรูปได้ง่ายกว่าไฟเบอร์กลาส แต่ข้อเสีย คือ ค่อนข้างหนัก อาจละลายออกมาได้เมื่อโดนน้ำ และแสดงภาพเอกซเรย์กระดูกระหว่างใส่เฝือกได้ชัดเจนน้อยกว่าไฟเบอร์กลาส

เฝือกอ่อน

เฝือกอ่อนมักถูกนำมาใช้ในบางกรณี อาจใช้วัสดุเช่นเดียวกับเฝือกแข็ง เช่น ปูนปลาสเตอร์ และไฟเบอร์กลาส แต่เฝือกอ่อนจะมีลักษณะคล้ายเฝือกแข็งครึ่งชิ้น ส่วนที่แข็งจะไม่คลุมปิดบริเวณที่บาดเจ็บทั้งหมด แต่จะถูกยึดไว้ด้วยผ้าพันแผลที่ยืดหยุ่นหรือวัสดุอื่น ๆ แทน นอกจากนี้ ยังมีเฝือกอ่อนแบบสำเร็จรูปอื่น ๆ ที่อาจทำจากโลหะแข็ง หรือพลาสติกกับเนื้อผ้าชนิดทนทาน ซึ่งมีหลากหลายลักษณะและขนาด เพื่อรองรับอาการบาดเจ็บที่ต่างกัน

ขั้นตอนการใส่เฝือก

ขั้นตอนการใส่เฝือกแตกต่างกันตามประเภทของเฝือก ดังนี้

เฝือกแข็ง แพทย์จะเริ่มทำชั้นในของเฝือกแข็งโดยการพันแผ่นฝ้ายนุ่มหรือวัสดุอื่น ๆ รอบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บหลาย ๆ ชั้น หลังจากนั้น แพทย์จะนำปูนปลาสเตอร์หรือไฟเบอร์กลาสไปจุ่มน้ำ และนำมาพันรอบ ๆ ชั้นใน ซึ่งเฝือกชั้นนอกจะยังเปียกชุ่มน้ำก่อนในตอนแรก แต่ไม่นานจะเริ่มแห้งและกลายเป็นวัสดุแข็ง นอกจากนี้ แพทย์อาจเล็มหรือตัดเฝือกออกเล็กน้อยเผื่อไว้ ในกรณีที่บริเวณได้รับบาดเจ็บมีอาการบวมเกิดขึ้น

เฝือกอ่อน แพทย์จะเริ่มทำชั้นในของเฝือกอ่อนคล้ายกับชั้นในของเฝือกแข็ง โดยพันแผ่นฝ้ายนุ่มรอบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ จากนั้น จึงนำเฝือกอ่อนมาประกบ และใช้ผ้าพันแผลชนิดยืดหยุ่นพันโดยรอบ เพื่อยึดส่วนที่แข็งให้อยู่กับที่ แต่หากแพทย์ใช้เฝือกอ่อนแบบสำเร็จรูป อาจใช้เพียงสายรัดหรือแถบที่ติดมากับตัวผลิตภัณฑ์ในการยึดเฝือกอ่อนไว้ และเมื่อใส่เฝือกอ่อนเสร็จแล้ว แพทย์อาจให้คำแนะนำในการถอดเฝือกสำหรับผู้ป่วยที่แพทย์อนุญาตให้ถอดเฝือกเองที่บ้านได้

ควรใส่เฝือกนานแค่ไหน ?

ผู้ป่วยอาจต้องใส่เฝือกเป็นเวลานานจนกว่าการรักษาจะเสร็จสมบูรณ์หรือหายดี ในช่วงแรกอาจต้องปรับขนาดเฝือกบ้างเล็กน้อย เนื่องจากอาจเกิดอาการบวมจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บปวดได้ ผู้ป่วยที่ใช้เฝือกอ่อนอาจต้องใส่เฝือกนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์ ส่วนผู้ป่วยที่ใส่เฝือกแข็ง อาจต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์หรือเป็นเดือน โดยเฉพาะผู้ป่วยกระดูกหัก เพื่อรอเวลาให้กระดูกติดกันและแข็งแรงดังเดิม

ทั้งนี้ ระยะเวลาการใส่เฝือกอาจขึ้นอยู่กับประเภทของเฝือก อาการของผู้ป่วย บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ และดุลยพินิจของแพทย์

คำแนะนำในการดูแลตนเองระหว่างใส่เฝือก

หลังใส่เฝือก แพทย์อาจแนะนำวิธีการดูแลรักษาเฝือก การดูแลตนเองในระหว่างใส่เฝือก และข้อจำกัดต่าง ๆ ในเบื้องต้น ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามที่แพทย์ระบุอย่างเคร่งครัด เพื่อให้บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บฟื้นตัวอย่างเต็มที่

คำแนะนำในการดูแลตนเองระหว่างใส่เฝือก มีดังนี้

  • ดูแลเฝือกให้แห้งอยู่เสมอ เพราะผู้ป่วยอาจระคายเคืองผิวหนังได้ หากเฝือกเปียกชื้น
  • ระมัดระวังไม่ให้เฝือกได้รับความเสียหาย
  • สังเกตอาการทางผิวหนังโดยรอบบริเวณที่ใส่เฝือก หากเกิดความผิดปกติ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • สังเกตเฝือกอยู่เสมอ หากพบว่าเฝือกเริ่มนิ่มหรือมีรอยแตกร้าว ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ดูแลและป้องกันสิ่งสกปรกเข้าไปในเฝือก เช่น ทราย ฝุ่น และแป้ง
  • หากใส่เฝือกเท้าชนิดเดินได้ ห้ามเดินบนเฝือกจนกว่าเฝือกจะแห้งสนิท ซึ่งเฝือกที่ทำจากไฟเบอร์กลาสอาจแห้งและแข็งตัวภายในเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ส่วนเฝือกที่ทำจากปูนปลาสเตอร์อาจใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน
  • ห้ามดึงวัสดุบุรองเฝือกออก
  • ห้ามนำไม้หรือวัสดุอื่น ๆ แทรกเข้าไปในเฝือกเพื่อเกาผิวหนังเมื่อรู้สึกระคายเคือง
  • ห้ามใส่แป้งหรือยาระงับกลิ่นเข้าไปในเฝือก
  • ห้ามทำลาย ตัด หรือเล็มเฝือกโดยไม่ปรึกษาแพทย์

ถอดเฝือกอย่างไร ?

แพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เครื่องตัดเฝือก ถอดเฝือกโดยเฉพาะ ซึ่งอุปกรณ์นี้เป็นเลื่อยแรงสั่น เมื่อนำใบเลื่อยไปโดนบริเวณเฝือก แรงสั่นจะทำให้เฝือกแตก และเมื่อเลื่อยสั่นลึกลงไปถึงวัสดุบุรองเฝือกด้านใน ผู้ป่วยอาจรู้สึกถึงความร้อนจากการเสียดสี แต่จะไม่ได้รับอันตรายใด ๆ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นขณะแพทย์กำลังนำเฝือกออก ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีถอดเฝือกต่อไป

หากไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ ห้ามถอดเฝือกด้วยตนเองเด็ดขาด เนื่องจากผู้ป่วยอาจตัดโดนผิวเนื้อตนเอง หรืออาจเกิดอันตรายได้

หลังถอดเฝือก ผิวหนังผู้ป่วยอาจแห้ง เป็นสะเก็ด ขนหนาขึ้น กล้ามเนื้อเล็กและลีบลงกว่าปกติ ซึ่งเป็นอาการที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในผู้ที่เพิ่งถอดเฝือกใหม่ ๆ ทั้งนี้ ในช่วงแรกหลังจากไม่ได้ใช้งานร่างกายบริเวณนั้นเป็นเวลานาน ผู้ป่วยอาจต้องออกกำลังกายหรือทำความคุ้นเคยกับการเคลื่อนไหวใช้งานอวัยวะดังกล่าวใหม่อีกรอบ

ผลข้างเคียงจากการใส่เฝือกมีอะไรบ้าง ?

เมื่อใส่เฝือก อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน ตั้งแต่อาการที่มีความรุนแรงน้อยไปจนถึงรุนแรงมาก ซึ่งอาจแตกต่างกันออกไปตามระยะเวลาที่ใส่เฝือก

โดยตัวอย่างผลข้างเคียงจากการใส่เฝือก มีดังนี้

บวม ในช่วงแรกหลังจากใส่เฝือก อวัยวะบริเวณนั้นอาจมีอาการบวมจากการบาดเจ็บหรือการผ่าตัด ซึ่งบรรเทาอาการได้ด้วยการหนุนหมอนใต้ขาหรือแขนที่บาดเจ็บเวลานั่งหรือนอน ให้อวัยวะอยู่สูงกว่าระดับหัวใจถ้าเป็นไปได้ หากนิ้วเท้าหรือนิ้วมือไม่ได้รับบาดเจ็บ ให้กระดิกนิ้วไปมาเพื่อช่วยการเลือดไหลเวียนให้ดีขึ้น และอาจใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs เพื่อลดอาการเจ็บปวด แต่ควรใช้ยาตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

คันผิวหนัง เฝือกอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคันหรือระคายเคืองผิวหนังได้ ซึ่งอาจใช้ไดร์เป่าผมแบบลมเย็นเป่าเข้าไปในเฝือก หรือปรึกษาแพทย์ถึงการใช้ยาแก้แพ้ที่อาจหาซื้อได้เองเพื่อบรรเทาอาการคัน แต่ห้ามใช้แท่งไม้หรือวัสดุอื่น ๆ สอดเข้าไปในเฝือกเพื่อเกาเด็ดขาด เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บและติดเชื้อได้

เจ็บจากแรงกด หากใส่เฝือกแน่นเกินไป หรือใส่ไม่พอดีกับบริเวณที่บาดเจ็บ อาจรู้สึกเจ็บผิวหนังบริเวณใต้เฝือกจากแรงบีบกดได้

ภาวะแรงดันในช่องกล้ามเนื้อ เป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง อาจเกิดจากใส่เฝือกแน่นเกินไป หรือเกิดอาการบวมจนคับเฝือกในภายหลัง และเกิดแรงกดทำให้เส้นเลือด เส้นประสาท และกล้ามเนื้อบริเวณนั้นถูกบีบรัดจนเป็นอันตราย ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันทีหากปรากฏอาการที่เป็นสัญญาณอันตราย เช่น มีอาการปวด บวมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเหน็บชาบริเวณแขนหรือขา