Biofeedback การฝึกควบคุมร่างกาย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

Biofeedback เป็นเทคนิคที่ฝึกให้ผู้ป่วยควบคุมร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรมของตนเอง เพื่อช่วยบรรเทาอาการของโรคหรือปัญหาสุขภาพ โดยสามารถสังเกตการเปลี่ยนแปลงจากสัญญาณชีพ (Vital Signs) ของร่างกาย อย่างอัตราการเต้นของหัวใจ คลื่นไฟฟ้าสมอง การเคลื่อนไหวของมัดกล้ามเนื้อ หรืออุณหภูมิร่างกาย 

Biofeedback อาจเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังหลายชนิด อย่างปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ท้องผูก ไปจนถึงถึงโรครุนแรงอย่างอาการทางจิตและโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากนี้ Biofeedback ยังอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการฝึกพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพื่อรักษาสุขภาพด้วย

Woman,Wearing,Holter,Monitor,Device,For,Daily,Monitoring,Of,An

ประโยชน์และข้อจำกัดของ Biofeedback

Biofeedback จัดเป็นขั้นตอนทางการแพทย์แบบ Non-Invasive หรือขั้นตอนที่ไม่รุกล้ำร่างกาย มีความปลอดภัย ไม่ต้องฉีดยา ไม่ต้องผ่าตัด และไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ ซึ่งประโยชน์หลักของ Biofeedback ได้แก่

  • ลดความรุนแรงของอาการ
  • ลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน
  • ลดการใช้ยา และเพิ่มประสิทธิภาพของยา

ประโยชน์หลักของ Biofeedback ทั้งสองข้อนี้อาจส่งผลดีอย่างมากในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ต้องใช้ยาเป็นประจำ ทั้งในแง่ของสุขภาพ ค่าใช้จ่าย และการใช้ชีวิต อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อคุณแม่ที่กำลังครรภ์และอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถใช้ยาเพื่อรักษาได้

อย่างไรก็ตาม การฝึก Biofeedback ไม่ครอบคลุมสำหรับทุกการเจ็บป่วย และอาจให้ผลแตกต่างกันไปในแต่ละคน จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวหรืออยู่ระหว่างการรักษาโรคด้วยวิธีอื่นอยู่

ขั้นตอน Biofeedback เป็นอย่างไร?

Biofeedback ทำได้หลากหลายรูปแบบและหลายวิธี ขึ้นอยู่กับปัญหาสุขภาพของผู้ป่วย โดยแพทย์จะเป็นผู้แนะนำรูปแบบที่เหมาะสม และนักบำบัดที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจะเป็นผู้ดำเนินการ ปกติแล้วการทำ Biofeedback ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรล่วงหน้า ถ้าหากต้องมีการเตรียมตัว แพทย์และนักบำบัดจะแจ้งให้ทราบล่วงหน้า

สัญญาณชีพที่สามารถวัดได้จากการทำ Biofeedback เช่น

  • อัตราการเต้นของหัวใจ
  • การหายใจ
  • การตึงตัวของกล้ามเนื้อ
  • การทำงานของต่อมเหงื่อ
  • อุณหภูมิร่างกาย
  • คลื่นสมองหรือคลื่นไฟฟ้าสมอง

นอกจากนี้นักบำบัดอาจวัดสัญญาณชีพอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้วัดแต่ละจุดอาจแตกต่างกันไปตามอวัยวะแต่ละส่วนและสัญญาณชีพที่ต้องการวัด แต่ส่วนใหญ่มักใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า แผ่นอิเล็กโทรด (Electrodes) ที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลมแบนและมีสายต่อกับเครื่องแปลงผล นอกจากแผ่นอิเล็กโทรดแล้ว นักบำบัดอาจใช้อุปกรณ์อื่น เช่น เครื่องตรวจจับการเคลื่อนไหวร่างกาย เครื่องวัดแรงกด (Force Plate Sensors) เครื่องอัลตราซาวด์ และการส่องกล้อง (Endoscopy)

Biofeedback มีขั้นตอนดังนี้

  • ขั้นแรก นักบำบัดจะใช้อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพติดตามร่างกาย โดยอาจติดส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนพร้อมกัน
  • สัญญาณชีพที่วัดได้จะแสดงผลในหน้าจอเพื่อให้ผู้เข้ารับการบำบัดและนักบำบัดเห็นลักษณะของสัญญาณชีพที่ส่งผลให้เกิดอาการ หากสัญญาณชีพส่วนที่ตรวจจับทำงานหนัก เกร็ง หรืออยู่ในสภาวะที่ผิดปกติ เครื่อง Biofeedback จะมีไฟขึ้นหรือส่งเสียงร้องเพื่อเตือนให้ผู้ป่วยผ่อนคลาย
  • นักบำบัดจะสอนผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีควบคุมร่างกาย ความคิด และพฤติกรรมเพื่อปรับสัญญาณชีพให้ปกติ เช่น หากผู้ป่วยมีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง นักบำบัดจะบอกวิธีที่ช่วยลดอาการตึงของกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวและให้ผู้ป่วยลองฝึก โดยในระหว่างฝึก นักบำบัดและผู้ป่วยจะเห็นสัญญาณชีพที่เปลี่ยนแปลงไปตามการฝึก ทำให้ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้และเข้าใจการทำงานของร่างกายมากขึ้น

นอกจากที่ได้ยกตัวอย่างไป Biofeedback ยังมีวิธีการฝึกแบบอื่น ๆ ที่นักบำบัดอาจแนะนำให้ผู้ป่วยทดลองฝึก เช่น การฝึกเกร็งและคลายกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ การทำสมาธิเพื่อควบคุมอารมณ์และความคิด การหักเหความสนใจจากสิ่งกระตุ้นด้วยการจินตนาการถึงสี เสียง หรือบรรยากาศที่ทำให้คลื่นสมองและอารมณ์ของผู้ป่วยคงที่ เป็นต้น

โดยปกติ Biofeedback ใช้เวลาราว 30-60 นาทีต่อการฝึก 1 ครั้ง ซึ่งจำนวนครั้งและระยะเวลาอาจขึ้นอยู่กับชนิดของการเจ็บป่วย และพัฒนาการในการควบคุมร่างกายของผู้ป่วย เพราะความสำเร็จและจุดประสงค์ของการฝึกนี้ คือ ผู้ป่วยสามารถเข้าใจกลไกการทำงานของร่างกาย สามารถควบคุมและจับจุดได้เองที่บ้านโดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์วัดสัญญาณชีพ

ปัญหาสุขภาพที่ Biofeedback อาจช่วยได้

แม้ว่า Biofeedback อาจไม่ครอบคลุมทุกโรค แต่ผู้ป่วยโรคต่อไปนี้สามารถฝึก Biofeedback เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

  • อาการปวดเรื้อรังและโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง เช่น อาการปวดท้องเรื้อรัง อาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ภาวะความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Disoder) เป็นต้น
  • โรควิตกกังวลและโรคเครียด
  • โรคหืดหอบ (Asthma)
  • โรคสมาธิสั้น (ADHD)
  • ท้องผูก ภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้ และภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้
  • อาการปวดศีรษะ และปวดไมเกรน
  • ภาวะความดันโลหิตสูง
  • โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
  • โรคเรเนาด์หรือโรคที่หลอดเลือดหดตัวจากความเครียดและความเย็น
  • อาการหูอื้อหรือได้ยินเสียงในหู
  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคลมชัก

นอกจากนี้อาจมีโรคอื่น ๆ ที่ Biofeedback อาจช่วยควบคุมอาการได้ แต่ Biofeedback ไม่ใช่วิธีการรักษาหลัก โดยอาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายขั้นตอนการรักษาที่แพทย์อาจแนะนำเพื่อช่วยลดความรุนแรงของอาการและความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อน เสริมประสิทธิภาพในการใช้ยา และเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วยเท่านั้น

ดังนั้นผู้ป่วยควรเริ่มโดยการเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการหลัก หากแพทย์เห็นว่า Biofeedback อาจเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับขั้นตอนดังกล่าว

สุดท้ายนี้ผู้ป่วยควรเข้ารับการฝึก Biofeedback ตามที่นักบำบัดแนะนำเพื่อฝึกการควบคุมร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเอง