ทำความรู้จักยากลุ่ม Opioids ยาแก้ปวดที่อาจเสพติดได้

ยากลุ่ม Opioids อาจไม่คุ้นหูใครหลายคน แต่ถ้าพูดถึงยาทรามาดอล หรือยามอร์ฟีน จะต้องร้องอ๋อกันแน่ ๆ ซึ่งยากลุ่มนี้มักจะปลอดภัยต่อร่างกายหากใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด แต่หากใช้ผิดวัตถุประสงค์หรือผิดวิธีอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือทำให้ผู้ป่วยเสพติดการใช้ยาได้

จริง ๆ แล้ว ยากลุ่ม Opioids บางตัวถือเป็นยาควบคุมตามกฎหมาย ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถหาซื้อตามร้านขายยาทั่วไป จำหน่าย ผลิต หรือครอบครองยาได้ มิฉะนั้นอาจต้องถูกปรับหรือจำคุกตามที่กฎหมายกำหนด การจะใช้ยาจึงต้องอยู่ภายใต้คำสั่งจากแพทย์เท่านั้น บทความนี้จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับยา Opioids และความเสี่ยงของยาที่อาจเกิดขึ้น เพื่อการใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัยกัน

ทำความรู้จักยากลุ่ม Opioids ยาแก้ปวดที่อาจเสพติดได้

ข้อควรรู้เกี่ยวกับยากลุ่ม Opioids

ยากลุ่มโอปิออยด์เป็นกลุ่มยาระงับปวดที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ใช้รักษาอาการปวดในระดับปานกลางถึงรุนแรง ทั้งที่เกิดขึ้นอย่างฉับพลันและเรื้อรัง จากการบาดเจ็บ การผ่าตัด หรือปัญหาสุขภาพอย่างอาการไอ ท้องเสีย ข้อเท้าแพลง หรือโรคมะเร็ง อีกทั้งยาบางตัวยังช่วยแก้อาการติดยากลุ่มโอปิออยด์ด้วยกันเอง 

นอกจากช่วยลดอาการปวดแล้ว ยากลุ่ม Opioids ยังทำให้รู้สึกผ่อนคลาย เคลิบเคลิ้ม มีความสุขหรือเมา จึงอาจก่อให้เกิดการใช้ยาในทางที่ผิด เสพติดการใช้ยา หรือใช้ยาเกินขนาด ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านสุขภาพและด้านยาเสพติดที่พบได้ไม่น้อยในประเทศไทย โดยตัวอย่างของยาในกลุ่ม Opioids เช่น

  • ยาโคเดอีน (Codeine)
  • ยาทรามาดอล (Tramadol)
  • ยาออกซิโคโดน (Oxycodone)
  • ยาเมเพอริดีน (Meriridine) หรือเพทธิดีน (Pehtidine)
  • ยาเฟนทานิล (Fentanyl) 
  • ยาเมทาโดน (Methadone)
  • ยามอร์ฟีน (Morphine) 

ผู้ที่มีประวัติทางสุขภาพ โรคประจำตัว หรือกำลังใช้ยา สมุนไพร หรืออาหารเสริมใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยาในกลุ่มนี้ และตัวผู้ป่วยเองก็ควรใช้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดและระมัดระวังที่สุด เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ 

ความเสี่ยงของการใช้ยากลุ่ม Opioids

โดยทั่วไปการใช้ยาในกลุ่ม Opioids อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง ง่วงนอน เวียนศีรษะ สับสน คัน และเหงื่อออก อีกทั้งยังอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพดังต่อไปนี้ 

การใช้ยามากเกินจำเป็น

เป็นผลมาจากการใช้ยาในปริมาณเกินไปจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันตราย โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาในระยะยาวหรือใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์ระงับประสาทอย่างแอลกอฮอล์และยาเบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) ซึ่งอาจส่งผลให้หน้าซีด อ่อนแรง เล็บมือหรือริมฝีปากเปลี่ยนเป็นสีม่วง ปลุกแล้วไม่ตื่น หายใจช้าลง หัวใจเต้นช้าลง และเสียชีวิตได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยหรือผู้ดูแลพบสัญญาณของการใช้ยาเกินขนาดเหล่านี้ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน 

การเสพติดการใช้ยา

การใช้ยาในทางที่ผิด อย่างการใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนด นำยาของผู้อื่นมาใช้ ใช้ยาผิดวิธี ใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้ยาเพื่อให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจ ผ่อนคลาย หรือตั้งใจทำให้มึนเมา รวมไปถึงปัจจัยที่แตกต่างกันไปในแต่ละคน ทั้งพฤติกรรมส่วนตัว สารเคมีในสมอง อายุ และสภาพแวดล้อมรอบตัว สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การเสพติดการใช้ยาได้ทั้งสิ้น 

ยิ่งไปกว่านั้น การหยุดใช้ยาด้วยตัวเองอย่างฉับพลันอาจทำให้เกิดอาการถอนยา จึงควรปรึกษาแพทย์ในการหยุดใช้ยาอย่างปลอดภัย ซึ่งผู้ป่วยอาจต้องลดปริมาณการใช้ยาทีละน้อย เพื่อให้ลดความเสี่ยงต่อร่างกายให้ได้มากที่สุด 

ทั้งนี้ผู้ที่เสพติดยาในกลุ่ม Opioids หรือใช้ยาในขนาดสูงสามารถรักษาได้ด้วยการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยอาจมีการใช้ยาซึ่งช่วยลดการเสพติด หรือช่วยแก้พิษจากการใช้ในกลุ่มโอปิออยด์เกิดขนาด และป้องกันการเสียชีวิต อีกทั้งผู้ป่วยควรได้รับแรงสนับสนุนจากคนในครอบครัวและคนรอบตัว

อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้น หรือลดน้อยลงได้หากผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคำสั่งจากแพทย์ด้วยความระมัดระวังอยู่เสมอ หากมีประวัติเคยใช้สารเสพติดก็ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพราะอาจเสี่ยงต่อการเสพติดการใช้ยาได้ง่ายกว่าปกติ และหากรับประทานยาไปแล้วพบความผิดปกติใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์เช่นกัน เพื่อจะได้ตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมและรับการรักษาที่เหมาะสม