ดูแลผู้สูงอายุอย่างไรไม่ให้กระดูกหัก

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพได้ง่าย โดยเฉพาะกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกเปราะง่ายและต้านแรงกระแทกไม่ได้ ทำให้เสี่ยงได้รับบาดเจ็บที่กระดูกอย่างรุนแรงมากกว่าคนวัยหนุ่มสาวที่มีมวลกระดูกหนาและแข็งแรงกว่า โดยบริเวณที่ผู้สูงอายุมักเสี่ยงเกิดกระดูกหัก ได้แก่ สะโพก ต้นขา อุ้งเชิงกราน กระดูกสันหลัง แขน มือ เท้า และข้อเท้า

ผู้สูงอายุ

ทำไมผู้สูงอายุถึงกระดูกหัก

ภาวะกระดูกหักในผู้สูงอายุมักเกิดจากการหกล้ม ทั้งยังเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุได้รับบาดเจ็บ ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้สูงอายุเสี่ยงหกล้มจนกระดูกหักได้นั้น แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ดังนี้

ปัจจัยเกี่ยวกับภาวะสุขภาพ

  • ปัญหาสุขภาพดวงตา เช่น ต้อกระจก หรือสายตาสั้น
  • ปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน
  • โรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น กระดูกทับเส้นบริเวณหมอนรองกระดูก
  • ปัญหาสุขภาพข้อต่อและกล้ามเนื้อ เช่น ข้ออักเสบ
  • โรคที่ส่งผลต่อการทรงตัว เช่น โรคพาร์กินสัน
  • ภาวะนอนหลับไม่เพียงพอและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • ภาวะขาดวิตามินดี
  • มีค่าดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน
  • การรับประทานยารักษาโรคบางชนิดที่มีฤทธิ์ทำให้รู้สึกง่วง

ปัจจัยเกี่ยวกับสภาพแวดล้อม

  • พื้นห้องหรือกระดานไม้ลื่นและไม่แข็งแรง ทำให้หกล้มได้ง่าย
  • แสงไฟตามทางเดินที่ไม่สว่างเพียงพอ ทำให้มองทางไม่ชัด
  • นั่งเก้าอี้ที่ชำรุดจนล้มลงกระแทก
  • วางของไม่เป็นระเบียบ ทำให้เดินสะดุดและหกล้ม

ควรดูแลผู้สูงอายุที่กระดูกหักอย่างไร

ผู้สูงอายุที่กระดูกหักต้องเข้ารับการรักษากับแพทย์ เพื่อให้กระดูกเคลื่อนกลับเข้าที่และอยู่ในตำแหน่งเดิมจนกว่าจะหายดี โดยแพทย์จะพิจารณารักษาด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป ได้แก่ ใส่เฝือก ใส่อุปกรณ์สำหรับพยุงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ไม่ให้ขยับ ใช้การดึงถ่วงน้ำหนักเพื่อบรรเทาอาการปวดและเคลื่อนกระดูกให้อยู่ในแนวที่ต้องการ หรือผ่าตัด นอกจากนี้ ผู้ใกล้ชิดและสมาชิกในครอบครัวควรดูแลผู้สูงอายุหลังเข้ารับการรักษา โดยวิธีดูแลขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ดังนี้

กระดูกสะโพกหัก

  • ควรพยุงผู้สูงอายุให้ลุกขึ้นและพาออกไปเดินเล่นข้างนอก ไม่ควรให้นั่งนานเกิน 45 นาที
  • ให้นั่งเก้าอี้ที่มีที่วางแขน รวมทั้งปรับความสูงของเก้าอี้ให้พอดี ไม่ให้เข่าอยู่สูงกว่าระดับสะโพกขณะนั่งลง
  • ควรให้ผูู้สูงอายุนั่งวางเท้าราบเต็มฝ่าเท้า หันปลายเท้าออกจากกันเล็กน้อย รวมทั้งระวังไม่ให้นั่งไขว่ห้าง
  • เสริมที่รองนั่งชักโครกให้สูงขึ้นเพื่อให้ผู้สูงอายุใช้เมื่อเข้าห้องน้ำ
  • หากมีแผลที่ท้องหรือแผลจากการผ่าตัดบริเวณใด ๆ ควรระวังไม่ให้ผู้สูงอายุนอนทับแผลดังกล่าว
  • คอยระวังไม่ให้ผู้สูงอายุก้มตัวลงไปเก็บของ

กระดูกสันหลังหัก

  • ให้ผู้สูงอายุฝึกออกกำลังกายตามที่นักกายภาพบำบัดแนะนำ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงและเพิ่มการเคลื่อนไหวของร่างกาย รวมทั้งช่วยลดอาการปวด
  • เลือกเตียงนอนที่ไม่นุ่มมาก หรืออาจเสริมไม้อัดหนาประมาณ 1 นิ้ว ไว้ใต้ที่นอน
  • ใช้หมอนรองใต้ขาในระดับเข่าเมื่อนอนหงาย และรองใต้ท้องให้อยู่ประมาณเอวเมื่อนอนคว่ำ เพื่อลดแรงกดบริเวณหลัง รวมทั้งหากผู้สูงอายุนอนตะแคง อาจสอดหมอนรองหว่างขา โดยจัดหมอนให้อยู่ในระดับเข่า
  • นำน้ำแข็งห่อผ้าขนหนูและประคบหลังทิ้งไว้ 15-20 นาที เพื่อลดอาการปวดบวมและป้องกันเนื้อเยื่อถูกทำลาย ทำเช่นนี้ทุกชั่วโมงหรือตามแพทย์แนะนำ
  • ประคบร้อนที่หลังประมาณ 20-30 นาที ทุก 2 ชั่วโมงหรือตามแพทย์สั่ง เพื่อบรรเทาอาการปวดและลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

กระดูกแขนหรือมือหัก

  • นำน้ำแข็งห่อด้วยผ้าขนหนูสะอาดและประคบบริเวณที่กระดูกหัก
  • วางมือให้อยู่เหนือหัวใจ เพื่อบรรเทาอาการบวม
  • ให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวดตามคำแนะนำของแพทย์
  • ระวังไม่ให้เฝือกเปียกน้ำ โดยใช้ถุงพลาสติกคลุมเฝือกให้มิดชิดก่อนอาบน้ำ

ป้องกันผู้สูงอายุกระดูกหักได้อย่างไร

กระดูกหักเป็นปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุได้ง่าย สมาชิกในครอบครัวควรดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุหกล้มหรือพลัดตกลงมากระแทกจนกระดูกหัก ดังนี้

  • พาผู้สูงอายุเข้ารับการรักษาปัญหาสุขภาพอันเป็นปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงหกล้ม
  • พาผู้สูงอายุไปตรวจสุขภาพสายตาอย่างสม่ำเสมอ
  • หมั่นพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจความดันโลหิต โรคกระดูกพรุน และตรวจสุขภาพโดยรวม รวมทั้งปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรคที่อาจทำให้เสี่ยงหกล้ม
  • ชักชวนให้ออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ แต่ต้องปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับวิธีออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้ป่วยก่อน
  • ดูแลโภชนาการผู้สูงอายุให้ได้รับวิตามินดีและแคลเซียมอย่างเพียงพอ โดยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการเลือกวิตามินดีเสริมและแคลเซียมเสริมสำหรับผู้สูงอายุ
  • จัดบ้านให้เป็นระเบียบเรียบร้อย
  • เพิ่มราวจับบริเวณอ่างอาบน้ำหรือชักโครก เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้จับพยุงตัว
  • เพิ่มราวกั้นทั้ง 2 ข้างของบันได
  • หมั่นตรวจดูไฟตามทางเดินให้ใช้งานได้ปกติและมีแสงสว่างเพียงพอ