ฝุ่นจิ๋ว PM2.5 มลพิษร้ายทำลายสุขภาพ

ในช่วงที่ผ่านมา ฝุ่น PM2.5 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับใครหลายคน ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปทั่วโลก ผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีค่า PM2.5 สูงยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงอย่างโรคทางระบบทางเดินหายใจหรือโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่ทุกคนควรตระหนักก่อนที่ฝุ่นร้ายเหล่านี้จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายของคุณในไม่ช้า  

PM 2.5

ฝุ่น PM คือ อะไร ?  

PM (Particular Matter) เป็นมลพิษชนิดหนึ่งที่แพร่สะพัดทางอากาศ มีลักษณะและส่วนประกอบที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ เช่น ซัลเฟต ไนเตรต แอมโมเนียม โซเดียมคลอไรด์ คาร์บอนแบล็ค ฝุ่นแร่ และน้ำ เป็นต้น โดยฝุ่น PM มีอยู่สองชนิด ได้แก่

PM2.5 เป็นฝุ่นละเอียดที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 2.5 ไมโครเมตร  

PM10 เป็นฝุ่นหยาบที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางน้อยกว่า 10 ไมโครเมตร

แม้ฝุ่นทั้งสองชนิดจะสร้างความเสียหายต่อร่างกายได้เหมือนกัน แต่ PM2.5 กลับมีความรุนแรงมากกว่าโดยเฉพาะหากสูดดมเป็นเวลานาน ๆ โดยอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ซึ่งมลพิษดังกล่าวทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัดเกิดขึ้นจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ไอเสียจากเครื่องยนต์ดีเซล การเผาชีวมวลอย่างขยะหรือเศษพืชในที่โล่ง ฝุ่นทุติยภูมิที่เกิดจากทําปฏิกิริยาเคมีของไอเสียรถยนต์ การเผาไหม้เชื้อเพลงจากโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า เป็นต้น

อันตรายจาก PM2.5

หลายคนน่าจะทราบว่าหมอกหนาที่เห็นในตอนเช้าแท้จริงแล้วคือฝุ่นละอองขนาดเล็กจำนวนมหาศาล ซึ่งการสูดเอา PM2.5 เข้าไปบ่อยครั้งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ เช่น

  • ในระยะสั้นอาจทำให้ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรังมีอาการกำเริบ เช่น โรคหืด โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
  • ในระยะยาวอาจทำให้ผู้คนป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพองหรือมะเร็งปอดเพิ่มขึ้น
  • เซลล์ในร่างกายเกิดความเสียหายเนื่องจากอนุมูลอิสระ
  • ระดับแคลเซียมภายในเซลล์เกิดความไม่สมดุล
  • ระบบทางเดินหายใจเกิดการอักเสบ

นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาทดลองที่แสดงให้เห็นอีกว่า ฝุ่นดังกล่าวอาจก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอัลไซเมอร์ด้วย

วิธีป้องกันมลพิษทางอากาศ    

มลพิษทางอากาศมาพร้อมกับอาการเจ็บป่วยมากมาย การปฏิบัติตามวิธีดังต่อไปนี้อาจช่วยลดปริมาณมลพิษ และทำให้อากาศบริสุทธิ์กลับคืนมาได้

  • ลดการใช้งานรถยนต์ส่วนตัวและหันไปใช้รถสาธารณะ หากคิดจะซื้อรถยนต์คันใหม่อาจมองหารถยนต์ไฮบริดที่ใช้น้ำมันและไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าประเภทอื่น
  • เพิ่มพื้นที่สีเขียวภายในบ้านให้มากขึ้น พืชในครัวเรือนจะช่วยดูดซับมลพิษในอากาศและนำมาผลิตออกซิเจนให้กับเรา อีกทั้งยังช่วยขจัดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและไข้หวัดด้วย
  • เปลี่ยนมาใช้แผงโซล่าเซลล์แทนไฟฟ้า โรงงานไฟฟ้าก่อให้เกิดมลพิษอย่างคาร์บอนมอนอกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ การนำพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์มาใช้จึงเป็นอีกทางของการลดมลพิษนั่นเอง
  • ลดสารตะกั่ว โดยการไม่เผาขยะ หากมีแบตเตอรี่เก่าควรนำไปให้ผู้จัดจำหน่ายหรือผู้ผลิตแบตเตอรี่ทำลายทิ้งอย่างถูกวิธี และควรตรวจดูสีที่ใช้ทาอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างเฟอร์นิเจอร์หรือของเล่นเด็ก หากมีส่วนผสมของสารตะกั่วก็ควรนำไปทิ้งหรือกำจัดด้วยวิธีที่ถูกต้อง

สำหรับเด็กและทารกในครรภ์มารดาอาจมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากร่างกายยังเจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ การป้องกันจึงยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ผู้ปกครองหรือคุณแม่จึงควรปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยต่อสุขภาพของคนที่รัก เช่น

  • สตรีที่มีอายุครรภ์น้อยกว่า 6 เดือน ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศมากเป็นพิเศษ เพราะอาจส่งผลในระยะยาวต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ของทารก
  • ผู้ปกครองควรตรวจสอบระดับคุณภาพอากาศเป็นประจำ แนะนำบุตรหลานให้สวมหน้ากากอนามัยและไม่ให้ออกกำลังกายกลางแจ้ง เนื่องจากระดับ PM2.5 ที่มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กทั่วไป และระดับ PM2.5 ที่มากกว่า 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อาจเริ่มส่งผลเสียต่อเด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น โรคหืด โรคปอดเรื้อรัง เยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ โรคหัวใจ เป็นต้น  
  • ระดับ PM2.5 ที่ไม่เกิน 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นระดับคุณภาพอากาศที่เหมาะสมภายในตัวอาคารหรือที่พักอาศัย ซึ่งหากภายในอาคารมีระดับดังกล่าวสูงเกินมาตรฐานควรติดตั้งเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศที่ไม่ปลดปล่อยโอโซนออกมา ยิ่งไปกว่านั้น หากภายนอกมีมลพิษสูงก็ควรปิดประตูและหน้าต่างให้มิดชิด ไม่สูบบุหรี่หรือจุดธูปในอาคาร หรือถูพื้นโดยใช้ผ้าเปียกเพื่อช่วยลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองนั่นเอง

ทั้งนี้ ฝุ่น PM2.5 ในปริมาณต่ำอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกัน หากต้องการออกไปนอกบ้านก็ควรป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากอนามัยเป็นประจำ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตเห็นถึงความปกติใด ๆ ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป