ไดอะซีแพม (Diazepam)

ไดอะซีแพม (Diazepam)

ไดอะซีแพม (Diazepam) เป็นยากลุ่มเบนโซไดอาซีปีน (Benzodiazepine) ที่ใช้รักษาโรคนอนไม่หลับ โรควิตกกังวล และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น อาการถอนยาจากแอลกอฮอล์ กล้ามเนื้อหดเกร็ง รวมถึงนำมาใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นเพื่อรักษาอาการชัก โดยตัวยาออกฤทธิ์ต่อสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุลกัน ส่งผลให้อาการต่าง ๆ ดีขึ้นได้

การใช้ยาไดอะซีแพมอาจกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยควรใช้ยาตามที่แพทย์แนะนำ ไม่ใช้ยาเกินขนาดและผิดวัตถุประสงค์ เพราะอาจก่อให้เกิดการเสพติดหรือเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

ยานอนหลับ ไดอะซีแพม

เกี่ยวกับยา Diazepam

กลุ่มยา ยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepine)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์
สรรพคุณ รักษาโรคนอนไม่หลับ วิตกกังวล
กลุ่มผู้ป่วย เด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category D จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิตหรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้ และผู้ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร เพราะตัวยาอาจซึมผ่านน้ำนมแม่ไปสู่ทารก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาฉีด ยาเหน็บทวารหนัก

คำเตือนของการใช้ยา Diazepam

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • จ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยา ส่วนประกอบของยาไดอะซีแพมหรือยาเบนโซไดอะซีปีน หรือยาชนิดอื่น ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวใด ๆ เช่น มีปัญหาในการหายใจ ต้อหิน โรคไต โรคตับ ชัก ติดสารเสพติดหรือสุรา โรคซึมเศร้า โรคทางกล้ามเนื้อบางชนิด โรคความผิดปกติทางจิต และมีความคิดหรือพยายามฆ่าตัวตาย
  • ห้ามใช้ยา Diazepam ในผู้ที่แพ้ยานี้หรือผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis: MG) มีปัญหาในการหายใจที่รุนแรง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ต้อหินมุมปิด ต้อหินมุมเปิดที่ไม่ได้รับการรักษาหรือควบคุมไม่ได้ และโรคตับที่รุนแรง 
  • ญาติผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการและพฤติกรรมของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เนื่องจากยานี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยบางรายมีความคิดฆ่าตัวตายได้
  • ผู้สูงอายุอาจไวต่อผลข้างเคียงจากยามากกว่าช่วงวัยอื่น โดยเฉพาะอาการง่วงซึมและอวัยวะในร่างกายทำงานไม่ประสานกันซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มได้
  • หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะตัวยาอาจทำให้ง่วงซึม เวียนศีรษะ หรือมองเห็นเป็นภาพเบลอ
  • ขณะใช้ยา Diazepam ให้หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้เวียนศีรษะและง่วงซึมมากขึ้น และหลีกเลี่ยงการรับประทานเกรปฟรุต (Grapefruit) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงได้
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้ที่วางแผนมีบุตร และผู้ให้นมบุตรไม่ควรรับประทานยานี้โดยปราศจากคำสั่งของแพทย์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอด
  • ห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี โดยไม่ปรึกษาแพทย์

ปริมาณการใช้ยา Diazepam

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Diazepam เพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับและโรควิตกกังวลจะมีดังนี้

โรคนอนไม่หลับ
ตัวอย่างการใช้ยา Diazepam เพื่อรักษาโรคนอนไม่หลับจากความวิตกกังวล   

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 5–15 มิลลิกรัม ในเวลาก่อนนอน

ผู้สูงอายุ รับประทานยาปริมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่   

โรควิตกกังวลที่รุนแรง
ตัวอย่างการใช้ยา Diazepam เพื่อรักษาโรควิตกกังวลที่รุนแรง

เด็ก รับประทานยาปริมาณ 1–2.5 มิลลิกรัม 3–4 ครั้ง/วัน โดยอาจค่อย ๆ เพิ่มปริมาณยาตามความจำเป็นและความทนต่อยาของผู้ป่วย 

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2–10 มิลลิกรัม 2–4 ครั้ง/วัน โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วย หากเป็นยารูปแบบยาฉีดจะฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ หรือเข้าทางกล้ามเนื้อปริมาณ 2–10 มิลลิกรัม อาจฉีดยาซ้ำอีกครั้งโดยเว้นระยะห่าง 4 ชั่วโมง 

ผู้สูงอายุ รับประทานยาหรือฉีดยาปริมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่ 

อาการชัก
ตัวอย่างการใช้ยา Diazepam เพื่อรักษาอาการชัก

เด็กอายุ 1 เดือนจนถึงอายุต่ำกว่า 5 ปี ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ปริมาณ 0.2–0.5 มิลลิกรัม ทุก 2–5 นาที จนถึงปริมาณยาสูงสุดที่ 5 มิลลิกรัม 

เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ปริมาณ 1 มิลลิกรัม ทุก 2–5 นาที จนถึงปริมาณยาสูงสุดที่ 10 มิลลิกรัม หากจำเป็นอาจต้องฉีดยาซ้ำใน 2–4 ชั่วโมง  

ผู้ใหญ่ ฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำช้า ๆ ปริมาณ 10–20 มิลลิกรัม หากจำเป็นหลังผ่านไปแล้ว 30–60 นาที ให้ฉีดยาซ้ำอีกครั้ง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ภายใน 24 ชั่วโมง 

เสริมการรักษาอาการชัก
ตัวอย่างการใช้ยา Diazepam เพื่อใช้เสริมการรักษาอาการชัก

เด็กอายุ 2–5 ปี ใช้ยาเหน็บทวารในปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากจำเป็นหลังผ่านไปแล้ว 4–12 ชั่วโมง ให้ใช้ยาซ้ำอีกครั้ง

เด็กอายุ 6–11 ปี ใช้ยาเหน็บทวารในปริมาณ 0.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากจำเป็นหลังผ่านไปแล้ว 4–12 ชั่วโมง ให้ใช้ยาซ้ำอีกครั้ง

เด็กอายุ 12 ขึ้นไป ใช้ยาเหน็บทวารในปริมาณ 0.2 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากจำเป็นหลังผ่านไปแล้ว 4–12 ชั่วโมง ให้ใช้ยาซ้ำอีกครั้ง 

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 2–60 มิลลิกรัม โดยแบ่งรับประทานวันละหลายครั้ง หรือใช้ยาเหน็บทางทวารในปริมาณ 0.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม อาจใช้ยาซ้ำทุก 12 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 30 มิลลิกรัม

ผู้สูงอายุ ใช้ยารูปแบบรับประทานหรือยาเหน็บทวารในปริมาณครึ่งหนึ่งของผู้ใหญ่

ทั้งนี้ แพทย์จะเป็นผู้แนะนำยา Diazepam ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสมในการรักษาโรคและอาการด้านอื่น ๆ และผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำสั่งของแพทย์เท่านั้น

การใช้ยา Diazepam

ผู้ป่วยควรใช้ยาในปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์กำหนดเท่านั้น ไม่ควรใช้ยาเกินขนาดหรือผิดวัตถุประสงค์ และควรปรึกษาแพทย์หากรู้สึกว่ายาใช้ไม่ได้ผลหรืออาการแย่ลง โดยในระหว่างที่ใช้ยานี้ผู้ป่วยอาจต้องตรวจวัดความดันโลหิตหรือตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ อยู่เสมอ

ผู้ป่วยควรใช้ยา Diazepam ในช่วงเวลาสั้น ๆ ห้ามใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 4 เดือนหากปราศจากคำแนะนำจากแพทย์ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดใช้ยาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์ โดยเฉพาะหากเคยใช้ยาติดต่อกันมาเป็นเวลานาน เพราะอาจไปเพิ่มความเสี่ยงของอาการชักหรืออาการถอนยาซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หากต้องการหยุดใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนหยุดใช้ยาอย่างเหมาะสม

หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดและเกิดอาการที่รุนแรง เช่น ง่วงซึมอย่างรุนแรง ร่างกายเสียสมดุลหรืออวัยวะในร่างกายทำงานไม่ประสานกัน กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจช้าลง หรือโคม่า 

ปฏิกิริยาระหว่างยา Diazepam กับยาอื่น

ยา Diazepam อาจทำปฏิกิริยากับยาที่แพทย์สั่งจ่าย ยาหาซื้อได้เอง วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิดจนเกิดอาการไม่พึงประสงค์อย่างรู้สึกง่วงหรือหายใจช้าลง และอาจทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงได้ เช่น

  • ยารักษาโรคทางจิตเวช เช่น ยาโคลซาปีน (Clozapine) ยาฟลูวอกซามีน (Fluvoxamine) และยาโซเดียมออกซีเบต (Sodium Oxybate) 
  • ยารักษาโรคอ้วนอย่างยาออริสแตท (Orlistat
  • ยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์ (Opioids) เช่น ยาโคเดอีน (Codeine) 
  • ยานอนหลับ ยารักษาโรควิตกกังวล เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) และยาลอราซีแพม (Lorazepam) 
  • ยาแก้แพ้ เช่น ยาเซทิริซีน (Cetirizine) และยาไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine)  
  • ยากันชักบางชนิด 

ตัวอย่างยาและสมุนไพรดังข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยา Diazepam เท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงของยา Diazepam

การใช้ยาไดอะซีแพมอาจส่งผลให้ง่วงซึม รู้สึกเหนื่อยล้า กล้ามเนื้ออ่อนแรง ร่างกายสูญเสียความสมดุล ซึ่งหากอาการเหล่านี้แย่ลงหรือไม่ดีขึ้น ควรแจ้งให้แพทย์ทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ แต่หากพบอาการต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์โดยเร็ว

  • ปัสสาวะน้อยหรือไม่ปัสสาวะเลย
  • ลมหายใจอ่อนแรง หายใจช้า
  • มึนงง เห็นภาพหลอน มีความคิดและมีพฤติกรรมที่ต่างไปจากที่เคย
  • ทำกิจกรรมเสี่ยงโดยไม่เกรงกลัวอันตราย ขาดความยับยั้งชั่งใจ
  • อยู่ไม่นิ่ง กระสับกระส่าย ก้าวร้าว ไม่เป็นมิตร
  • ซึมเศร้า มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย หรือทำร้ายตัวเอง
  • กล้ามเนื้อกระตุก ตัวสั่น
  • เกิดอาการชักหรือทำให้อาการชักแย่ลงไปอีก
  • มีสัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น ผื่นขึ้น หายใจติดขัด หรือมีอาการบวมบริเวณใบหน้า ปาก ลิ้น และลำคอ

ผู้ป่วยควรเฝ้าระวังอาการหลังจากใช้ยา Diazepam หากเกิดมีความคิด พฤติกรรม หรือเริ่มมีอาการที่เป็นอันตราย ควรรีบเข้ารับการรักษาจากแพทย์ทันที