กระดูกหัก

ความหมาย กระดูกหัก

กระดูกหัก (Bone Fracture) คือภาวะที่กระดูกได้รับแรงกระแทกมากเกินไป ส่งผลให้กระดูกไม่สามารถรองรับน้ำหนักจากแรงดังกล่าวได้ และเกิดหัก ก่อให้เกิดอาการปวด เสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน รวมทั้งมีเลือดออกและได้รับบาดเจ็บบริเวณรอบกระดูกที่ได้รับแรงกระแทก โดยทั่วไปแล้ว กระดูกจัดเป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชนิดหนึ่ง ประกอบด้วยแคลเซียมและเซลล์กระดูก ตรงกลางกระดูกจะอ่อนกว่า เรียกว่าไขกระดูก ซึ่งทำหน้าที่ผลิตเซลล์เม็ดเลือดแดง กระดูกแต่ละส่วนจะประกอบกันเป็นโครงสร้างกระดูกที่รองรับร่างกาย ช่วยในการเคลื่อนไหว และปกป้องอวัยวะภายในของร่างกาย หากร่างกายได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง จะส่งผลให้กระดูกแตกหรือหักได้

กระดูกหัก

โดยทั่วไปแล้ว กระดูกหักสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ กระดูกหักชนิดไม่มีแผล (Closed Fracture) และกระดูกหักแบบแผลเปิด (Open หรือ Compound Fracture) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • กระดูกหักชนิดไม่มีแผล (Closed Fracture) คือ กระดูกหัก แต่ผิวหนังไม่ได้รับบาดเจ็บใด ๆ  
  • กระดูกหักแบบแผลเปิด (Open หรือ Compound Fracture) คือ กระดูกที่ทิ่มผิวหนังออกมา หรือได้รับบาดเจ็บจนผิวหนังเปิด ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้สูง

นอกจากนี้ กระดูกหักยังแบ่งตามลักษณะของกระดูกที่หักได้อีกหลายประเภท ดังนี้

  • กระดูกหักทั่วไป (Simple Fracture) คือ กระดูกที่แตกออกเป็น 2 ชิ้น
  • กระดูกยุบตัว (Compression Fracture) คือ กระดูกที่เกิดการยุบตัวเมื่อได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
  • กระดูกหักเป็นเกลียว (Spiral Fracture) คือ ภาวะกระดูกที่หักเป็นเกลียว ซึ่งเกิดจากกระดูกถูกบิด
  • กระดูกเดาะ (Greenstick Fracture) คือ กระดูกที่แตกเพียงด้านเดียว ส่วนกระดูกอีกด้านโก่งไปตามแรงกดที่ปะทะเข้ามา ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับเด็ก เนื่องจากกระดูกของเด็กมีความยืดหยุ่นมากกว่ากระดูกของผู้ใหญ่
  • กระดูกแตกย่อย (Comminuted Fracture) คือ ภาวะที่กระดูกแตกออกเป็น 3 ชิ้นขึ้นไป
  • กระดูกหักตามขวาง (Transverse Fracture) คือ กระดูกที่แตกออกตามแนวขวางซึ่งเป็นส่วนที่สั้นของกระดูก ไม่ได้เกิดรอยแตกไปตามแนวยาวของกระดูก
  • กระดูกหักเฉียง (Oblique Fracture) คือ กระดูกที่เกิดการแตกเป็นแนวโค้งหรือลดหลั่นลงมา
  • ปุ่มกระดูกแตก (Avulsion Fracture) คือ กระดูกที่หักจากแรงกระชาก มักพบที่หัวไหล่และหัวเข่า
  • กระดูกหักยุบเข้าหากัน (Impacted Fracture) คือ ภาวะที่กระดูกทั้ง 2 ด้านได้รับแรงกด ส่งผลให้กระดูกแตกทั้ง 2 ด้าน เด็กเล็กมักเกิดกระดูกหักฝังที่แขน
  • กระดูกหักล้า (Stress Fracture) คือ กระดูกที่ปริออกจากกัน ซึ่งเกิดจากการใช้งานซ้ำ ๆ  
  • กระดูกหักจากพยาธิสภาพ (Pathologic Fracture) คือ ภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของกระดูกหรือการป่วยเป็นโรคที่ทำให้มวลกระดูกเสื่อมลง

อาการกระดูกหัก

กระดูกหักถือเป็นภาวะบาดเจ็บที่ต่างจากปัญหากระดูกอื่น ๆ เนื่องจากผู้ป่วยกระดูกหักจะเกิดอาการหลายอย่าง ผู้ที่ประสบภาวะนี้ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการ ดังนี้

  • รู้สึกปวดกระดูกหรือรอบ ๆ บริเวณที่ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง โดยอาการจะแย่ลงเมื่อเคลื่อนไหวอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ หรือได้รับแรงกดที่บริเวณดังกล่าว
  • เกิดอาการบวมบริเวณกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ยังเกิดรอยช้ำและเลือดออกจากผิวหนัง
  • อวัยวะผิดรูป เช่น แขนหรือขาผิดรูป โดยแขนหรือขาจะงอ หรือหักบิดในลักษณะที่ผิดปกติ
  • เคลื่อนไหวแขนขาได้น้อย หรือเคลื่อนไหวไม่ได้เลย
  • รู้สึกชา และเกิดเหน็บชา
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดกระดูกทิ่มผิวหนังออกมา

สาเหตุของกระดูกหัก

กระดูกแต่ละส่วนในร่างกายนั้นมีความแข็งแรง ซึ่งทำหน้าที่รับแรงกระแทกจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม หากได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง กระดูกก็สามารถแตกและหักได้ โดยกระดูกหักมักเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

  • ประสบอุบัติเหตุ เช่น รถชน ส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บสาหัส
  • ถูกตีหรือได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรง
  • ตกลงมาจากที่สูง
  • ตกลงมากระแทกพื้นที่แข็งมาก
  • ได้รับแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหว เช่น เล่นกีฬาที่ต้องลงน้ำหนักมากเกินไป ซึ่งทำให้เท้า ข้อเท้า หน้าแข้ง หรือสะโพก เกิดกระดูกปริได้
  • ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนหรือมะเร็งบางชนิด ส่งผลให้มวลกระดูกเสื่อมลงและหักได้ง่าย หากได้รับแรงกระแทกเพียงเล็กน้อยจากการทำกิจกรรมหรือประสบอุบัติเหตุ ก็สามารถประสบภาวะกระดูกหักที่ร้ายแรงได้
  • ในกรณีของเด็กที่กระดูกหัก อาจเกิดจากการถูกทารุณกรรม

การวินิจฉัยกระดูกหัก

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะวินิจฉัยกระดูกหัก โดยตรวจบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บและเอกซเรย์กระดูกผู้ป่วย ทั้งนี้ ผู้ป่วยบางรายที่ไม่พบความผิดปกติหลังเอกซเรย์แต่แพทย์สันนิษฐานว่าเกิดกระดูกหัก อาจต้องใส่เฝือกอ่อนดามกระดูกไว้ก่อนประมาณ 10-14 วัน แล้วมาเข้ารับการเอกซเรย์อีกครั้ง เพื่อตรวจดูว่ามีกระดูกหักหรือไม่ หากผู้ป่วยเกิดกระดูกหัก จะปรากฏรอยหักชัดขึ้น เช่น รอยกระดูกหักที่ข้อมือ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดกระดูกหักบริเวณข้อมือ สะโพก หรือประสบภาวะกระดูกหักล้า อาจต้องเข้ารับการตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (CT scan) หรือตรวจด้วยเครื่องสร้างภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าหรือเอ็มอาร์ไอ (MRI) หรือสแกนกระดูก เนื่องจากการตรวจด้วยวิธีเอกซเรย์อาจแสดงภาพกระดูกหักบริเวณดังกล่าวไม่ชัดเจน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยภาวะกระดูกหักเรียบร้อยแล้ว อาจต้องรับการตรวจเพิ่มเติมอีก เพื่อดูว่าเนื้อเยื่อที่อยู่ล้อมรอบกระดูกนั้นเกิดความเสียหายหรือไม่

ผู้ป่วยที่กะโหลกศีรษะแตกจะได้รับการทำซีทีสแกนแทนการเอกซเรย์กระดูก ซึ่งการทำซีทีสแกนจะช่วยวินิจฉัยภาวะกระดูกหักที่เกิดขึ้นบริเวณกะโหลก รวมทั้งบาดแผลอื่น ๆ ที่ถูกกระทบกระเทือน เช่น เลือดออกในสมอง ส่วนเด็กที่ประสบภาวะกระดูกหักจะได้รับการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยภาวะดังกล่าว ทั้งนี้ การวินิจฉัยสำหรับเด็กเล็กอาจทำได้ยาก เนื่องจากกระดูกของเด็กยังไม่เจริญเต็มที่ อีกทั้งกระดูกหลายส่วนภายในร่างกายยังเป็นกระดูกอ่อนและไม่มีมวลแคลเซียมสะสมภายในกระดูก

การรักษากระดูกหัก

ผู้ป่วยกระดูกหักจะได้รับการรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ โดยวิธีรักษากระดูกหักประกอบด้วยการปฐมพยาบาลเบื้องต้น จัดเรียงกระดูก ใส่เฝือก และผ่าตัด ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ผู้ป่วยที่ประสบภาวะกระดูกหักควรได้รับการรักษาทันที โดยต้องปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน ผู้ที่เข้าช่วยเหลือและปฐมพยาบาลผู้ป่วยกระดูกหักจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ผ่านการอบรมปฐมหลักสูตรปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งมีรายละเอียด  ดังนี้

  • การปฐมพยาบาลสำหรับประชาชนทั่วไป 
    • โทรเรียกรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด
    • ประคบน้ำแข็งบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ และยกอวัยวะดังกล่าวให้สูง เพื่อลดอาการบวม
    • ล้างแผลด้วยสบู่และน้ำเปล่าสะอาดเบา ๆ เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรียเข้าแผล
    • ปิดแผลให้เรียบร้อยด้วยผ้าพันแผล
    • ในกรณีที่เข้าช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่แขนหรือขา ควรนำหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารมาม้วนห่อแขนหรือขาเพื่อช่วยดามไว้ เพื่อช่วยไม่ให้แขนหรือขาที่ได้รับบาดเจ็บขยับ รวมทั้งช่วยให้กระดูกไม่เคลื่อน
    • ผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักตรงขาส่วนบน กระดูกสันหลัง อุ้งเชิงกราน หรือสะโพก ไม่ควรเคลื่อนไหวร่างกาย ให้รอจนกว่ารถพยาบาลจะมา เนื่องจากการเคลื่อนไหวจะทำให้บริเวณดังกล่าวบาดเจ็บมากกว่าเดิม
    • งดให้ผู้ป่วยรับประทานน้ำหรืออาหารจนกว่าจะพบแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจต้องได้รับการผ่าตัด
  • การปฐมพยาบาลสำหรับผู้ที่ผ่านการอบรม
    • ตรวจดูว่าผู้ป่วยหายใจอยู่หรือไม่ โทรเรียกรถพยาบาล และปฐมพยาบาลด้วยวิธีซีพีอาร์  (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) รวมทั้งพยายามทำให้ผู้ป่วยมีสติ
    • ห้ามเลือดผู้ป่วย โดยใช้ผ้าขนหนูแห้งสะอาดวางปิดแผล หากเลือดยังไม่หยุดไหล ให้กดห้ามเลือดไปตรงบริเวณที่เลือดไหลออกมา
    • ในกรณีที่เข้าช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนผิวหนังเปิดออกและมีอุปกรณ์การแพทย์ไม่เพียงพอ ควรรินน้ำสะอาดล้างแผลและปิดแผลด้วยผ้าสะอาดให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ควรเป่าแผลหรือถูขยี้แผลแรง
    • ดามกระดูกบริเวณที่หัก โดยดามทั้งด้านบนและด้านล่างของบริเวณดังกล่าว
    • ประคบเย็นและยกอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บให้สูง เพื่อลดอาการปวดบวม
    • ควรให้ผู้ป่วยนอนราบ ยกขาให้ขึ้นสูงกว่าศีรษะประมาณ 30 เซนติเมตร และห่มด้วยผ้าห่ม เพื่อป้องกันผู้ป่วยเกิดอาการช็อค อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ หรือหลัง ไม่ควรเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเด็ดขาด
    • ประเมินการไหลเวียนเลือดของผู้ป่วย โดยกดเบา ๆ เหนือบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น ผู้ป่วยเกิดกระดูกหักที่ขา ควรกดที่เท้าเพื่อดูการไหลเวียนเลือด เมื่อกดลงไป บริเวณดังกล่าวจะขาวซีดและค่อย ๆ แดงเลือดฝาดขึ้นมา ทั้งนี้ หากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไม่พอ ผู้ป่วยจะตัวซีดเขียว เกิดอาการชา และสัญญาณชีพอ่อนลง ควรจัดแขนและขาผู้ป่วยให้อยู่ในท่าพักที่สบาย เพื่อลดอาการบวม ปวด และเนื้อเยื่อตายจากการขาดเลือด
  • จัดเรียงกระดูก วิธีนี้คือการจัดแนวกระดูกที่หักให้อยู่ในตำแหน่งเดิม เพื่อป้องกันไม่ให้ชิ้นส่วนกระดูกที่หักหลุดออกจากกัน โดยแพทย์จะเอกซเรย์ผู้ป่วยเพื่อวินิจฉัยลักษณะกระดูกหัก จากนั้นจะรักษาโดยจัดเรียงแนวกระดูกที่ได้รับบาดเจ็บให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติก่อนใส่เฝือก การจัดเรียงกระดูกจะช่วยให้กระดูกกลับมาแข็งแรงและเคลื่อนไหวได้ตามปกติและรักษากระดูกหักให้หายได้ ทั้งนี้ เด็กที่ประสบภาวะกระดูกหักหรือผู้ป่วยกระดูกหักแบบทั่วไปและไม่มีแผลนั้นจะได้รับการจัดเรียงกระดูกทันที
  • ใส่เฝือก หลังจัดเรียงกระดูกแล้ว แพทย์จะพันแผลบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ และใส่เฝือกปูนเพื่อพยุงกระดูกบริเวณที่เกิดอาการหัก ส่วนผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักตรงบริเวณที่ไม่สามารถใส่เฝือกได้ในทันที เช่น กระดูกไหปลาร้าหัก แพทย์จะใช้อุปกรณ์คล้องแขนเพื่อช่วยพยุงกระดูกแทน ผู้ป่วยจะได้รับยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวดกระดูก ทั้งนี้ แพทย์จะเริ่มฟื้นฟูกระดูกผู้ป่วยให้เร็วที่สุด โดยการฟื้นฟูนี้จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด เสริมสร้างกล้ามเนื้อ รวมทั้งป้องกันการเกิดลิ่มเลือดและข้อติดแข็ง
  • ผ่าตัด ผู้ป่วยที่เกิดกระดูกหักร้ายแรง โดยมีกระดูกทิ่มออกมาข้างนอกจะได้รับการผ่าตัดก่อนจัดเรียงกระดูกและใส่เฝือก โดยแพทย์จะผ่าตัดเศษแผลให้แก่ผู้ป่วยกระดูกหักที่มีกระดูกทิ่มผิวหนังออกมา เพื่อนำเศษเนื้อออกมาให้หมดก่อนทำการจัดเรียงกระดูก เนื่องจากกระดูกที่ทิ่มออกมาอาจติดเชื้อได้ ทั้งนี้ ระหว่างเข้ารับการผ่าตัดแผล แพทย์อาจใส่หมุด แผ่นเหล็ก สกรู หรือกาว เพื่อยึดกระดูกที่หักเข้าไว้ด้วยกัน เมื่อได้รับการจัดเรียงกระดูกแล้ว แพทย์จะให้ใส่เฝือก อุปกรณ์ดามกระดูก หรือใช้วิธีตรึงกระดูก เพื่อลดอาการปวดและรักษากระดูกหัก

หลังถอดเฝือกหรืออุปกรณ์ดามกระดูกออกแล้ว ผู้ป่วยอาจเกิดอาการข้อติดแข็ง บวม และมีเนื้อปูดอยู่หลายสัปดาห์ เด็กอาจมีขนขึ้นที่แขนหรือขา เนื่องจากเฝือกทำให้รูขุมขนระคายเคือง ผู้ที่กระดูกขาหักอาจเดินไม่สะดวก อย่างไรก็ตาม อาการดังกล่าวจะหายไปภายใน 2-3 สัปดาห์ กระดูกที่หักจะใช้เวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ก่อนจะกลับไปแข็งแรงเหมือนเดิม ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์และไม่หักโหมใช้อวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บมากเกินไป ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองหลังได้รับการรักษากระดูกหักจากแพทย์ได้ ดังนี้

  • ควรเลี่ยงอยู่ใกล้ของร้อนหรือมีอุณหภูมิสูง เพื่อป้องกันปูนที่ใช้ทำเฝือกละลาย รวมทั้งควรนำถุงพลาสติกมาหุ้มเฝือกและปิดให้สนิทเมื่อต้องอาบน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้บริเวณดังกล่าวเปียกน้ำ
  • ควรใช้ที่เป่าผมเป่าบริเวณใส่เฝือกเมื่อเกิดอาการคัน
  • ไม่ควรใช้แขนมากเกินไป
  • เลี่ยงยกของหนักและขับรถจนกว่าอาการกระดูกหักจะหายดี
  • หากเกิดอาการบวม เขียวซีด ขยับนิ้วหรือเท้าไม่ได้ เกิดอาการชา หรือปวดมากขึ้น ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ภาวะแทรกซ้อนของกระดูกหัก

ผู้ป่วยกระดูกหักอาจมีลักษณะแนวกระดูกของแขนและขาที่ผิดปกติ หรือเฝือกปูนไม่รองรับพอดีกับอวัยวะที่ต้องได้รับการใส่เฝือกเพื่อดามกระดูก ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถประสบภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกหักได้ โดยภาวะแทรกซ้อนจากกระดูกหักแบ่งออกเป็นภาวะแทรกซ้อนระยะแรก และภาวะแทรกซ้อนระยะปลาย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • ภาวะแทรกซ้อนระยะแรก
    • หลอดเลือดแเดงบาดเจ็บ เช่น ผู้ป่วยที่กระดูกต้นขาหัก อาจเกิดภาวะหลอดเลือดต้นขาฉีกขาดได้
    • ผู้ป่วยที่กระดูกซี่โครงหักหลายชิ้นสามารถประสบภาวะปอดแตก โพรงเยื่อหุ้มปอดมีอากาศ (Pneumothorax) ภาวะอกรวนหรือภาวะการทำงานล้มเหลวของซี่โครง (Flail Chest) และหายใจไม่พอ (Respiratory Compromise)
    • สูญเสียการเคลื่อนไหวของร่างกาย ก่อให้เกิดปอดบวม หลอดเลือดอุดตัน หรือกล้ามเนื้อสลาย โดยภาวะนี้มักเกิดกับผู้ป่วยที่กระดูกสะโพกหัก โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมาก
    • อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ เช่น เกิดการบาดเจ็บที่สมอง ปอด หรือกระเพาะปัสสาวะ
    • เนื้อเยื่อ เส้นประสาท และผิวหนังถูกทำลาย
    • เกิดภาวะเลือดออกในข้อ (Hemarthrosis)
    • แผลติดเชื้อ
    • เกิดความดันในกล้ามเนื้อสูงขึ้น (Compartment Syndrome)
  • ภาวะแทรกซ้อนระยะปลาย
    • กระดูกที่หักใช้เวลารักษานานกว่าปกติ ไม่สามารถกลับมาอยู่ในตำแหน่งปกติได้ หรืออาการไม่หายดี
    • เกิดอาการข้อติดแข็ง
    • กล้ามเนื้อหดตัว
    • การเจริญเติบโตของกระดูกผิดปกติ หรือกระดูกผิดรูป
    • เกิดภาวะกล้ามเนื้ออักเสบที่มีหินปูนจับ (Myositis Ossificans) โดยผู้ป่วยจะมีก้อนกระดูกเกิดขึ้นในกล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บ
    • หัวกระดูกต้นขาตาย เนื่องจากขาดเลือดไปเลี้ยง
    • ประสบภาวะกระดูกอักเสบ (Osteomyelitis)
    • เกิดเนื้อตายเน่า (Gangrene)
    • อาจป่วยเป็นบาดทะยักและติดเชื้อในกระแสเลือด เนื่องจากได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผล

การป้องกันกระดูกหัก

กระดูกหักเป็นปัญหาสุขภาพที่ป้องกันได้ โดยเลี่ยงพฤติกรรมที่เสี่ยงทำให้ประสบภาวะดังกล่าว ซึ่งทำได้ ดังนี้

  • ควรคาดเข็มขัดนิรภัยทุกครั้งที่ขับรถหรือโดยสารรถยนต์ รวมทั้งสวมอุปกรณ์ที่ป้องกันการกระแทกเช่น หมวกกันน็อค หรือสนับเข่า มือ และข้อศอก เมื่อต้องขับขี่จักรยานยนต์หรือทำกิจกรรมผาดโผนต่าง ๆ
  • ไม่ควรวางของทิ้งไว้ตามทางเดินหรือบันได เนื่องจากอาจทำให้สะดุดล้มได้ รวมทั้งควรปิดหน้าต่างหรือมีทางกั้นตรงทางขึ้นลงบันได เพื่อป้องกันเด็กเล็กพลัดตกลงไป
  • ควรดูแลเด็กให้ดี เพื่อระวังไม่ให้เล่นซนจนเกิดอุบัติเหตุ
  • เมื่อต้องใช้บันไดหรือนั่งร้าน ควรเลี่ยงยืนอยู่บนบันไดขั้นบนสุด รวมทั้งให้คนอื่นจับบันไดไว้ขณะที่ปีนขึ้นไป
  • ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและสมดุลให้มวลกระดูก รวมทั้งปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานแคลเซียมเสริม