พาร์กินสัน (Parkinson's Disease)

ความหมาย พาร์กินสัน (Parkinson's Disease)

พาร์กินสัน (Parkinson's Disease) เป็นภาวะอาการในกลุ่มการเคลื่อนไหวผิดปกติ ที่ผู้ที่ป่วยจะมีอาการสั่นตามอวัยวะต่าง ๆ เคลื่อนไหวช้า และกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง ไม่ยืดหยุ่น อย่างที่ไม่สามารถควบคุมได้ โดยมีสาเหตุจากการเสื่อมของเซลล์สมอง หรือสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวอวัยวะส่วนต่าง ๆ ถูกทำลายจนเสียหาย

อาการจากโรคพาร์กินสันจะเป็นลักษณะอาการที่จะค่อย ๆ เกิดขึ้นอย่างช้า ๆ อย่างไรก็ตาม แม้อาการจะไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันกะทันหันอย่างโรคร้ายแรงอื่น แต่อาการจากโรคนี้ก็ถือว่าค่อนข้างกระทบกับการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยในระยะยาว

พาร์กินสัน (Parkinson's Disease)

อาการของพาร์กินสัน

อาการหลัก ๆ ที่มักพบในผู้ป่วยพาร์กินสันสามารถแบ่งออกได้เป็นลักษณะดังต่อไปนี้

  • อาการสั่น (Tremor) เป็นอาการสั่นที่นิ้ว มือ แขน หรือขา ขณะอยู่ในท่าพักและไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย อาการที่มักพบได้บ่อยคือ นิ้วหัวแม่มือกับนิ้วชี้สั่นและถูกันไปมา มือสั่นอย่างควบคุมไม่ได้
  • เคลื่อนไหวช้า (Bradykinesia) เคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ได้ช้ากว่าปกติ จนทำให้เกิดความยากลำบากและใช้เวลานานในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น เดินก้าวสั้น ๆ เดินลากเท้า ลุกออกจากที่นั่งลำบาก
  • กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง (Rigidity) เป็นอาการกล้ามเนื้อจะแข็งและเกร็งกว่าปกติ ทำให้เคลื่อนไหวอวัยวะได้อย่างลำบากและได้จำกัด หรืออาจสร้างความเจ็บปวดได้หากเกิดภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia)

ส่วนอาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้แตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน ได้แก่

  • ขาดสมดุลการทรงตัว ท่าทางต่างไปจากปกติ เช่น ยืนตัวงอ ทรงตัวลำบาก
  • ไม่สามารถเคลื่อนไหวอย่างอิสระ ความสามารถในการควบคุมและแสดงท่าทางการเคลื่อนไหวต่าง ๆ ลดลง เช่น ไม่สามารถควบคุมการยิ้ม การกะพริบตา หรือการแกว่งแขนในขณะเดินได้ตามปกติ
  • มีปัญหาในการพูด อาจมีอาการ เช่น พูดเบาลง พูดด้วยเสียงราบเรียบ พูดเร็วติดกันจนฟังยาก
  • มีปัญหาในการเขียน ควบคุมกล้ามเนื้อมือและแขนไม่ได้ ทำให้เขียนอะไรได้ลำบาก หรือเขียนหนังสือตัวเล็กลง

สาเหตุของพาร์กินสัน

พาร์กินสันเป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมหรือการตายของเซลล์สมองส่วนซับสแตนเชีย ไนกรา (Substantia Nigra) ซึ่งเป็นสมองส่วนที่มีหน้าที่ผลิตสารสื่อประสาทโดปามีนที่เป็นเสมือนตัวส่งสัญญาณระหว่างสมองกับร่างกาย เพื่อควบคุมและกำหนดการเคลื่อนไหวของอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย 

เมื่อเซลล์สมองส่วนนี้ได้รับความเสียหาย ปริมาณโดปามีนที่ผลิตได้ก็จะลดน้อยลง จนเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมอวัยวะส่วนต่าง ๆ ให้เคลื่อนไหวได้ตามปกติ โดยอาการต่าง ๆ ของพาร์กินสันจะเริ่มปรากฏออกมาเมื่อเซลล์สมองบริเวณซับสแตนเชีย ไนกราถูกทำลายไปอย่างรุนแรงแล้ว

ทั้งนี้ สาเหตุที่ส่งผลให้เซลล์สมองบริเวณซับสแตนเชีย ไนกราเสื่อมหรือเสียหายยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่สาเหตุที่อาจจะเกี่ยวข้องคือ

  • การเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรม โดยจากการศึกษาพบว่ายีนที่กลายพันธุ์อาจส่งผลต่อการเกิดพาร์กินสันได้ อีกทั้งยีนที่กลายพันธุ์นี้อาจถูกส่งต่อไปยังทายาทรุ่นต่อ ๆ ไปได้ แต่การเกิดพาร์กินสันในครอบครัวหรือสายเลือดยังเป็นกรณีที่พบได้น้อย
  • สภาพแวดล้อมภายนอก การได้รับสารพิษอย่างยากำจัดศัตรูพืช ยากำจัดวัชพืช หรือมลพิษต่าง ๆ  อาจมีความสัมพันธ์และเพิ่มความเสี่ยงที่เซลล์สมองจะถูกทำลายหรือทำให้สมองเสื่อมได้ 
  • การใช้ยาที่ทำให้เกิดกลุ่มอาการพาร์กินสัน เช่น ยาต้านอาการทางจิต (Antipsychotic) แต่อาการของพาร์กินสันมักจะหายไปภายหลังการหยุดใช้ยา
  • ภาวะทางสมองอื่น ๆ เช่น โรคก้านสมองเสื่อม โรคประสาทเสื่อมหลายที่ ภาวะฐานของเปลือกสมองเสื่อม
  • ภาวะหลอดเลือดสมองขาดเลือด เป็นภาวะป่วยหนึ่งในโรคหลอดเลือดสมอง ที่ทำให้เซลล์สมองหลาย ๆ ส่วนถูกทำลายหรือเซลล์ตาย

การวินิจฉัยพาร์กินสัน

ในการวินิจฉัยพาร์กินสัน แพทย์จะประเมินจากอาการที่ปรากฏ ประวัติทางการแพทย์ สอบถามเกี่ยวกับปัญหาการใช้ชีวิตที่เกิดจากอาการเหล่านั้น และอาจทำการทดสอบสมรรถภาพร่างกายโดยให้ผู้ป่วยลองเดินไปรอบ ๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกายส่วนต่าง ๆ ซึ่งการป่วยพาร์กินสันต้องมีอาการที่เด่นชัดอย่างน้อย 2 ใน 3 อาการจากกลุ่มอาการหลัก คือ อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า และกล้ามเนื้อแข็งเกร็ง

หากแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าป่วยเป็นพาร์กินสันหรือสงสัยว่ามีอาการของพาร์กินสัน แพทย์อาจส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอย่างอายุรแพทย์ด้านประสาทวิทยา หรืออายุรศาสตร์ผู้สูงอายุ เพื่อตรวจหาโรคต่อไป โดยแพทย์จะดูว่าผู้ป่วยมีผลการรักษาตอบสนองต่อยาลีโวโดปา (Levodopa) ที่ใช้ในผู้ป่วยพาร์กินสันหรือไม่

การรักษาพาร์กินสัน

ในปัจจุบัน พาร์กินสันยังเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การดูแลจากแพทย์อาจช่วยให้อาการที่เป็นอยู่ทุเลาลง เพื่อลดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยตัวอย่างการรักษาที่แพทย์มักใช้มีดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยยา

ตัวอย่างยารักษาพาร์กินสันที่แพทย์มักใช้ เช่น

  • คาร์บิโดปา–ลีโวโดปา (Carbidopa–Levodopa) ยาลีโวโดปาเป็นสารเคมีธรรมชาติที่เมื่อผ่านเข้าสู่สมองแล้วจะกลายเป็นโดปามีนซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสำคัญที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ส่วนคาร์บิโดปาเป็นยาที่ใช้รักษาร่วมกับลีโวโดปา โดยจะออกฤทธิ์ไม่ให้โดปามีนถูกทำลายภายนอกสมอง
  • โดปามีน อะโกนิสต์ (Dopamine Agonists) เป็นยากระตุ้นตัวรับโดปามีน ทำงานต่างจากลีโวโดปาที่กลายเป็นโดปามีน แต่ยากลุ่มนี้จะทำหน้าที่แทนโดปามีนในร่างกาย เพื่อลดอาการที่เกิดจากภาวะพาร์กินสัน ยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ พรามิเพรกโซล (Pramipexole)
  • ยายับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส–บี (MAO–B Inhibitors) เช่น เซเลกิลีน ที่ช่วยป้องกันการลดระดับโดปามีนในสมองด้วยการยับยั้งเอนไซม์โมโนเอมีน ออกซิเดส–บี ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่จะเผาผลาญทำลายสารโดปามีน
  • แคทิคอล–โอ–เมทิลทรานสเฟอเรส (ซีโอเอ็มที) (Catechol–O–Methyltransferase: COMT Inhibitors) เช่น ยาเอนทาคาโปน (Entacapone) โดยยานี้จะช่วยส่งเสริมกระบวนการทำงานของยาลีโวโดปา ด้วยการป้องกันโดปามีนที่ถูกสร้างขึ้นจากการถูกทำลายโดยเอนไซม์
  • ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergics) จะยับยั้งการทำงานของสารสื่อประสาทแอซิติลโคลีนที่ส่งผลต่ออาการต่าง ๆ ของพาร์กินสัน เช่น ยาเบนซ์โทรปีน ยาไตรเฮกซีเฟนิดิล โดยอาจมีผลข้างเคียงทำให้เกิดอาการสับสน มึนงง ท้องผูก ปัสสาวะยาก หรือปากแห้ง 
  • ยาอะแมนตาดีน (Amantadine) หากอาการของพาร์กินสันเกิดขึ้นในระยะแรกเริ่มและไม่รุนแรง ในระยะสั้น แพทย์อาจจ่ายยาอะแมนตาดีน หรืออาจใช้ร่วมกับยาคาร์บิโดปา–ลีโวโดปา เพื่อรักษาควบคุมอาการเคลื่อนไหวผิดปกติ (Dyskinesias) โดยการใช้ยาอาจมีผลข้างเคียงอย่างมีจุดเป็นจ้ำสีม่วงที่ผิวหนัง ข้อเท้าบวม

การผ่าตัด

ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation: DBS) โดยจะผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าลงไปในสมอง เพื่อกระตุ้นสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการพาร์กินสัน

โดยกระบวนการทำงานจะเชื่อมต่อกับขั้วไฟฟ้าอีกตัวที่ถูกฝังอยู่ในหน้าอกบริเวณใกล้กับกระดูกไหปลาร้า ขั้วไฟฟ้าจะส่งคลื่นไฟฟ้าไปยังสมอง ช่วยลดอาการพาร์กินสันที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถหยุดการพัฒนาโรคและการเสื่อมของสมองที่อาจเกิดขึ้นต่อไปได้

การรักษาดูแลรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ 

นอกจากการรักษาด้วยวิธีในข้างต้นแล้ว แพทย์อาจใช้วิธีดังต่อไปนี้ในการรักษาผู้ป่วยพาร์กินสันร่วมด้วย

  • กายภาพบำบัด นักกายภาพบำบัดจะคอยดูแลและฝึกฝนให้ผู้ป่วยหัดใช้กล้ามเนื้อและทำกิจกรรมต่าง ๆ ให้คล่องขึ้น เพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อแข็งเกร็งและอาการปวดบริเวณข้อต่อ ด้วยการฝึกเดิน ฝึกการเคลื่อนไหว และการออกกำลังกาย
  • อาชีวบำบัด นักอาชีวบำบัดจะดูแลและช่วยเหลือในด้านทักษะการใช้ชีวิตประจำวัน ดูแลจัดการในด้านความเป็นอยู่ ให้ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมของผู้ป่วยปลอดภัยต่อการใช้ชีวิต เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยพาร์กินสัน และป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงที่เป็นอันตราย
  • อรรถบำบัด นักบำบัดจะช่วยแก้ไขปรับปรุงปัญหาเกี่ยวกับปาก อย่างการพูดและการกินอาหาร เนื่องจากผู้ป่วยพาร์กินสันมักมีอาการกลืนลำบาก และพูดไม่คล่อง พูดติดขัด พูดไม่ชัด นักบำบัดจะสอนวิธีการพูด การกิน และการออกกำลังกายบริหารปากให้แก่ผู้ป่วย
  • แนวทางการบริโภคอาหาร ผู้ป่วยพาร์กินสันอาจต้องไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ เพื่อให้แพทย์แนะนำแนวทางการจัดการกับปัญหาและอาการที่เกิดขึ้นจากการป่วย เช่น ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงเพื่อลดปัญหาท้องผูก เพิ่มปริมาณเกลือในอาหาร โดยแบ่งรับประทานเป็นมื้อเล็ก ๆ แต่บ่อย เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดจากความดันโลหิตต่ำ

ภาวะแทรกซ้อนของพาร์กินสัน

ผู้ป่วยพาร์กินสันบางคนอาจมีความเสี่ยงเกิดอาการหรือภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น

  • กลืนลำบาก อาจมีน้ำลายสะสมอยู่ในปากมาก ทำให้กลืนกินอาหารลำบาก
  • ปัสสาวะลำบาก หรือไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้
  • ท้องผูก ระบบทางเดินอาหารทำงานได้ช้าลง
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน รู้สึกตัวขึ้นมากลางดึกบ่อย ๆ แล้วง่วงนอนทั้งวัน 
  • มีปัญหาเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น ภาวะซึมเศร้า อารมณ์แปรปรวนทั้งความกลัว วิตกกังวล หรือรู้สึกขาดแรงจูงใจ
  • ประสาทการรับกลิ่นมีปัญหา
  • อ่อนเพลียง่าย เจ็บปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
  • มีความต้องการและการแสดงออกทางเพศลดลง
  • ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง อาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว หน้ามืดเฉียบพลัน
  • อาจมีปัญหาเกี่ยวกับความคิดและการจำ (Dementia) ในช่วงหลังของการเจ็บป่วย

การป้องกันพาร์กินสัน

มีบางงานวิจัยที่ชี้ว่าสารคาเฟอีนที่พบในชา กาแฟ น้ำอัดลมบางชนิด และการออกกำลังกายด้วยการแอโรบิค อาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดพาร์กินสันได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีการชี้ชัดถึงสาเหตุที่แน่นอนในการเกิดพาร์กินสัน จึงยังไม่มียาหรือวิธีใดในการป้องกันภาวะนี้ได้ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดที่ควรปฏิบัติเพื่อการป้องกันก็คือการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