ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

ความหมาย ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

Dystonia หรือภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง เป็นภาวะที่กล้ามเนื้อมีการเคลื่อนไหวผิดปกติโดยไม่สามารถควบคุมได้ โดยผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้อบิดเกร็งที่บริเวณอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่ง หลายส่วน หรือทุกส่วนของร่างกายซ้ำ ๆ จนส่งผลให้อวัยวะของกล้ามเนื้อมัดนั้นผิดรูปไปได้ ทั้งอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้อาจมาจากหลายปัจจัย เช่น พันธุกรรม ความผิดปกติของสมอง สารพิษ โรคหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งมักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เป็นภาวะที่เกิดขึ้นในระยะยาวและยังไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้

Dystonia

อาการของภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

ภาวะ Dystonia อาจเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย โดยผู้ป่วยภาวะนี้อาจมีอาการกล้ามเนื้อบิดเกร็ง หรือเป็นตะคริวที่บริเวณอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายอย่างควบคุมไม่ได้ เช่น คอ มือ ขา เปลือกตา ขากรรไกร ลิ้น กล่องเสียง และเส้นเสียง เป็นต้น โดยอาจเกิดขึ้นที่บริเวณอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือมากกว่านั้น ซึ่งอาจมีความรุนแรงน้อยจนไปถึงรุนแรงมากและมักพัฒนาขึ้นตามระยะ ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการที่สามารถสังเกตได้ ดังนี้

  • มีอาการสั่น
  • ควบคุมการกะพริบตาไม่ได้ ตากระตุก และตาแห้ง
  • คอบิดเกร็งไปทางด้านใดด้านหนึ่ง
  • พูดลำบาก น้ำลายไหล พบปัญหาในการเคี้ยว และการกลืน
  • เสียงพูดเบาลงจนคล้ายเสียงกระซิบ
  • เดินลากขา หรือเป็นตะคริวที่เท้า
  • ปลายเท้าบิดเข้าด้านใน
  • เป็นตะคริวที่มือหรือปลายแขนเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องใช้มืออย่างการเขียนหนังสือ หรือการเล่นดนตรี

ทั้งนี้ อาการของ Dystonia อาจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหรืออาจมีอาการเป็นพัก ๆ แล้วหาย โดยอาการดังกล่าวอาจรุนแรงขึ้นเมื่อผู้ป่วยรู้สึกเครียด วิตกกังวล หรืออ่อนเพลีย และอาจเห็นได้ชัดเจนขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป

สาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

แม้ในปัจจุบันทางการแพทย์จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของ Dystonia แต่มีข้อสันนิษฐานว่าภาวะนี้อาจเกิดจากสาเหตุต่าง ๆ ดังนี้

  • ความผิดปกติของระบบประสาทบริเวณส่วนต่าง ๆ ของสมอง
  • ความผิดปกติของสมองส่วนเบซัลแกงเกลีย (Basal Gangilia) ซึ่งมีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ
  • การถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  • การขาดออกซิเจน
  • ปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้ยาบางชนิด
  • การได้รับสารพิษบางชนิดอย่างก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์ และโลหะหนักอย่างตะกั่ว
  • การติดเชื้อบางชนิด เช่น วัณโรค และโรคไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
  • โรคหรือการเจ็บป่วยต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน โรคฮันติงตัน โรควิลสัน ภาวะสมองบาดเจ็บ การบาดเจ็บจากการคลอด โรคสมองพิการ โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง เนื้องอกในสมอง และกลุ่มอาการที่เป็นผลจากโรคมะเร็ง เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

ในเบื้องต้น แพทย์จะวินิจฉัย Dystonia โดยประเมินจากอาการ ประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย และการตรวจร่างกาย นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่าง ๆ ได้แก่ การตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อตรวจดูสัญญาณของสารพิษในร่างกายหรือภาวะอื่น ๆ การตรวจวินิจฉัยจากภาพถ่ายอย่างการสแกนเอ็มอาร์ไอ (MRI Scan) ซึ่งเป็นการถ่ายภาพด้วยคลื่นสนามแม่เหล็ก และการทำซีที สแกน (CT Scan) ซึ่งเป็นการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณศีรษะ เพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในสมอง เช่น เนื้องอกหรือบาดแผลในสมอง และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น รวมถึงการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG) เพื่อตรวจดูกิจกรรมทางไฟฟ้าภายในกล้ามเนื้อ

การรักษาภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

แม้ภาวะ Dystonia จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็อาจดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น การสัมผัสที่บริเวณนั้น ๆ ซึ่งอาจช่วยให้อาการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อหยุดชั่วขณะ และการใช้ความร้อนหรือความเย็น ซึ่งอาจช่วยลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจเรียนรู้วิธีรับมือกับความเครียด โดยผู้ป่วยอาจฝึกการหายใจเข้าออกลึก ๆ ขอความช่วยเหลือจากสังคม หรือพูดกับตนเองในเชิงบวก

ส่วนการรักษา Dystonia นั้น แพทย์มักให้ความสำคัญกับการบรรเทาอาการต่าง ๆ โดยขึ้นอยู่กับลักษณะและความรุนแรงของอาการของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งแพทย์อาจใช้วิธีการรักษา ดังต่อไปนี้

  • การใช้ยา
    แพทย์อาจฉีดโบทูลินัมท็อกซิน (Botulinum Toxin) หรือโบท็อกซ์เข้าสู่บริเวณกล้ามเนื้อส่วนที่ได้รับผลกระทบเพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อบิดเกร็ง และช่วยปรับท่าทางของผู้ป่วยให้ใกล้เคียงปกติที่สุด โดยผู้ป่วยจะต้องเข้ารับการฉีดยาทุก 3-4 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น รู้สึกอ่อนแรง ปากแห้ง และเสียงเปลี่ยนไป เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจมีการให้ยาบางชนิดที่มีผลต่อสารสื่อประสาทสำคัญที่ควบคุมการเคลื่อนไหว เช่น คาริโซโพรดอล-เลโวโดปา ไตรเฮกซีเฟนิดิล เบนซ์โทรปีน เตตราเบนาซีน ไดอะซีแพม โคลนาซีแพม และบาโคลเฟน เป็นต้น
  • การบำบัด
    แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำกายภาพบำบัดหรือกิจกรรมบำบัด เพื่อบรรเทาอาการและช่วยให้การทำงานของร่างกายดีขึ้น สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับเสียงอาจเข้ารับการทำอรรถบำบัด เพื่อพัฒนาทักษะการพูด นอกจากนี้ การยืดกล้ามเนื้อและการนวดอาจช่วยบรรเทาอาการปวดของกล้ามเนื้อได้
  • การผ่าตัด
    แพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation: DBS) ซึ่งเป็นการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้าลงไปในสมอง โดยกระบวนการทำงานจะเชื่อมต่อกับตัวปล่อยกระแสไฟฟ้าที่ถูกฝังอยู่ในหน้าอก เพื่อกระตุ้นสมองส่วนที่มีผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการของภาวะนี้ได้ อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจจำเป็นต้องผ่าตัดเส้นประสาทที่ควบคุมกล้ามเนื้อบริเวณที่ได้รับผลกระทบ ในกรณีที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้

นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่น ๆ ที่อาจช่วยบรรเทาอาการของภาวะนี้ได้ เช่น การทำสมาธิและฝึกการหายใจเข้าลึก ๆ การใช้เครื่องมือไบโอฟีดแบค (Biofeedback) และการเล่นโยคะ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

ภาวะ Dystonia อาจส่งผลต่อร่างกายของผู้ป่วยอย่างมากจนอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานหรือการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันลดลงได้ ผู้ที่ประสบภาวะนี้อาจพบปัญหาในการมองเห็น การพูด การกลืน และการเคลื่อนไหวบริเวณขากรรไกร ทั้งอาจมีอาการปวดหรืออ่อนเพลียจากการหดตัวของกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยอาจเก็บตัวหรือแยกตัวออกจากสังคม และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้

การป้องกันภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง

แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะ Dystonia ที่แน่นอน อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปอาจลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะนี้ได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เพื่อป้องกันโรคหรือภาวะต่าง ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่อาจทำให้ได้รับบาดเจ็บที่สมอง
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษบางชนิดอย่างก๊าซคาร์บอนมอนออกไซด์และโลหะหนักอย่างตะกั่ว
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่จำเป็น เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ได้
  • รีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการใด ๆ ที่เป็นสัญญาณของภาวะนี้