7 สัญญาณเตือนที่อาจเป็นอาการพาร์กินสัน

อาการพาร์กินสันเป็นอาการทางระบบประสาทชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยมักมีอาการมือสั่น กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือร่างกายเคลื่อนไหวช้าผิดปกติ เนื่องจากระดับสารสื่อประสาทโดพามีนในสมองลดลงจากการที่เซลล์ประสาทบางชนิดในสมองเสื่อมสภาพหรือตาย

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดที่ส่งผลให้เซลล์ประสาทในสมองที่เป็นต้นเหตุของโรคพาร์กินสันเสื่อมสภาพหรือตายไม่พบ และไม่มีวิธีรักษาผู้ป่วยให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม การไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจมีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการพาร์กินสันและช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น

เนื่องจากพาร์กินสันเป็นโรคที่มักพบในผู้สูงอายุและลักษณะอาการในระยะแรกมักไม่รุนแรง ผู้ป่วยอาจเข้าใจว่าอาการผิดปกติบางอย่างเป็นเพียงอาการปกติและไม่ได้ไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม 

7 สัญญาณเตือนที่อาจเป็นอาการพาร์กินสัน

7 สัญญาณที่อาจเป็นอาการพาร์กินสัน

อาการพาร์กินสันอาจสังเกตได้ยาก เนื่องจากอาการมักไม่รุนแรงในช่วงแรกและแตกต่างกันในแต่ละคน แต่เบื้องต้นอาจสังเกตได้จากอาการที่พบได้บ่อยต่อไปนี้

1. สั่น

เป็นอาการที่พบได้มากในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อาการมักเริ่มเกิดที่แขนหรือขาข้างใดข้างหนึ่งขณะที่ผู้ป่วยอยู่นิ่ง ๆ โดยเฉพาะมือและนิ้วมือ และอาการมักจะหายไปเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว

2. กล้ามเนื้อตึง เกร็ง 

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักพบอาการเกร็งหรือตึงของกล้ามเนื้อผิดปกติ โดยเฉพาะตอนตื่นนอนในช่วงเช้า อาการมักเกิดบริเวณแขนและขาข้างเดียวกันกับที่พบอาการสั่น

3. พฤติกรรมการเขียนหนังสือผิดปกติ

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันในช่วงแรกอาจพบว่าตัวเองเริ่มเขียนหนังสือช้าลง และตัวหนังสือที่เขียนมีลักษณะผิดปกติไป เช่น เมื่อเขียนตัวหนังสือเป็นประโยคจะพบว่าตัวอักษรค่อย ๆ มีขนาดเล็กลงและเบียดกันเป็นกระจุก

4. ท่าทางเปลี่ยนไป

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันอาจพบว่าตัวเองเริ่มมีท่าทางเปลี่ยนไป เช่น เริ่มยืนหลังค่อมหรือโน้มตัวไปข้างหน้ามากผิดปกติ หรือแขนข้างใดข้างหนึ่งแกว่งน้อยลงผิดปกติขณะเดิน

5. เคลื่อนไหวร่างกายลำบาก

ผู้ที่มีอาการพาร์กินสันมักเคลื่อนไหวช้า หรืออาจรู้สึกว่าต้องออกแรงในการเคลื่อนไหวร่างกายมากผิดปกติ ส่งผลให้พฤติกรรมบางอย่างในชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป อย่างการก้าวเท้าสั้นลง

6. การแสดงอารมณ์ทางใบหน้าผิดปกติ

ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมักควบคุมกล้ามเนื้อของใบหน้าได้ลำบาก คนใกล้ชิดส่วนใหญ่อาจสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมักไม่แสดงอารมณ์ใด ๆ ออกทางสีหน้า และกระพริบตาน้อยลง

7. การออกเสียงเปลี่ยนไป

คนใกล้ชิดอาจสังเกตว่าผู้ป่วยโรคพาร์กินสันจะมีการพูดและการออกเสียงที่ต่างไปจากเดิม โดยผู้ป่วยมักพูดเบาลง เสียงแหบ และพูดด้วยน้ำเสียงราบเรียบเป็นโทนเดียว

นอกจากนี้ อาการพาร์กินสันในระยะแรกเริ่มยังอาจสังเกตได้จากอาการอื่นเช่นกัน เช่น ร่างกายกระตุกเองขณะหลับบ่อย ๆ ท้องผูกเรื้อรัง จมูกไม่ได้กลิ่น หรือรู้สึกว่าขาอยู่ไม่สุข เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม อาการในลักษณะข้างต้นอาจเป็นได้ทั้งอาการพาร์กินสัน หรืออาจเป็นสัญญาณขอปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้เช่นกัน หากพบความผิดปกติในลักษณะข้างต้นเป็นเวลานาน ควรไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้แพทย์สามารถควบคุมหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในภายหลัง