วัดไข้ รู้จักวิธีและขั้นตอนที่ถูกต้อง

วัดไข้ (Body Temperature Measurement) เป็นการวัดค่าอุณหภูมิของร่างกายด้วยเทอร์โมมิเตอร์เพื่อดูว่าอุณหภูมิของร่างกายเป็นปกติหรือสูงกว่าปกติ ซึ่งจะช่วยบ่งบอกสภาวะมีไข้ ใช้ดูประสิทธิภาพในการใช้ยาลดไข้ และช่วยคำนวณหาวันไข่ตกในผู้หญิงตั้งครรภ์

เทอร์โมมิเตอร์หรือปรอทวัดไข้ที่นิยมกันในปัจจุบันคือเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัล ซึ่งใช้งานสะดวก ปลอดภัยไม่มีสารปรอท และวัดไข้ได้แม่นยำกว่าเทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้ว การวัดไข้ด้วยเทอร์โมมิเตอร์มีหลายวิธี โดยจะวัดตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น  ปาก รักแร้ ทวารหนัก หู และผิวหนัง ซึ่งการวัดไข้แต่ละจุดมีขั้นตอนการวัดและการอ่านค่าที่ต่างกัน

วัดไข้

วิธีการวัดไข้

การวัดไข้สามารถวัดได้จากหลายจุดในร่างกาย วิธีมาตรฐานที่นิยมใช้แบ่งออกเป็น 5 วิธี  

  • ทางปาก (Orally) เป็นการวัดอุณหภูมิจากใต้ลิ้นภายในช่องปาก
  • ทางรักแร้ (Axillary) เป็นการวัดไข้โดยให้หนีบเทอร์โมมิเตอร์ไว้ที่รักแร้ แต่ค่าอุณหภูมิปกติจะต่ำกว่าการวัดทางปาก
  • ทางทวารหนัก (Rectally) เป็นการวัดไข้โดยการสอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปทางทวารหนัก ซึ่งค่าอุณหภูมิปกติจะสูงกว่าการวัดทางปาก
  • ทางหู (By Ear) เป็นการวัดอุณหภูมิด้วยเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลทางช่องหู (Ear Thermometer หรือ Tympanic Thermometer)
  • ทางผิวหนัง (By Skin) เป็นการวัดไข้บริเวณหน้าผากด้วยเทอร์โมมิเตอร์ที่มีลักษณะเป็นแผ่นแปะขนาดเล็กและมีตัวเลขแสดงอุณหภูมิ

การวัดไข้อาจเลือกวัดตามความสะดวกหรือแล้วแต่สถานการณ์ หากเป็นการวัดไข้เด็กเล็กและทารกมักจะใช้การวัดทางทวารหนักหรือทางรักแร้ เพราะเป็นวัยที่อยู่นิ่งค่อนข้างยาก จึงทำให้วัดอุณหภูมิด้วยวิธีอื่นได้ลำบาก

เทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดไข้มี 2 แบบ คือเทอร์โมมิเตอร์แบบแก้ว ซึ่งมีลักษณะเป็นแท่งแก้ว ภายในมีสารปรอทสำหรับตรวจจับอุณหภูมิ แต่ในปัจจุบันนิยมใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลมากกว่า เนื่องจากอ่านผลได้เร็ว วัดไข้ได้แม่นยำ วัสดุไม่แตกง่ายเหมือนเทอร์โมมิเตอร์แท่งแก้ว และไม่มีสารปรอทที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ ยังมีเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายแบบอื่น เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิทางหน้าผาก (Temporal Artery Thermometers) แต่มักมีราคาแพง และวัดไข้ได้ไม่แม่นยำเท่าการใช้เทอร์โมมิเตอร์ดิจิทัล

การเตรียมตัวก่อนการวัดไข้

ก่อนวัดไข้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางประเภทก่อนการวัดไข้หรืออาจรอให้เวลาผ่านไปสักพัก เพราะอาจส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายเพิ่มสูงขึ้น และค่าตัวเลขที่วัดออกมาผิดเพี้ยน เช่น 

