วิธีลดไข้ สำหรับทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

เมื่อตัวร้อนหรือมีไข้ วิธีลดไข้จะช่วยให้อุณภูมิในร่างกายลดลง บรรเทาอาการไม่สบายตัว และช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น โดยในเบื้องต้นอาจทำได้ด้วยตนเอง เช่น เช็ดตัว หรือพักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น แต่บางกรณีที่มีไข้ขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องจากการเจ็บป่วยหรือภาวะต่าง ๆ ที่รุนแรง อาจต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม

วิธีลดไข้

วิธีลดไข้ของเด็กและผู้ใหญ่ มีดังนี้

วิธีลดไข้สำหรับผู้ใหญ่

  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำ เพื่อช่วยให้อุณหภูมิร่างกายเย็นลง และป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
  • อาบน้ำอุ่น หรือนำผ้าไปชุบน้ำอุ่นก่อนบิดหมาด ๆ วางบริเวณหน้าผากและข้อมือ และต้องไม่ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเพื่อเช็ดตัวลดไข้
  • กินอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย
  • สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ถึงแม้ผู้ป่วยจะมีอาการหนาวสั่นก็ตาม
  • รับประทานยาแก้ปวดและลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน ยาแอสไพริน เป็นต้น

วิธีลดไข้สำหรับเด็ก

  • เช็ดตัวเด็ก โดยนำฟองน้ำหรือผ้าขนหนูไปชุบน้ำอุ่น ก่อนบิดหมาด ๆ แล้วนำมาเช็ดตัวเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย อาจเช็ดย้อนแนวขนเพื่อเปิดรูขุมขนให้ระบายความร้อนได้ดีขึ้น แต่ห้ามใช้น้ำเย็นเด็ดขาด เพราะอาจทำให้หนาวสั่นกว่าเดิมและทำให้ไข้ขึ้นสูงได้
  • ขณะเด็กกำลังนอนพัก ให้นำผ้าชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ มาวางบริเวณหน้าผาก
  • ให้เด็กดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ หากเป็นเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถดื่มน้ำได้ อาจเปลี่ยนให้ดื่มนมแม่หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์แทน
  • เปิดพัดลมเพื่อช่วยให้อากาศถ่ายเท โดยเปิดระดับความแรงลมต่ำสุด และไม่เปิดพัดลมจ่อไปที่เด็กโดยตรง
  • ให้เด็กสวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี แต่หากเด็กรู้สึกหนาว ให้ห่มผ้าห่มแทน และค่อยนำผ้าห่มออกเมื่อเด็กรู้สึกร้อน
  • ควรให้เด็กอยู่ในที่ร่ม หรืออยู่ใต้ร่มเงาซึ่งกำบังแดดได้
  • อาจให้เด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนรับประทานยาพาราเซตามอลตามคำแนะนำบนฉลากยา ส่วนเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปอาจรับประทานยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน โดยใช้ยาตามฉลากยาอย่างเคร่งครัดเช่นกัน

ข้อควรระวังในการใช้ยาลดไข้

  • ก่อนใช้ยาลดไข้ในทารก ควรได้รับการวินิจฉัยและคำแนะนำจากแพทย์เสมอ
  • ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลกับทารกอายุต่ำกว่า 6 สัปดาห์
  • ห้ามใช้ยาไอบูโพรเฟนกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือน
  • ห้ามใช้ยาแอสไพรินกับเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี

มีไข้รุนแรงเพียงใดจึงควรไปพบแพทย์ ?

ระดับความรุนแรงของไข้อาจแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ ซึ่งผู้ป่วยควรได้รับการดูแลจากแพทย์หากมีอาการ ดังนี้

อายุ 0-3 เดือน

  • เมื่อมีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป แม้ทารกจะไม่มีอาการอื่น ๆ ก็ตาม

อายุ 3-6 เดือน

  • เมื่อมีไข้สูง 38.9 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไม่สบายตัว ปวดหัว คอแข็ง ท้องเสีย อาเจียน เซื่องซึม หรือกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากเด็กไม่ดื่มน้ำหรือไม่รับประทานอาหาร เป็นต้น
  • เมื่อมีไข้สูงเกิน 38.9 องศาเซลเซียส

อายุ 6-24 เดือน

  • เมื่อมีไข้สูงเกิน 38.9 องศาเซลเซียสนานกว่า 1 วัน และอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา
  • มีไข้ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไม่สบายตัว ปวดหัว คอแข็ง ท้องเสีย อาเจียน เซื่องซึม หรือกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากเด็กไม่ดื่มน้ำหรือไม่รับประทานอาหาร เป็นต้น

อายุ 2-17 ปี

  • เมื่อมีไข้สูง 38.9 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น ไม่สบายตัว ปวดหัว คอแข็ง ท้องเสีย อาเจียน เซื่องซึม หรือกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากเด็กไม่ดื่มน้ำหรือไม่รับประทานอาหาร เป็นต้น
  • เมื่อมีไข้สูงเกิน 38.9 องศาเซลเซียสนานกว่า 3 วัน และอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา

อายุ 18 ปีขึ้นไป

  • เมื่อมีไข้สูง 38.9 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการปวดหัว คอแข็ง หายใจไม่อิ่ม ท้องเสีย อาเจียน เซื่องซึม กังวลว่าจะเกิดภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไม่ดื่มน้ำ ไม่รับประทานอาหาร หรือมีอาการอื่น ๆ
  • เมื่อมีไข้สูงเกิน 38.9 องศาเซลเซียสนานกว่า 3 วัน และอาการไม่ดีขึ้นหลังรับประทานยา
  • เมื่อมีไข้ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 39.4 องศาเซลเซียสขึ้นไป