ประโยชน์ของ NAC (N-Acetyl Cysteine) ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้

ยา N-Acetyl Cysteine หรือที่รู้จักกันในชื่อ NAC เป็นยาที่ผู้คนคุ้นเคยและอาจมีติดบ้านไว้เสมอ แต่นอกจากคุณสมบัติในการบรรเทาและละลายเสมหะโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจอย่างไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคโควิด-19 บางคนอาจไม่รู้ถึงคุณสมบัติอื่น ๆ ของตัวยาที่อาจทำได้ ไม่ว่าจะเป็น ต้านการติดเชื้อไวรัส ต้านอนุมูลอิสระ หรือต้านการอักเสบ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ NAC ถูกนำมาใช้กับปัญหาสุขภาพที่หลากหลายยิ่งขึ้นได้

ที่จริงแล้ว NAC เป็นยาอนุพันธ์ของกรดอะมิโนแอลซีสเทอีน (L-Cysteine) ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง โดย NAC ในประเทศไทยจะถูกจำหน่ายทั้งตามร้านขายยาทั่วไปและสั่งจ่ายโดยแพทย์เป็นยาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ยาเม็ด ยาเม็ดฟู่ หรือยาฉีด มิใช่เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมแต่อย่างใด

NAC

คุณสมบัติต่าง ๆ ของ NAC    

ปฏิเสธไม่ได้ว่า คุณสมบัติของ NAC ที่เราคุ้นเคยกันดีคงหนีไม่พ้นการมีฤทธิ์ละลายเสมหะ โดยตัวยาจะช่วยลดความเหนียวข้นของเสมหะ ทำให้ผู้ป่วยขับเสมหะออกมาได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถใช้กับผู้ป่วยโรคในระบบทางเดินหายใจที่เกิดจากการติดเชื้ออย่างไข้หวัด หรือไม่ได้เกิดจากการติดเชื้ออย่างภูมิแพ้ หรือโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ ก็ได้

นอกจากคุณสมบัติดังข้างต้น ในปัจจุบันยังมีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์บางส่วนที่ศึกษาคุณสมบัติอื่น ๆ ของ NAC ไว้ด้วย เช่น

ต้านเชื้อไวรัส

อีกหนึ่งคุณสมบัติที่ NAC อาจมีก็คือ การกระตุ้นภูมิต้านทาน ยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสอย่างไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ รวมถึงโรคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้ โดยอ้างอิงจากการศึกษาที่ให้ NAC ชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดในผู้ป่วยปอดอักเสบระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง หลังได้รับยาไป 3 วัน ผู้ป่วยหายใจได้ดีขึ้น ต้องการการช่วยหายใจน้อยลง และมีอัตราการเสียชีวิตลดลงเล็กน้อยหลังฉีดยา 

นอกจากนี้ ยังมีการทดลองให้ NAC ชนิดฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำร่วมกับยาต้านไวรัสและยาชนิดอื่นกับผู้ป่วยภาวะช็อกเหตุพิษติดเชื้อ (Septic Shock) จากไข้หวัดใหญ่ ภาวะดังกล่าวและปอดของผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูอย่างรวดเร็ว จากผลลัพธ์ในการทดลองเหล่านั้น ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์กันว่า NAC อาจใช้ได้ผลในผู้ป่วยปอดอักเสบจากโรคโควิด-19

สืบเนื่องจากคุณสมบัติดังกล่าว มีการนำ NAC มาใช้รักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ร่วมกับการใช้ยาชนิดอื่น อย่างไรก็ตาม การใช้ NAC กับโรคโควิด-19 ยังจำเป็นจะต้องรอการวิจัยและทดลองในกลุ่มผู้ป่วยขนาดใหญ่ให้มากขึ้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ชัดเจนก่อนใช้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในอนาคต 

ต้านสารอนุมูลอิสระ เสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย 

สารอนุมูลอิสระเป็นสารที่เกิดขึ้นภายในร่างกายและพบได้จากสิ่งแวดล้อมภายนอก เช่น มลพิษทางอากาศ อาหารบางชนิด ความเครียด การติดเชื้อ การอักเสบ เป็นต้น ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับการเกิดปัญหาสุขภาพเรื้อรังอย่างไซนัสอักเสบ ไอ หลอดลมอักเสบ รวมถึงโรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง 

โดย NAC จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการต่อต้านอนุมูลอิสระ และช่วยเพิ่มปริมาณสารตั้งต้นของกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่อยู่ในร่างกายตามธรรมชาติ ทำให้ปริมาณสารอนุมูลอิสระลดน้อยลง และช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย

ต้านการอักเสบ  

NAC ยังอาจช่วยในการต้านการอักเสบในระบบทางเดินหายใจ อาทิ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ที่เป็นผลจากการสูบบุหรี่ หรือร่างกายมีสารอนุมูลอิสระในปริมาณมากจนทำลายเนื้อเยื่อปอดและหลอดลม เกิดเป็นการอักเสบในบริเวณดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอและปัญหาในการหายใจลดลง  

โดยอ้างอิงจากงานวิจัยจำนวนหนึ่งที่ว่าการรับประทาน NAC 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ช่วยเสริมสร้างการทำงานของปอด และทำให้ผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่คงตัวมีอาการดีขึ้น เช่นเดียวกับการศึกษาอีกชิ้นหนึ่งที่ลงรายละเอียดถึงการรับประทาน NAC ในปริมาณเดียวกันกับงานวิจัยก่อนหน้าช่วยลดโอกาสเกิดโรคปอดบวมในผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ

คำแนะนำในการใช้ NAC

ด้วยความที่ NAC มีหลายรูปแบบและมีปริมาณการใช้ยาที่เหมาะสมแตกต่างกันไปตามแต่ละสาเหตุ จึงควรปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนการใช้ยา แต่สำหรับอาการป่วยทั่วไป ๆ จะใช้ NAC 600 มิลลิกรัม โดยมีตัวอย่างปริมาณการใช้ยา ดังนี้

  • ไอ เสมหะในระบบทางเดินหายใจทั่วไป: ผู้ใหญ่และเด็กอายุ 14 ปีขึ้นไปให้ใช้ยาชนิดเม็ดฟู่ 1–3 เม็ด ละลายในน้ำครึ่งแก้ว วันละ 1-2 ครั้ง 
  • ไข้หวัดใหญ่: ผู้ใหญ่ให้ใช้ยาปริมาณ 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง

แม้ NAC จะค่อนข้างปลอดภัยต่อร่างกาย แต่อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ผื่นคัน มีไข้ หรือท้องไส้ปั่นป่วน ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ต่อเนื่องหรือรุนแรง ไอเป็นเลือดหรืออาเจียนออกมาเป็นเลือด หรือสีน้ำตาลคล้ายกากกาแฟ มีสัญญาณยาใช้ไม่ได้ผลอย่างปวดท้องส่วนบน ไม่อยากอาหาร ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อุจจาระสีซีด และดีซ่าน แม้จะพบได้น้อย แต่ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบหากเกิดอาการ

ยิ่งไปกว่านั้น หากพบสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก อาการบวมบริเวณใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น และลำคอ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มักพบได้น้อยมาก

 อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ซื้อ NAC จากร้านขายยาทั่วไปควรปรึกษาเภสัชกรก่อนเสมอ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ให้นมบุตร เพื่อความปลอดภัย และหากใช้ยาหรือดูแลตัวเองร่วมด้วยแล้วยังไม่ได้ผล อาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้นก็ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ตรงจุดต่อไป