  • ไม่ควรวัดไข้ทันทีหลังการสูบบุหรี่ หรือหลังรับประทานอาหารและเครื่องดื่ม ควรทิ้งช่วงประมาณ 20–30 นาที
  • ในกรณีที่เพิ่งออกกำลังกายเสร็จหรืออาบน้ำอุ่นมาก่อนหน้านี้ ควรรอให้เวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วค่อยวัดไข้

นอกจากนี้ ก่อนวัดไข้ควรทำความสะอาดเทอร์โมมิเตอร์ด้วยแอลกอฮอล์ หากใช้เป็นเทอร์โมมิเตอร์แบบแก้ววัดไข้ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าแถบสารปรอทอยู่ต่ำกว่าตัวเลข 36 องศาเซลเซียส แต่ถ้าอยู่สูงกว่าควรสะบัดเทอร์โมมิเตอร์ให้สารปรอทที่อยู่ภายในลดลงมาก่อนใช้วัดไข้

ขั้นตอนการวัดไข้

การวัดไข้มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ซึ่งสามารถทำได้เองที่บ้าน และมักเป็นขั้นตอนแรกก่อนเข้าพบแพทย์ทั่วไป การวัดไข้ในบางวิธีควรได้รับการแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาล ซึ่งการวัดไข้แต่ละวิธีมีขั้นตอนต่างกัน ดังนี้

การวัดไข้ทางช่องปาก

วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กที่สื่อสารได้รู้เรื่องแล้ว หากใช้ปรอทวัดไข้ควรหลีกเลี่ยงการใช้กับเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ เพราะมีความเสี่ยงที่เด็กอาจกัดโดนปรอทแตก ซึ่งมีขั้นตอนการวัดไข้ ดังนี้

  1. ก่อนการวัดไข้ควรมีการตรวจดูภายในช่องปากว่าไม่มีสิ่งใดตกค้างอยู่ เช่น ลูกอม หมากฝรั่งหรือขนม รวมไปถึงหลีกเลี่ยงการวัดไข้ทันทีหลังการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่ม แต่ควรรอเวลาอย่างน้อย 20–30 นาที เพราะอาจมีผลต่ออุณหภูมิที่วัดได้
  2. นำเทอร์โมมิเตอร์สอดเข้าไปในปาก โดยให้บริเวณส่วนปลายที่วัดค่าอุณหภูมิอยู่ในตำแหน่งใต้ลิ้น ปิดปากลงให้สนิทชั่วครู่ ห้ามเคี้ยวหรือกัด  
  3. เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัลให้รอจนสัญญาณเสียงดังขึ้น แต่ถ้าเป็นแบบแท่งแก้วควรรอประมาณ 3–4 นาทีให้แถบสารปรอทหยุดนิ่ง จากนั้นอ่านค่าที่ได้

การวัดไข้ทางรักแร้

การวัดไข้ทางรักแร้เป็นวิธีการวัดไข้ที่สะดวกและง่ายดาย แต่อาจให้ผลได้ไม่แม่นยำเท่ากับการวัดไข้ทางปากหรือทวารหนัก ทั้งนี้ ควรเลี่ยงการวัดไข้หลังการอาบน้ำหรือสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่น เพราะอาจส่งผลต่อค่าที่วัดได้ ขั้นตอนการวัดไข้ทางรักแร้มีดังนี้

  1. นำเทอร์โมมิเตอร์สอดเข้าไปที่รักแร้ โดยให้ปลายเทอร์โมมิเตอร์อยู่กึ่งกลางรักแร้และไม่เลยออกไปด้านหลัง จากนั้นหนีบเทอร์โมมิเตอร์ไว้สักพัก
  2. สำหรับเทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัล ให้รอจนสัญญาณเสียงดังขึ้น แต่ถ้าเป็นแบบแท่งแก้วควรรออย่างน้อย 4 นาทีให้แถบสารปรอทหยุดนิ่ง
  3. จากนั้นอ่านค่าที่วัดได้ โดยค่าอุณหภูมิปกติทางรักแร้จะต่ำกว่าการวัดทางช่องปากประมาณ 0.6 องศาเซลเซียส

