นอนไม่หลับ

ความหมาย นอนไม่หลับ

นอนไม่หลับ (Insomnia) เป็นโรคความผิดปกติในการนอน นอนยาก ไม่ง่วงเมื่อถึงเวลานอน นอนหลับไม่สนิท นอนแล้วตื่นกลางดึก ตื่นแล้วกลับไปนอนไม่ได้อีก หรือแม้จะรู้สึกอ่อนเพลียเพียงใดก็ไม่สามารถนอนหลับได้ 

ผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับแล้วไม่รับการแก้ไขอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่รบกวนจิตใจและกระบวนการทำงานของร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน การทำงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้

นอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับมีอาการสำคัญ เช่น

  • นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ใช้เวลานานกว่าจะนอนได้
  • หลับยาก นอนดึก ตื่นสาย
  • นอนหลับ ๆ ตื่น ๆ รู้สึกตัว ตื่นขึ้นกลางดึก
  • ตื่นแล้วไม่สามารถนอนหลับต่อไปได้อีก
  • อ่อนล้า หมดแรง ไม่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า
  • ง่วงนอนตลอดเวลาในตอนกลางวัน นอนไม่หลับในตอนกลางคืน
  • ร่างกายอ่อนเพลีย ต้องการการพักผ่อน แต่ก็ยังนอนไม่หลับ หลับยาก 
  • ไม่มีสมาธิ ทำงานผิดพลาด ความจำไม่ดี

โดยปกติ คนเรามีชั่วโมงการนอนที่แตกต่างกันตามช่วงอายุ โดยจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมสำหรับการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอในแต่ละวัยเป็นดังนี้

  • เด็กแรกเกิด 14–17 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 1 ปี 14 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 2 ปี 12–14 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 3–5 ปี 10–13 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 6–13 ปี 9–11 ชั่วโมงต่อวัน
  • อายุ 14–17 ปี 8–10 ชั่วโมงต่อวัน
  • ผู้ใหญ่ 7–9 ชั่วโมงต่อวัน

ส่วนผู้สูงอายุจะมีชั่วโมงการนอนที่สั้นลง เพราะร่างกายสามารถผลิตสารที่ช่วยให้นอนหลับได้ลดน้อยลง

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ

การนอนไม่หลับเกิดจากหลายสาเหตุปัจจัย ดังนี้

ปัจจัยทางด้านร่างกาย

ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยของโรคอยู่แล้ว หรือเจ็บปวดตามจุดและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับแทรกซ้อน เช่น โรคกระเพาะอาหาร ไมเกรน ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ โรคมะเร็ง หรือโรคการหายใจผิดปกติขณะนอนหลับ (Sleep Related Breathing Disorders) 

กรนขณะนอนหลับก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่สัมพันธ์ต่ออาการนอนไม่หลับ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะหยุดหายใจเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และตื่นขึ้นมาเรื่อย ๆ ในขณะนอนหลับ ความผิดปกติของกล้ามเนื้อที่ทำให้เกิดการเกร็งและการกระตุก อาจทำให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นกลางดึก นอนหลับไม่สนิทหรือนอนไม่หลับอีกเลยได้เช่นกัน

อีกส่วนหนึ่งคือ ฮอร์โมนและสภาพร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป ปกติเมื่อร่างกายเจริญเติบโตตามช่วงวัยต่าง ๆ และมีอายุเพิ่มมากขึ้น ความต้องการในการนอนหลับพักผ่อนจะลดน้อยลง เพราะร่างกายจะผลิตสารเซโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับได้ในปริมาณที่ผิดปกติ จึงมักพบปัญหาการนอนไม่หลับได้มากในช่วงวัยกลางคนเข้าสู่วัยชรา วัยชรา และผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์

ปัจจัยทางด้านจิตใจ

หากเรารู้สึกวิตกกังวล ซึมเศร้า หดหู่ ดีใจ หรือตื่นเต้น ประหม่าจนเกิดเป็นความเครียด อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนอนหลับตามปกติได้

ปัจจัยภายนอก

สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอาจรบกวนประสาทสัมผัสในขณะนอนหลับได้ เช่น เสียงดังรบกวน แสงที่สว่างจ้า และการรับรู้กลิ่นต่าง ๆ ที่มากเกินไป การเข้ารับการรักษาบางชนิดก็มีผลให้ผู้ป่วยเกิดความเจ็บปวดจนนอนไม่หลับ เช่น การทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) ในผู้ป่วยมะเร็งหรือที่เรียกกันว่าคีโม หรืออาการเจ็บปวดจากแผลผ่าตัด 

การรักษาด้วยยาบางชนิดก็มีผลต่อการนอนไม่หลับ เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Corticosteroids) อย่างคอร์ติโซน (Cortisone) เมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) และเพรดนิโซน (Prednisone) ที่ใช้รักษาการอักเสบของเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของต่อมหมวกไต ส่งผลต่อประสาทการรับรู้และการตอบสนอง ทำให้ร่างกายตื่นตัวจนนอนไม่หลับ 

รวมไปถึงกลุ่มยาต้านเศร้า (Antidepressants) อย่างซิตาโลแพรม (Citalopram) เอสซิตาโลแพรม (Escitalopram) และฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) ที่ส่งผลต่อสารสื่อประสาทเซโรโทนิน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่ควบคุมประสาทการรับรู้ ความรู้สึก และการตอบสนองต่อสิ่งเร้า ดังนั้น การรักษาและใช้ยาบางชนิดจึงควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์

ปัจจัยอื่น ๆ

นอกจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น อาการนอนไม่หลับอาจเกิดจากลักษณะนิสัยเฉพาะตัว การนอนผิดเวลาไปจากเวลาปกติที่ร่างกายคุ้นเคย เช่น การทำงานเป็นกะ หรือการปรับตัวไม่ทันจากการเดินทางข้ามเขตเวลาโลก (Jet Lag)  

การกินอาหารที่มากเกินไปก่อนนอนทำให้นอนหลับไม่สบายตัว การดื่มและใช้สารเสพติด เช่น คาเฟอีนในกาแฟหรือชา นิโคตินในบุหรี่ และยาเสพติดต่าง ๆ ที่มีสารกดประสาททำให้นอนไม่หลับ รวมทั้งการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งแม้จะทำให้ผู้ดื่มง่วงนอนในตอนแรก แต่จะมีฤทธิ์กระตุ้นให้นอนหลับไม่สนิทหรือตื่นขึ้นมากลางดึกได้

การวินิจฉัยอาการนอนไม่หลับ

ในเบื้องต้นอาจสังเกตอาการนอนไม่หลับและบันทึกพฤติกรรมการนอนของตนเองในช่วง 2 สัปดาห์ เช่น นอนยากหรือไม่ ต้องใช้เวลานานเกินกว่า 30 นาทีเพื่อนอนให้หลับ หรือตื่นขึ้นกลางดึกแล้วไม่สามารถกลับไปนอนหลับได้อีก มีสภาพแวดล้อมที่รบกวนในขณะนอนหรือไม่ มีเรื่องให้คิดรบกวนจิตใจหรือไม่ และมีอาการอ่อนเพลียเหนื่อยล้ามากผิดปกติในเวลากลางวันหรือไม่

สำหรับการวินิจฉัยโดยแพทย์ แพทย์จะซักถามประวัติการนอนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา หาสาเหตุทางด้านร่างกาย เช่น มีโรคประจำตัว หรือมีการเจ็บป่วยอื่นด้วยหรือไม่ นอนกรนหรือไม่ และหาสาเหตุทางด้านจิตใจ เช่น มีความเครียด อยู่ในภาวะซึมเศร้า หรือมีความวิตกกังวลใดอยู่หรือไม่ เพื่อหาแนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

การรักษาอาการนอนไม่หลับ

โรคนอนไม่หลับอาจรักษาด้วยวิธีต่าง ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้

การดูแลตนเอง

ผู้ป่วยอาจต้องปรับตัวด้วยการนอนและตื่นนอนตามเวลาเดิมเป็นประจำ นอนหลับให้เพียงพอตามกับความต้องการตามวัยของตน หลีกเลี่ยงการหมกมุ่นอยู่กับความคิดฟุ้งซ่าน ความเครียด และความวิตกกังวล ทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายก่อนเข้านอน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนอย่างชาหรือกาแฟ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด

การรักษาด้วยยา

ยาบางชนิดต้องใช้ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์และสั่งยาโดยแพทย์เท่านั้น ตัวอย่างยาที่ใช้ในการรักษานอนไม่หลับก็เช่น

  • กลุ่มยาเมลาโทนิน (Melatonin) เป็นยาที่ใช้เพื่อเพิ่มระดับฮอร์โมนเมลาโทนิน มักใช้เมื่อเกิดปัญหา Jet Lag 
  • ยาต้านเศร้า (Antidepressant) หรือยารักษาอาการทางจิต (Antipsychotics) ช่วยผ่อนคลายและลดอาการวิตกกังวล ทำให้นอนหลับง่ายและหลับสนิท โดยจะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้ของภาวะซึมเศร้าหรืออาการทางจิตที่เกิดขึ้นร่วมกับการนอนไม่หลับเท่านั้น 
  • ยานอนหลับอย่างยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ที่มีฤทธิ์ช่วยคลายเครียด คลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้นอนหลับลึกและยาวนาน

การบำบัดและการรักษาทางการแพทย์

วิธีนี้ประกอบด้วยการวัดระดับความรุนแรงของอาการด้วยเครื่องมือและแบบทดสอบทางการแพทย์ การให้คำปรึกษา การบำบัดด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อให้เกิดภาวะผ่อนคลาย เช่น ดนตรีบำบัด วารีบำบัด หรือการบำบัดแบบปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) 

ภาวะแทรกซ้อนของอาการนอนไม่หลับ

สิ่งที่อาจตามมาหลังเผชิญกับอาการนอนไม่หลับคือ ผลกระทบต่อสภาพร่างกาย สภาพจิตใจ และการใช้ชีวิต เช่น ร่างกายอ่อนล้าในตอนกลางวัน ระบบความจำมีปัญหา ทำให้เรียนหรือทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอันเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่นด้วยอย่างการหลับในขณะใช้รถใช้ถนนหรือใช้เครื่องจักร

การพักผ่อนไม่เพียงพอยังอาจทำให้ระบบเผาผลาญพลังงานภายในร่างกายทำงานได้ไม่เต็มที่อาจก่อให้เกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หรือเกิดภาวะอ้วนตามมา และการนอนไม่หลับเรื้อรังอาจส่งผลต่อสุขภาพจิต เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล และเสี่ยงต่อการใช้สารเสพติดหรือแอลกอฮอล์เพื่อช่วยในการนอนหลับมากยิ่งขึ้น

การป้องกันอาการนอนไม่หลับ

การแก้ปัญหาอาการนอนไม่หลับควรพิจารณาตามความรุนแรงของอาการ หากนอนไม่หลับไม่เกิน 1 สัปดาห์ หรือมีอาการเพียงบางช่วงที่มีปัจจัยต่าง ๆ มากระทบ และไม่ได้มีอาการอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง คนที่นอนไม่หลับสามารถดูแลตนเองให้ผ่านพ้นภาวะนี้ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ปรับพฤติกรรมการนอน โดยเข้านอนให้เป็นเวลา ไม่งีบหลับในระหว่างวัน และนอนเมื่อง่วงนอน ไม่พยายามกดดันตัวเองเพื่อให้นอนหลับ เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงเป็นความวิตกกังวลและทำให้นอนหลับยากยิ่งขึ้น แต่ควรหากิจกรรมที่ผ่อนคลายทำก่อนนอน เช่น การอ่านหนังสือหรือการฟังเพลงเบา ๆ
  • เปลี่ยนสภาพแวดล้อมให้มีความผ่อนคลาย จัดห้องใหม่ให้อากาศถ่ายเทสะดวก กำจัดสิ่งรบกวนในบริเวณห้อง หรือย้ายที่พักไปสู่สภาพแวดล้อมที่สงบ สบาย และน่าอยู่อาศัย
  • รับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัยและมีประโยชน์ทางโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดี ปราศจากโรคภัยและความเจ็บป่วย โดยงดรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนเข้านอน และหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มและการใช้ยาที่มีสารกระตุ้นต่าง ๆ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย แต่ควรเว้นระยะการออกกำลังกายให้ห่างจากการเข้านอนอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้นอนหลับยากมากยิ่งขึ้น
  • ลดความตึงเครียดจากการใช้ชีวิตประจำวัน หลีกเลี่ยงความขัดแย้งอันเป็นที่มาของการเกิดความเครียด เปลี่ยนมุมมองใหม่ให้ชีวิต คิดในแง่บวก มองหาความสุขง่าย ๆ จากสิ่งรอบตัว เข้าใจชีวิต และรู้จักการปล่อยวาง