ยาลดไข้สำหรับทารกและเด็กเล็ก ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

ยาลดไข้เป็นตัวช่วยสำคัญสำหรับคุณแม่เมื่อลูกน้อยเป็นไข้หรือตัวร้อน แม้ว่าการใช้ยาลดไข้จะช่วยคุณแม่ได้มากและหาซื้อได้สะดวก แต่รู้หรือไม่ว่ายาลดไข้สำหรับเด็กก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้

ทารก เด็กเล็ก และเด็กโตเป็นช่วงวัยที่ร่างกายยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูงกว่าผู้ใหญ่และเด็กวัยรุ่น ดังนั้นการใช้ยาลดไข้หรือแก้ไข้ในเด็กจึงควรใช้อย่างมีความรู้และระมัดระวังเพื่อลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงจากยา โดยบทความนี้มีวิธีเลือกและใช้ยาแก้ไข้อย่างปลอดภัยมาให้คุณแม่ได้อ่านกัน

ยาลดไข้สำหรับทารกและเด็กเล็ก ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

วิธีเลือกและใช้ยาลดไข้สำหรับเด็กอย่างปลอดภัย

การเลือกและใช้ยาลดไข้สำหรับเด็กให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยควรรู้เรื่องดังต่อไปนี้

1. ห้ามใช้ยาลดไข้เองในเด็กแรกเกิดถึง 3 เดือน

คุณแม่ที่กำลังมีลูกเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 3 เดือน ไม่ควรให้ยาลดไข้กับลูกน้อยด้วยตนเอง เพราะเด็กเล็กมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากยามากกว่าเด็กโต และการรักษาเด็กแรกเกิดจนถึง 3 เดือนมีรายละเอียดมากกว่าด้วย ดังนั้นหากทารกตัวร้อนหรือไม่สบาย คุณแม่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม

2. อย่าใช้ยาลดไข้โดยไม่จำเป็น

สำหรับเด็กที่อายุ 3 เดือนไปจนถึง 3 ปีที่มีไข้ต่ำ ๆ (Low-grade Fever) โดยเฉพาะเด็กอายุ 3–6 เดือน คุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไข้โดยไม่จำเป็น โดยอาจใช้วิธีลดไข้โดยไม่ใช้ยา อย่างเช็ดตัว ดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม พักผ่อนให้เพียงพอ แต่หากลูกน้อยไข้ไม่ลด มีอาการงอแงมากกว่าปกติ อ่อนเพลีย ซึม ไม่สบายตัว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ควรพาไปพบแพทย์

3. ใช้ยาแก้ไข้ตามที่แพทย์สั่ง

เมื่อพาลูกน้อยที่อายุมากกว่า 3 เดือนไปพบแพทย์ แพทย์อาจสั่งจ่ายยาลดไข้สำหรับเด็ก อย่างยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) หรือยาพาราเซตามอล (Paracetamol) คุณแม่ควรใช้ยาตามแพทย์สั่งทั้งปริมาณและความถี่ในการใช้ ไม่ควรลดหรือเพิ่มปริมาณและมื้อยาด้วยตนเอง หากใช้แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์อีกครั้ง

4. เลือกยาลดไข้ตามช่วงอายุเด็ก

ยาลดไข้สำหรับเด็กอาจแบ่งได้ 2 ชนิดหลัก ชนิดแรก คือ กลุ่มยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ซึ่งปลอดภัยกว่า ชนิดที่สอง คือ กลุ่มยาแก้ปวดชนิดไม่มีสเตียรอยด์หรือเอ็นเสด (NSAID) อย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และยาแอสไพริน (Aspirin) แพทย์อาจจ่ายยาในกลุ่มนี้ให้กับเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป

โดยยาทั้ง 2 กลุ่มนี้มีการออกฤทธิ์ วิธีการใช้ และผลข้างเคียงที่แตกต่างกัน คุณแม่จึงควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้เสมอ

5. ใช้ยาตามน้ำหนักตัว

เมื่อเด็กโตขึ้น ข้อจำกัดในอาจใช้ยาอาจยืดหยุ่นขึ้นและอาจมีความเสี่ยงจากผลข้างเคียงน้อยลง แต่เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี คุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเสมอ แต่ถ้าเป็นเด็กอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป คุณแม่อาจซื้อยาให้ลูกน้อยเองได้ แต่ก็ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้เช่นเดียวกันเพื่อความปลอดภัย

ในประเทศไทย ยาลดไข้สำหรับเด็กที่เราคุ้นเคยกันมักจะเป็นยาพาราเซตามอลในรูปแบบยาน้ำหรือน้ำเชื่อม ซึ่งปริมาณการใช้ยาตัวนี้จะขึ้นอยู่น้ำหนักตัวของลูกน้อย คุณพ่อคุณแม่ควรคำนวณปริมาณยาให้ได้ประมาณ 10–15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัวเด็ก (กิโลกรัม)

โดยยาพาราเซตามอลแบบน้ำเชื่อมมีตัวอย่างการใช้ ดังนี้

  • ยาพาราเซตามอล 120 และ 125 มิลลิกรัมต่อช้อนชา เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 12–15 กิโลกรัม
  • ยาพาราเซตามอล 160 มิลลิกรัมต่อช้อนชา เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 16–24 กิโลกรัม
  • ยาพาราเซตามอล 250 มิลลิกรัมต่อช้อนชา เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 25–40 กิโลกรัม

ทั้งนี้ปริมาณยาสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามน้ำหนักตัวของเด็ก แพทย์และเภสัชกรอาจแนะนำให้ป้อนยาเด็กทุก 4–6 ชั่วโมงตามความเหมาะสม โดยห้ามป้อนยาเด็กเกิน 5 ครั้งต่อวัน คุณแม่ควรอ่านฉลากยาก่อนใช้ทุกครั้ง

เพราะยาลดไข้สำหรับเด็กแต่ละยี่ห้ออาจมีปริมาณตัวยาหรือความเข้มข้นของตัวยาที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ปริมาณยาที่ใช้แตกต่างกันไปด้วย นอกจากนี้คุณแม่ควรหมั่นตรวจสอบน้ำหนักตัวของลูกน้อยเป็นประจำเพื่อให้การใช้ยามีประสิทธิภาพสูงสุดและลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง

6. ใช้อุปกรณ์ให้ยาอย่างเหมาะสม

ยาลดไข้สำหรับเด็กส่วนใหญ่มักเป็นยาน้ำ อุปกรณ์สำหรับป้อนยาจึงแบ่งออกได้ 2 แบบ ดังนี้

  • ช้อนยา คุณแม่ควรใช้ช้อนที่มาพร้อมยาน้ำนั้น ๆ เพราะจะช่วยให้ลูกน้อยได้รับยาในปริมาณที่ถูกต้อง และควรหลีกเลี่ยงการใช้ช้อนอื่น ๆ อย่างช้อนอาหารในการป้อนยา เพราะเด็กอาจได้รับยามากหรือน้อยกว่าปกติซึ่งอาจทำให้ผลการรักษาไม่มีประสิทธิภาพหรืออาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงมากขึ้น
  • ไซรินจ์ (Syringe) คนไทยเรียกกันว่า ไซริงค์ เป็นกระบอกฉีดยาที่ไม่มีเข็ม คุณแม่ที่ใช้ไซรินจ์ป้อนยาลูก ควรดูขนาดของกระบอกให้ดีและดูตัวเลขกำกับปริมาณบนหลอดเสมอ เพราะไซรินจ์จะมีทั้งหน่วยที่เป็นออนซ์ (Ounce: oz) และมิลลิลิตร (Milliliter: ml) ซึ่งคุณแม่อาจสับสนได้

นอกจากนี้ หลังจากป้อนยาลูกน้อย คุณแม่ควรทำความสะอาดอุปกรณ์ป้อนยาให้สะอาดและผึ่งไว้ให้แห้งเสมอ

7. ใช้ยาในกลุ่มยาลดไข้อาจปลอดภัยกว่า

ยาในกลุ่มยาลดไข้ อย่างยาอะเซตามิโนเฟนหรือยาพาราเซตามอลอาจมีความเสี่ยงของผลข้างเคียงอันตรายน้อยกว่ากลุ่มยาเอ็นเสด ส่วนอีกสาเหตุที่ยาในกลุ่มยาลดไข้ปลอดภัยกว่าก็เพราะว่า ยาในกลุ่มเอ็นเสด อย่างยาไอบูโพรเฟนและยาแอสไพรินมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด หากเป็นแผลหรือบาดเจ็บก็อาจทำให้เลือดออกมากขึ้นได้ และยังอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการเรย์ (Reye's syndrome) อีกด้วย

อีกทั้งประเทศไทยพบการระบาดของโรคไข้เลือดออกเป็นประจำทุกปี ดังนั้นหากให้ยากลุ่มเอ็นเสดในเด็กที่ตัวร้อน โดยไม่ทราบว่าเป็นอาการของโรคไข้เลือดออกก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนของโรคที่เป็นอันตรายได้

ด้วยเหตุนี้หากไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดที่ทำให้ลูกน้อยป่วยหรืออาการป่วยเกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มเอ็นเสดและพาลูกน้อยไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างเหมาะสม

8. ใช้ยาเหน็บลดไข้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง

อาการเป็นไข้ตัวร้อนเกิดได้จากหลายสาเหตุ รวมถึงอาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ด้วย ดังนั้นหากเด็กมีอาการอาเจียน ไม่สามารถรับประทานยาได้ หรือรับประทานยายาก คุณแม่อาจเลือกใช้ยาเหน็บทางทวารหนักแทนยาน้ำ แพทย์และเภสัชกรอาจแนะนำให้คุณแม่ใช้ยาเหน็บในเด็กที่อายุ 6 เดือนขึ้นไป ปริมาณยาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวเด็กเช่นเดียวกับยาน้ำ

ในประเทศไทย ยาพาราเซตามอลแบบเหน็บมี 2 ขนาดด้วยกัน ซึ่งมีตัวอย่างการใช้ ดังนี้

  • ยาพาราเซตามอลแบบเหน็บขนาด 125 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 12–15 กิโลกรัม
  • ยาพาราเซตามอลแบบเหน็บขนาด 250 มิลลิกรัม เหมาะสำหรับเด็กที่มีน้ำหนักตัว 25–40 กิโลกรัม

คุณแม่ควรอ่านความเข้มข้นของยาและรายละเอียดอื่น ๆ ทุกครั้งก่อนใช้

9. ไปพบแพทย์

แม้ว่ายาลดไข้จะเป็นตัวช่วยที่ดี แต่ถ้ามีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย คุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์

  • อาการไม่ดีขึ้นหลังใช้ยาลดไข้ ไข้กลับ หรือเป็นไข้ ติดต่อกันนานเกิน 3 วัน
  • เด็กอายุต่ำกว่า 3 เดือนมีไข้สูงกว่าหรือเทียบเท่า 38 องศาเซลเซียสเมื่อวัดอุณหภูมิผ่านปากหรือทวารหนัก
  • เด็กอายุ 3–12 เดือนมีไข้สูงกว่าหรือเทียบเท่า 39 องศาเซลเซียส เมื่อวัดอุณหภูมิผ่านปากหรือทวารหนัก
  • อาการอื่น ๆ เช่น เบื่ออาหาร ร้องไห้โดยที่ไม่มีน้ำตา ทารกไม่ปัสสาวะในช่วง 8 ชั่วโมง หรืออาเจียน

นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น หากคุณแม่พบอาการผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณร้ายแรง เช่น ท้องเสียติดต่อกัน เป็นผื่น ผิวหนังบวม หายใจหอบ หรือชัก ควรพาลูกไปพบแพทย์

อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างการใช้ยาลดไข้สำหรับเด็กในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างการใช้ยาเท่านั้น เพราะแพทย์อาจปรับปริมาณยาตามความเหมาะสมของอาการ โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการรักษาและความปลอดภัยเป็นหลัก ดังนั้นคุณแม่ควรใช้ยาลดไข้ในปริมาณที่เหมาะสม ภายหลังการใช้ยา คุณแม่ควรหมั่นตรวจสอบอาการตัวร้อนของเด็กว่าอาการดีขึ้นหรือไม่ มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นรึเปล่า หากอาการไม่ดีขึ้นหรือเกิดอาการผิดปกติ ควรพาลูกไปพบแพทย์

หากคุณแม่มีคำถามหรือสงสัยเกี่ยวกับวิธีใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้านเพื่อการใช้ยาลดไข้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยเฉพาะคุณแม่ที่มีลูกเล็ก สุดท้ายนี้ คุณแม่ควรให้เด็กดื่มน้ำให้มากขึ้น ปรับอุณหภูมิในห้องให้เหมาะสม กล่อมให้เขานอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และอาจใช้ผ้าชุบน้ำบิดหมาดเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกายอีกทางหนึ่ง