การวัดไข้ทางทวารหนัก

การวัดไข้ทางทวารหนักนิยมใช้ในเด็กแรกเกิดและเด็กเล็ก แต่ควรทำอย่างระมัดระวังหรือมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแล เพราะมีความเสี่ยงในการเกิดอาการบาดเจ็บ ซึ่งมีขั้นตอนการวัดไข้ ดังนี้

  1. นำเทอร์โมมิเตอร์ที่ผ่านการฆ่าเชื้อโรคแล้วทาสารหล่อลื่น เช่น ปิโตรเลียมเจลลี่ เพื่อช่วยลดการเสียดสีที่อาจทำให้เจ็บ
  2. จับเด็กนอนคว่ำลงบนบริเวณหน้าตักหรือพื้นที่ราบเรียบ แข็งแรง จากนั้นใช้มือช่วยประคองบริเวณหลังส่วนล่างของเด็ก แต่หากไม่ถนัดก็สามารถวัดไข้โดยให้เด็กนอนหงาย จับขาทั้ง 2 ข้างยกขึ้น
  3. จากนั้นสอดเทอร์โมมิเตอร์อย่างเบามือเข้าไปในก้นลึกประมาณ 1.25–2.5 เซนติเมตร ขั้นตอนนี้ควรระมัดระวังไม่สอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปลึกจนเกินไป
  4. จากนั้นถือเทอร์โมมิเตอร์ค้างไว้สักครู่ หากเป็นแบบดิจิทัลให้รอจนสัญญาณเสียงดังขึ้นหรือถ้าเป็นแบบแท่งแก้วควรรออย่างน้อย 2 นาที โดยให้แถบสารปรอทหยุดนิ่ง และอ่านค่าอุณหภูมิที่ได้

การวัดไข้ทางหู

การวัดไข้ทางหูมีขั้นตอน ดังนี้

  1. ก่อนการวัดไข้ ควรตรวจดูเทอร์โมมิเตอร์ว่ามีสิ่งสกปรกติดอยู่หรือไม่ หากมีติดอยู่ให้ใช้ผ้าสะอาดเช็ดออก แต่ไม่ควรนำไปล้างน้ำ จากนั้นใส่ฝาครอบเทอร์โมมิเตอร์ เพื่อช่วยป้องกันสิ่งสกปรก หากเป็นไปได้ควรเปลี่ยนฝาครอบใหม่ทุกครั้งก่อนการใช้วัดไข้ 
  2. หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 12 เดือน ให้ดึงติ่งหูลงและเอียงไปทางด้านหลัง เพื่อช่วยให้สอดเทอร์โมมิเตอร์เข้าไปในรูหูได้ง่ายขึ้น แต่สำหรับเด็กอายุมากกว่า 12 เดือนขึ้นไปหรือผู้ใหญ่ควรดึงติ่งหูขึ้นด้านบนและเอียงไปทางด้านหลังแทน
  3. ค่อย ๆ นำเทอร์โมมิเตอร์สอดเข้าไปในช่องหู โดยให้ตำแหน่งที่เป็นตัวรับอุณหภูมิอยู่ตรงตำแหน่งรูหู
  4. กดปุ่มวัดอุณหภูมิและอ่านค่า

การวัดไข้ทางผิวหนัง

การวัดไข้ทางผิวหนังเป็นวิธีที่สะดวกและวัดไข้ได้อย่างรวดเร็ว โดยมักนิยมใช้กับเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ แต่ความแม่นยำอาจน้อยกว่าเมื่อเทียบกับวิธีอื่น

  1. ก่อนการวัดไข้ควรมีการทำความสะอาดผิวบริเวณหน้าผากให้เรียบร้อย จากนั้นนำเอาแผ่นแปะทาบตรงกลางหน้าผากของเด็ก
  2. กดเบา ๆ และรอสักครู่
  3. ลอกแผ่นแปะออกจากหน้าผาก และอ่านผลจากตัวเลขที่แสดงบนแถบด้านบน

หลังใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ ควรเช็ดทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ หรือใช้น้ำและสบู่ทำความสะอาด ขึ้นอยู่กับประเภทของเทอร์โมมิเตอร์และการใช้งาน เช็ดให้แห้ง แล้วปิดฝาครอบหรือเก็บใส่กล่องไว้ในที่ที่มิดชิดให้พ้นมือเด็ก

การอ่านผลในการวัดไข้

อุณหภูมิปกติของผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงจะอยู่ระหว่าง 36.5–37.2 องศาเซลเซียส แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิที่วัดออกมาสูงกว่าเกณฑ์แสดงว่ามีไข้หรือร่างกายเกิดความผิดปกติอื่น ๆ ซึ่งเกณฑ์ปกติของอุณหภูมิในร่างกายแบ่งตามวิธีในการวัดไข้ได้ดังนี้

  • อุณหภูมิปกติทางปาก 35.5–37.5 องศาเซลเซียส
  • อุณหภูมิปกติทางทวารหนัก 36.6–38 องศาเซลเซียส
  • อุณหภูมิปกติทางรักแร้ 34.7–37.3 องศาเซลเซียส  
  • อุณหภูมิปกติทางหู 35.8–38.0 องศาเซลเซียส

ทั้งนี้ ในระหว่างวันอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในร่างกายได้เล็กน้อยจากหลายปัจจัย เช่น อยู่ในช่วงมีประจำเดือนอาจทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ช่วงเช้าจะวัดอุณหภูมิร่างกายได้ต่ำกว่าช่วงบ่าย เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนอาจมีอุณหภูมิปกติต่างกัน 1–2 องศาเซลเซียส

ผลข้างเคียงของการวัดไข้

ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดเล็กน้อยในระหว่างการวัดไข้ ส่วนความเสี่ยงด้านอื่นควรระมัดระวังในการใช้เทอร์โมมิเตอร์แบบแท่งแก้วบรรจุปรอทในการวัดไข้ ซึ่งอาจเกิดการแตกขณะที่วัดไข้ และทำให้ผู้ป่วยได้รับสารปรอทเข้าสู่ร่างกาย 

รวมไปถึงการวัดไข้เด็กเล็กทางทวารหนักอาจทำให้เกิดอาการปวดหรือเกิดการบาดเจ็บจากการสอดเทอร์โมมิเทอร์ลงไปลึกมากเกินไป เพื่อความปลอดภัยควรขอคำแนะนำเกี่ยวกับการวัดไข้ที่ถูกต้องจากแพทย์หรือพยาบาล

การดูแลหลังการวัดไข้

หลังการวัดไข้ หากผลการวัดไข้ออกมาเป็นปกติ ไม่ต้องมีการดูแลอื่นเพิ่มเติม ในรายที่มีไข้ไม่สูงมากสามารถดูแลให้ไข้ลดลงได้เร็วขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น 

  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพราะอาการไข้อาจทำให้ผู้ป่วยเสียน้ำได้มากกว่าคนปกติและเสี่ยงกับภาวะขาดน้ำ
  • พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากจนทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น โดยให้ใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุณหภูมิห้องเช็ดตัวลดไข้
  • เลือกสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป เนื้อผ้าบางเบา
  • ปรับอุณหภูมิห้องให้เย็นสบาย ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
  • รับประทานยาแก้ปวดและลดไข้ เช่น พาราเซตามอล และไอบูโพรเฟน

ผู้ที่มีไข้สูงนานกว่า 3 วัน หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหัวรุนแรง เป็นผื่นตามตัว ปวดท้อง คอแข็ง หรือบรรเทาอาการขั้นต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุความผิดปกติของอาการไข้ แต่ในกรณีที่เป็นเด็กทารกควรดูแลมากเป็นพิเศษกว่าผู้ใหญ่และพบแพทย์เมื่อมีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส