ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ความหมาย ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea: OSA) คือภาวะที่กล้ามเนื้อบริเวณลำคอเกิดการคลายตัวเป็นช่วง ๆ ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกปิดกั้นในขณะนอนหลับ ผู้ป่วยจะกรนเสียงดังและหายใจลำบากในขณะนอนหลับ เมื่อระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตและการทำกิจกรรมในระหว่างวัน พบได้มากในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน หากมีอาการไม่รุนแรงสามารถรักษาได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์ ออกกำลังกายเป็นประจำ เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เป็นต้น

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ผู้ที่นอนอยู่ข้าง ๆ มักจะเป็นผู้ที่สังเกตอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ เช่น กรนเสียงดัง หายใจลำบาก ติดขัด หรือหายใจเสียงดังออกทางจมูก หรือสามารถพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้

  • ง่วงมากในระหว่างวัน
  • ปวดศีรษะในช่วงเช้า
  • ปากแห้ง หรือเจ็บคอ
  • สมาธิลดลง
  • เหงื่อออกมากในขณะนอนหลับ
  • ตื่นกลางดึกจากการหายใจไม่ออกหรือสำลัก
  • อารมณ์เปลี่ยนแปลง เช่น หงุดหงิด หรือหดหู่
  • ความดันโลหิตสูง
  • ความต้องการทางเพศลดลง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ที่นอนกรน และการนอนกรนอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ ได้ ควรไปปรึกษาแพทย์หากพบว่ามีการกรนเสียงดังรบกวนการนอนของตัวเองหรือผู้ที่นอนอยู่ข้าง ๆ ตื่นกลางดึกจากการหายใจไม่ออกหรือสำลัก หยุดหายใจเป็นระยะในขณะนอนหลับ หรือรู้สึกง่วงมากขณะทำกิจกรรมระหว่างวัน

สาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เมื่อกล้ามเนื้อที่บริเวณหลังลำคอ รวมถึงเพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล และลิ้น คลายตัวมากเกินไปจะทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกปิดกั้นในขณะหายใจเป็นเวลาประมาณ 10-20 วินาที สามารถเกิดขึ้นซ้ำได้ตั้งแต่ 5-30 ครั้งหรือมากกว่านั้นในทุก ๆ 1 ชั่วโมง นานตลอดทั้งคืน จะส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง ตื่นกลางดึกจากการหายใจไม่ออกหรือสำลัก นอนหลับไม่สนิท และทำให้รู้สึกง่วงในระหว่างวัน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับอาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

  • น้ำหนักตัวเกิน ทำให้ไขมันไปสะสมที่เนื้อเยื่อในลำคอมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีคอหนาหรือมีขนาดของรอบคอมากกว่า 43 เซนติเมตร จะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง หายใจลำบากมากขึ้น และเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • ทางเดินหายใจแคบ อาจเป็นผลมาจากพันธุกรรม หรือมีต่อมทอนซิลหรือต่อมแอดีนอยด์ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองอยู่บริเวณหลังโพรงจมูกและลำคอโต ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงหรือถูกปิดกั้น
  • เยื่อบุโพรงจมูกบวมโตหรือภาวะคัดจมูก รวมถึงผู้ที่มีผนังกั้นช่องจมูกคดและผู้ป่วยริดสีดวงจมูก จะทำให้ทางเดินหายใจแคบลง และมีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากถึง 2 เท่าของคนทั่วไป
  • เพศ เพศชายจะมีโอกาสเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้มากกว่าเพศหญิงถึง 2 เท่า และสำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอคลายตัวมากกว่าปกติ
  • พันธุกรรม พบได้มากในผู้ที่สมาชิกในครอบครัวมีประวัติการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • อายุ ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกวัย แต่จะพบมากขึ้นในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
  • โรคประจำตัว เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหอบหืด เป็นต้น
  • พฤติกรรมต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากโดยเฉพาะในช่วงก่อนนอน รวมถึงการรับประทานยาระงับประสาท ยาคลายเครียด หรือยานอนหลับ เป็นต้น

การวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

แพทย์จะวินิจฉัยภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากอาการของผู้ป่วย ตรวจร่างกายหาความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่บริเวณลำคอ ปาก และจมูก วัดความหนาของลำคอ รอบเอว และความดันโลหิต รวมถึงทำการทดสอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจสุขภาพการนอนหลับ อาจต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลเพื่อศึกษาและวิเคราะห์การนอนหลับโดยผู้เชี่ยวชาญ จะมีการติดตั้งเครื่องมือหรืออุปกรณ์ตรวจจับและบันทึกสัญญาณต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น คลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ รูปแบบและอัตราการหายใจ ระดับออกซิเจนในเลือด ระยะของการนอนหลับ การเคลื่อนไหวของดวงตา การเคลื่อนไหวของขาขณะนอนหลับ เป็นต้น หรือในบางกรณีแพทย์อาจให้ผู้ป่วยตรวจสุขภาพการนอนหลับเองที่บ้าน

ความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถวัดจากจำนวนครั้งของการหยุดหายใจใน 1 ชั่วโมง หรือเรียกว่าดัชนีการหยุดหายใจและหายใจแผ่ว (Apnea-Hypopnoea Index: AHI) โดยแบ่งได้ 3 ระดับ ดังนี้

  • ความรุนแรงน้อย จะมีค่าดัชนีการหยุดหายใจที่ 5-14 ครั้งต่อชั่วโมง
  • ความรุนแรงปานกลาง จะมีค่าดัชนีการหยุดหายใจที่ 15-30 ครั้งต่อชั่วโมง
  • ความรุนแรงมาก จะมีค่าดัชนีการหยุดหายใจตั้งแต่ 30 ครั้งต่อชั่วโมงขึ้นไป

การรักษาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

เบื้องต้นแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยภาวะหยุดหายใจขณะหลับในระดับที่ไม่รุนแรงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน ออกกำลังกายเป็นประจำ เลิกสุบบุหรี่ เปลี่ยนท่านอนจากนอนหงายเป็นนอนตะแคง เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง แพทย์อาจมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้

  • เครื่องมือในช่องปากแบบกึ่งสำเร็จรูปชนิดปรับได้ (Mandibular Advancement Device: MAD) โดยจัดระเบียบกรามและลิ้นให้ขยับขึ้นมาด้านหน้า เพื่อช่วยเพิ่มพื้นที่บริเวณหลังคอ ทำให้ผู้ป่วยกรนน้อยลง เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงน้อย
  • เครื่องเป่าความดันลมเพื่อขยายทางเดินหายใจ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) มีลักษณะเป็นหน้ากากสวมใส่ที่บริเวณจมูกและปาก ซึ่งจะช่วยส่งอากาศอย่างต่อเนื่องไปยังระบบทางเดินหายใจในขณะที่นอนหลับ เพื่อลดการอุดกั้นของทางเดินหายใจส่วนบน บรรเทาอาการกรน ความอ่อนเพลียหรือเมื่อยล้าในระหว่างวัน เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีความรุนแรงปานกลางถึงมาก
  • การผ่าตัด แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดในกรณีที่การรักษาด้วยอุปกรณ์ข้างต้นไม่สามารถบรรเทาอาการของผู้ป่วยลงได้ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับมีอาการรุนแรงและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย การผ่าตัดอาจทำได้หลายวิธีดังต่อไปนี้
    • การผ่าตัดต่อมทอนซิล ในกรณีที่ต่อมทอนซิลโตและอุดกั้นทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ
    • การผ่าตัดต่อมแอดีนอยด์ เป็นต่อมขนาดเล็กที่อยู่เหนือต่อมทอนซิล หากต่อมโตจะอุดกั้นทางเดินหายใจในขณะนอนหลับ
    • การผ่าตัดเพดานอ่อน เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้เนื้อเยื่อและลดการสั่นของเพดานอ่อนในขณะนอนหลับ ซึ่งเป็นสาเหตุของการนอนกรน หรือการผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณลิ้นไก่และเพดานอ่อน
    • การผ่าตัดรัดกระเพาะอาหารให้มีขนาดเล็กลง ในกรณีที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวเกินหรือเป็นโรคอ้วน ซึ่งจะส่งผลให้อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับแย่ลงได้
  • การเจาะคอและใส่ท่อที่ลำคอ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้สะดวกมากขึ้นในขณะนอนหลับ มักใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายในการรักษา
  • การรักษาโดยใช้ยา เช่น มอนเทลูคาส ลิวโคทรีน หรือยาสเตียรอยด์พ่นจมูก จะช่วยบรรเทาอาการในเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบไม่รุนแรง

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

อาการที่สำคัญของภาวะหยุดหายใจขณะหลับคือการนอนกรน ซึ่งนอกจากจะสร้างความรำคาญให้บุคคลที่นอนข้าง ๆ แล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ดังต่อไปนี้

  • ง่วงซึม อ่อนเพลีย หรือเมื่อยล้าในระหว่างวัน มีอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลง โกรธ หงุดหงิด หรือฉุนเฉียวง่ายขึ้น สมาธิในการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง โดยเป็นผลมาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำให้ตื่นกลางดึกบ่อย ๆ นอนหลับไม่สนิท หรือไม่เพียงพอ หากเกิดขึ้นในเด็กแล้วปล่อยไว้หรือไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้เลี้ยงไม่โต สมาธิลดลง การเรียนแย่ พฤติกรรมเปลี่ยนไป ปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น
  • ปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือด การหยุดหายใจบ่อย ๆ จะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง และความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับอย่างรุนแรงจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจวายหรือหัวใจล้มเหลว และโรคหลอดเลือดสมอง รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งจะทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง หากผู้ป่วยเป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว แล้วระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลงซ้ำ ๆ อาจทำให้เสียชีวิตกะทันหัน สำหรับเด็ก อาจพบอาการหน้าอกบุ๋ม เขียว หายใจลำบาก
  • ปัญหาการมองเห็น รายงานการศึกษาวิจัยพบความเกี่ยวข้องระหว่างภาวะหยุดหายใจขณะหลับกับปัญหาการมองเห็น เช่น ต้อหิน เป็นต้น
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการรักษา เช่น การใช้ยาระงับประสาท ยาระงับปวดชนิดเสพติด หรือยาสลบ จะช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ระบบทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งจะส่งผลต่อการหายใจ และหลังการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดผู้ป่วยอาจมีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้อาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับแย่ลงได้

การป้องกันภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

การป้องกันสามารถทำได้โดยการลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน และปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • ลดน้ำหนัก โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกิน จะช่วยลดการหดตัวของทางเดินหายใจ ลดการกรน และทำให้ไม่ง่วงในระหว่างวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เช่น แอโรบิก หรือเพิ่มความแข็งแรงให้กับร่างกาย จะช่วยบรรเทาอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับลงได้
  • นอนตะแคง เพราะการนอนหงายจะเพิ่มโอกาสให้ลิ้นไปปิดกั้นทางเดินหายใจ หากกังวลว่าจะกลับมานอนหงายในระหว่างการนอนหลับ ให้ลองเย็บกระเป๋าเล็ก ๆ บริเวณด้านหลังเสื้อนอน แล้วใส่ลูกเทนนิสลงไป
  • เลิกสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่เป็นสาเหตุให้คัดจมูก และหายใจไม่สะดวก
  • ลดปริมาณหรือหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเข้านอน หรือหลีกเลี่ยงการใช้ยานอนหลับและยาระงับประสาท เพื่อลดโอกาสที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณลำคอคลายตัวและปิดกั้นทางเดินหายใจ