กรดนิวคลีอิก สารพันธุกรรมและต้นกำเนิดของสุขภาพดี

เคยสงสัยไหมว่าทำไมลูกถึงต้องหน้าตาเหมือนพ่อแม่ ? หลายคนอาจบอกว่าเป็นเพราะพันธุกรรม นั่นเป็นคำตอบที่ถูกต้อง พันธุกรรมนั้นมีที่มาจากกรดนิวคลีอิก (Nucleic Acids) แต่หลายคนมักจะรู้จักกรดนิวคลีอิกในชื่อของ DNA หรือ RNA มากกว่า ซึ่งสารพันธุกรรมเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อรูปร่างหน้าตา แต่อาจส่งต่อภาวะสุขภาพของคนเราได้อีกด้วย

กรดนิวคลีอิกมีความเกี่ยวข้องกับเราตั้งแต่เป็นทารกอยู่ในครรภ์จนกระทั่งคลอด เติบโต ไปจนถึงสืบพันธุ์ โดยมีหน้าที่จดบันทึกลักษณะพันธุกรรมเพื่อสร้างเซลล์ใหม่และส่งต่อสารพันธุกรรมเหล่านั้นไปยังรุ่นถัดไป แต่ในบางกรณีอาจมีปัจจัยบางอย่างส่งผลให้กรดนิวคลีอิกเกิดความผิดปกติ ทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย จึงอาจนำไปสู่การผิดเพี้ยนของพันธุกรรมและเสี่ยงต่ออาการเจ็บป่วยได้มากขึ้น ดังนั้น การดูสุขภาพให้แข็งแรงอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้กรดนิวคลีอิกทำงานได้เป็นปกติและลดความเสี่ยงของโรคบางโรคลงได้

กรดนิวคลีอิก

รู้จักกรดนิวคลีอิกให้มากขึ้น

กรดนิวคลีอิกเป็นสารชีวโมเลกุลชนิดหนึ่งภายในร่างกาย มีหน้าที่สร้างสารพันธุกรรมเพื่อจดบันทึกลักษณะทางพันธุกรรมหรือสิ่งที่ช่วยระบุลักษณะของสิ่งมีชีวิตนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา สีผิว สีดวงตา ลักษณะเส้นผม ลายนิ้วมือ ไปจนถึงความผิดปกติของพันธุกรรมที่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพหรือโรคบางโรค อย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ร่างกายของสิ่งมีชีวิตประกอบไปด้วยเซลล์จำนวนหลายล้านเซลล์ ภายในเซลล์มีส่วนประกอบหนึ่งที่เรียกว่านิวเคลียส (Nucleus) ซึ่งมีกรดนิวคลีอิกอยู่ภายใน โดยในทุกกระบวนการแบ่งตัวของเซลล์ในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตในครรภ์ การพัฒนาของร่างกาย การซ่อมแซมร่างกายจากบาดแผลหรือการเจ็บป่วย กลไกร่างกายจะดึงข้อมูลจากสารพันธุกรรมที่กรดนิวคลีอิกบันทึกไว้ออกมาเพื่อสร้างเซลล์ใหม่ที่เหมือนกันขึ้น ดังนั้น หากร่างกายมีข้อมูลพันธุกรรมที่ปกติ เซลล์ที่สร้างขึ้นใหม่ก็จะมีลักษณะสมบูรณ์ตามไปด้วย 

กรดนิวคลีอิกแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • DNA หรือ Deoxyribonucleic Acid ทำหน้าที่หลักในการบันทึกและถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมในมนุษย์
  • RNA หรือ Ribonucleic Acid ทำหน้าที่ในการถอดรหัสพันธุกรรมจาก DNA เพื่อนำไปสร้างโปรตีนและส่วนประกอบของเซลล์

บทบาทของกรดนิวคลีอิกกับโรคทางพันธุกรรม

อย่างที่ได้กล่าวไปว่า กรดนิวคลีอิกมีหน้าที่บันทึกลักษณะทางพันธุกรรมของคนแต่ละคน ซึ่งพันธุกรรมของมนุษย์ถูกจดบันทึกในรูปแบบของ DNA เป็นหลัก หากบรรพบุรุษเป็นโรคทางพันธุกรรมก็จะสามารถส่งต่อลักษณะพันธุกรรมจากรุ่นสู่รุ่นต่อไปเรื่อย ๆ โดยในทางการแพทย์เรียกความผิดเพี้ยนของพันธุกรรมว่าการกลายพันธุ์ (Mutation) แต่คนทั่วไปอาจเรียกการสืบทอดลักษณะนี้ว่ากรรมพันธุ์

ตัวอย่างของโรคทางพันธุกรรมที่คนส่วนใหญ่รู้จักและส่งผลให้เกิดความผิดปกติตั้งแต่ตั้งครรภ์ เช่น ดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) โดยโรคในลักษณะนี้พ่อแม่อาจไม่จำเป็นต้องมีอาการของดาวน์ซินโดรม แต่หาก DNA มีลักษณะความผิดปกติของกลุ่มอาการนี้อยู่ก็อาจมีความเสี่ยงที่ความผิดปกตินี้จะแสดงออกมาในรุ่นลูก

นอกจากนี้ โรคทางพันธุกรรมยังสามารถหมายถึงกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมกระตุ้น เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคข้ออักเสบ โรคอัลไซเมอร์ โรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งโรคเหล่านี้มักไม่เกิดขึ้นทันทีตั้งแต่ในครรภ์หรือหลังคลอด แต่ DNA จะมีลักษณะหรือข้อมูลบางอย่างที่เอื้อให้โรคเหล่านี้เกิดขึ้นในภายหลัง

ในบางครั้งการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมอาจเกิดจากปัจจัยภายนอกได้เช่นเดียวกัน โดยอาจผ่านการสัมผัสกับมลพิษ แสงแดด ความเครียด สารเคมี หรือสภาพแวดล้อมที่ไม่ดีอื่น ๆ เพราะปัจจัยเหล่านี้เร่งให้เกิดสารอนุมูลอิสระ (Free Redical) ที่ทำให้เซลล์และ DNA ภายในเซลล์เสียหาย และหากใครที่มีพันธุกรรมที่กลายพันธุ์ผ่านทางสายเลือดอยู่แล้ว (Hereditary Mutation) การสัมผัสกับปัจจัยเหล่านี้ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกในครอบครัวป่วยเป็นโรคบางโรค

มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า พันธุกรรมมีผลต่อสุขภาพตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเติบโต และแม้ว่าการกลายพันธุ์ของพันธุกรรมที่ส่งต่อทางสายเลือดจะไม่มีวิธีแก้ไข แต่การรักษาสุขภาพอาจช่วยให้เซลล์แข็งแรงและทำงานได้ปกติ ซึ่งอาจลดความเสี่ยงของการกลายพันธุ์ที่นำไปสู่โรคทางพันธุกรรมและปัญหาสุขภาพ

เสริมความแข็งแรงของกรดนิวคลีอิก 

การดูแลสุขภาพร่างกายตนเองเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการทำงานของสารพันธุกรรมให้เป็นปกติ โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนหลัก ดังนี้

ปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์

ในเบื้องต้น ควรเริ่มจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยภายนอกที่กระตุ้นให้เกิดสารอนุมูลอิสระและทำให้เซลล์เสียหายจนอาจนำไปสู่การกลายพันธุ์ของ DNA ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น 

  • หลีกเลี่ยงการเผชิญแสงแดด โดยเฉพาะแดดที่แรงจัด หากต้องโดนแดดควรสวมเสื้อผ้าที่ปกป้องผิวหนังหรือทาครีมกันแดด 
  • หากต้องเผชิญกับมลพิษควรสวมหน้ากากอนามัยหรืออุปกรณ์ป้องกัน เพื่อป้องกันฝุ่นควันและสารเคมีดังกล่าว 
  • งดสูบบุหรี่และไม่ดื่มแอลกอฮอล์ 
  • รักษาความสะอาดของร่างกายและข้าวของเครื่องใช้เป็นประจำเพื่อป้องกันเชื้อโรค 
  • ผ่อนคลายความเครียดด้วยวิธีการต่าง ๆ 
  • ออกกำลังกายเป็นประจำและพักผ่อนอย่างเพียงพออยู่เสมอ
  • เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามช่วงอายุและปัจจัยเสี่ยงของแต่ละบุคคล

เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้สามารถกระตุ้นกระบวนการของสารอนุมูลอิสระและส่งผลเสียต่อร่างกายได้ การปรับพฤติกรรมให้ดีต่อสุขภาพมากขึ้นจึงเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้เซลล์และส่วนประกอบภายในเซลล์ อย่างกรดนิวคลีอิกทำงานได้เป็นปกติ ซึ่งรวมถึง DNA และ RNA ด้วย

เพิ่มสารอาหารที่จำเป็น

เซลล์และส่วนประกอบของเซลล์ดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยสารอาหารและออกซิเจน มนุษย์มีกลไกการหายใจเพื่อรับออกซิเจนตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่อาหารเป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกรับประทานได้ ซึ่งการเลือกอาหารให้เหมาะสมอาจช่วยรักษาความแข็งแรงของเซลล์และกรดนิวคลีอิกที่อยู่ภายในได้ เราจึงควรเลือกรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่และอยู่ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นประจำ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามิน แร่ธาตุ และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ 

นอกจากนี้ ควรเน้นอาหารที่มีนิวคลีโอไทด์ (Nucleotide) ที่เป็นหน่วยย่อยของ DNA โดยสามารถพบได้ในอาหารหลายชนิด เช่น กุ้ง ปลา เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ เต้าหู้ และเห็ด ซึ่งการได้รับนิวคลีโอไทด์อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยรักษาการทำงานของ DNA ให้เป็นปกติ โดยในงานวิจัยขนาดเล็กชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยกลุ่มอาการลำไส้แปรปรวนเรื้อรัง (Irritatable Bowel Syndrome) รับประทานอาหารเสริมนิวคลีโอไทด์ติดต่อกัน 56 วัน ผลพบว่า ความรุนแรงของอาการทุเลาลง โดยเฉพาะอาการไม่สบายท้องและอาการปวดท้อง แต่ยังคงมีอาการบางอย่างที่ไม่ตอบสนองได้ดีนัก จึงอาจจะพอบอกได้ว่าการใช้อาหารเสริมนิวคลีโอไทด์อาจช่วยให้อาการของโรคฟื้นฟูได้ดีและรวดเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม หากเป็นโรคหรือเจ็บป่วยควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ก่อน เพื่อรักษาอาการของโรคได้อย่างตรงจุดและปลอดภัย

นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นได้ทดลองให้แอลกอฮอล์ร่วมกับสารต่าง ๆ ในหนูจำนวนหนึ่งเพื่อดูความเสียหายของตับที่เป็นผลจากแอลกอฮอล์ โดยหนูกลุ่มที่ได้รับกรดนิวคลีอิกจากปลาแซลมอนร่วมกับแอลกอฮอล์มีความเสียหายของตับน้อยกว่าหนูกลุ่มอื่น ผู้ทดลองจึงคาดว่าการได้รับอาหารที่มีกรดนิวคลีอิกเป็นส่วนประกอบอาจช่วยลดความเสียหายของตับจากการดื่มแอลกอฮอล์ได้ 

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาและวิจัยเหล่านี้ ควรได้รับการศึกษาในแง่มุมอื่นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันประสิทธิภาพของกรดนิวคลีอิกและนิวคลีโอไทด์ที่มาในรูปแบบของอาหารและอาหารเสริม

แม้ว่าความผิดปกติของ กรดนิวคลีอิก อย่าง DNA และ RNA ที่เป็นกรรมพันธุ์จะไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เราสามารถรักษาสุขภาพด้วยวิธีต่าง ๆ ก็เป็นทางเลือกที่ดีที่เราสามารถทำได้เพื่อสร้างสุขภาพที่แข็งแรงและปราศจากโรค อย่างไรก็ตาม หากพบปัญหาสุขภาพหรืออาการผิดปกติ ควรไปพบแพทย์ก่อนเพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม