สาเหตุของเลือดกำเดาไหลบ่อย และวิธีป้องกันที่ได้ผล

เลือดกำเดาไหลเป็นเรื่องที่เกิดได้บ่อย แม้คนส่วนใหญ่จะมีอาการไม่ร้ายแรงและเลือดมักจะหยุดไหลได้เอง แต่ถ้าเลือดกำเดาไหลบ่อยครั้งก็อาจทำให้เรากังวลใจและพาลนึกไปถึงปัญหาสุขภาพร้ายแรงได้เหมือนกัน ซึ่งสาเหตุที่เลือดกำเดาไหลบ่อยนั้นอาจเกิดได้จากเรื่องทั่วไป เช่น พฤติกรรมผิด ๆ ของตนเอง การใช้ยาบางชนิด หรือการรับประทานอาหารเสริม

ปกติแล้ว เลือดกำเดาไหลเป็นผลมาจากเส้นเลือดในจมูกแตกจนเป็นเหตุให้เลือดไหลออกมาจากโพรงจมูก โดยส่วนมากจะเป็นโพรงจมูกส่วนหน้าและมักมีเลือดออกในปริมาณไม่มาก แต่ส่วนน้อยก็อาจมีเลือดไหลมาจากโพรงจมูกในปริมาณมากและหยุดไหลเองไม่ได้ หากเป็นกรณีนี้ควรได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เลือดกำเดาไหล คือ การบาดเจ็บบริเวณจมูกและอากาศที่แห้ง แล้วผู้ที่มีเลือดกำเดาไหลบ่อยนั้นเกิดได้จากสาเหตุอะไรอีกบ้าง และมีวิธีป้องกันหรือไม่ หาคำตอบได้จากบทความนี้

2516-เลือดกำเดาไหลบ่อย

สาเหตุของเลือดกำเดาไหลบ่อยที่พบได้บ่อย

อาการเลือดกำเดาไหลอาจสร้างความวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย แต่ส่วนใหญ่แล้วปัญหานี้ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด โดยสาเหตุที่ทำให้เลือดกำเดาไหลบ่อยอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

สั่งน้ำมูกแรง ล้วงหรือแคะจมูก 

อาการคันจมูกจากอาการแพ้อากาศ โรคภูมิแพ้หรือโรคอื่น ๆ อาจทำให้เราเผลอล้วงหรือแคะจมูกได้บ่อยครั้ง จนทำให้มีเลือดไหลออกมา เช่นเดียวกับอาการน้ำมูกไหลที่ใครหลายคนมีความรำคาญอยากจะกำจัดน้ำมูกออกไปจากจมูก จึงสั่งน้ำมูกออกมาอย่างแรงโดยที่ไม่คาดคิดว่าแรงดันนั้นอาจส่งผลให้เส้นเลือดฝอยภายในจมูกฉีกขาดและอาจเป็นสาเหตุให้เลือดกำเดาไหลได้

ใช้ยาบางชนิด

การใช้ยาหยอดหรือยาพ่นจมูกที่มีส่วนผสมของคอร์ติโคสเตียรอยด์หรือยาต้านฮิสทามีนบ่อย ๆ อาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลือดกำไหล เนื่องจากการสอดปลายท่อยาเข้าไปในจมูกอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่เยื่อบุโพรงจมูกและมีเลือดออกตามมาได้ นอกจากนี้ การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดก็อาจทำให้เลือดกำเดาหยุดไหลยากขึ้นด้วย เช่น ยาแอสไพริน ยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือยาวาร์ฟาริน (Warfarin) 

รับประทานวิตามินหรืออาหารเสริม

หลายคนอาจไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจากขิง แปะก๊วย โสม หรือวิตามินอีอาจมีส่วนทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง ส่งผลให้เลือดไหลติดต่อกันเป็นเวลานานและเลือดกำเดาหยุดไหลยากยิ่งขึ้น ผู้บริโภคจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว 

สูดดมสารก่อการระคายเคือง

สารก่อการระคายเคืองเป็นอีกสาเหตุของการมีเลือดกำเดาไหล ไม่ว่าจะเป็นควันบุหรี่ กรดกำมะถัน แอมโมเนีย ฝุ่น PM 2.5 หรือไอเสียจากรถยนต์ที่สูดดมขณะออกไปทำงาน ไปเรียน หรือใช้รถโดยสารสาธารณะบนท้องถนน ซึ่งการสูดดมสารก่อการระคายเคืองอาจทำให้เลือดกำเดาไหลเกิดซ้ำได้บ่อย โดยเฉพาะเด็ก ผู้สูงอายุ คนท้อง ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หรือโรคหัวใจและหลอดเลือด

ปัญหาทางสุขภาพ

ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางประการอาจส่งผลให้มีเลือดกำเดาไหลบ่อยกว่าปกติหรือเลือดกำเดาหยุดไหลยาก เช่น โรคไต โรคตับอย่างโรคตับแข็ง การแข็งตัวของเลือดผิดปกติอย่างโรคฮีโมฟีเลีย โรคความดันโลหิตสูง โรคมะเร็งในจมูก เนื้องอกที่จมูก ไซนัส หรือโพรงหลังจมูก รวมถึงมีโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติ อย่างผนังกั้นช่องจมูกคด กระดูกงอกที่จมูก หรือจมูกทะลุ เป็นต้น

วิธีป้องกันเลือดกำเดาไหลบ่อย

ในเบื้องต้น เราอาจป้องกันอาการเลือดกำเดาไหลบ่อยได้ด้วยการปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการแคะหรือล้วงจมูกบ่อย ๆ และไม่สั่งน้ำมูกแรงจนเกินไป
  • งดการสูบบุหรี่และอยู่ให้ห่างจากควันบุหรี่ ฝุ่นพิษ ฝุ่นละออง ไอเสียรถยนต์หรือบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศสูง โดยเฉพาะเขตสูบบุหรี่หรือท้องถนน หากต้องเผชิญกับมลภาวะเหล่านี้ควรสวมหน้ากากอนามัย เพื่อลดการสูดดมสารก่อการระคายเคือง
  • หมั่นล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ โดยอาจทาปิโตรเลียมเจลลี่หรือขี้ผึ้งป้องกันโพรงจมูกแห้ง หรือใช้เครื่องเพิ่มความชื้นในอากาศในช่วงที่มีอากาศแห้งเย็น
  • สวมหมวกกันน็อคหรือคาดเข็มขัดนิรภัยขณะขับขี่หรือโดยสารยานพาหนะ และใช้อุปกรณ์ป้องกันศีรษะในขณะเล่นกีฬา เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบริเวณใบหน้าหรือจมูก
  • หากใช้ยาแอสไพรินและยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะตัวยาจะลดการแข็งตัวของเลือดและทำให้เลือดกำเดาที่ไหลหยุดยาก   

ทั้งนี้ แม้เลือดกำเดาของผู้ป่วยหลายคนจะสามารถหยุดไหลได้เร็ว แต่หากเป็นซ้ำ ๆ การไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยก็เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ทราบถึงหาสาเหตุที่แท้จริงและรับการรักษาที่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยเลือดกำเดาไหลนานเกิน 20 นาทีขึ้นไป เลือดกำเดาไหลในปริมาณมากหรือรบกวนการหายใจ เลือดกำเดาไหลมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ เลือดกำเดาไหลเนื่องมาจากการบาดเจ็บบริเวณศีรษะ หรือพบความผิดปกติอื่น ๆ หลังได้รับบาดเจ็บ อย่างรูปร่างจมูกเปลี่ยนไปหรือกระดูกบริเวณใบหน้าแตกหัก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว