ติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย ต่างกันอย่างไร ?

การติดเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรียมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ซึ่งการติดเชื้อทั้ง 2 ชนิดเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ที่แพร่กระจายผ่านการไอ จาม จูบ หรือมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ รวมถึงการสัมผัสวัตถุ รับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ที่สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อและโรคต่าง ๆ ได้ แต่การติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียก็มีลักษณะที่แตกต่างกันหลายประการ

1570 ไวรัส แบคทีเรีย Resized

ความแตกต่างระหว่างไวรัสและแบคทีเรีย

ไวรัส เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีรูปร่างหลากหลายและมีขนาดเล็กมาก ซึ่ง 1 ในไวรัสที่ใหญ่ที่สุดมีความยาวเพียง 450 นาโนเมตรเท่านั้น หรือเทียบเท่ากับแบคทีเรียขนาดเล็กชนิดหนึ่ง ไวรัสมีโปรตีนเป็นส่วนประกอบหลักที่เคลือบอยู่ชั้นผิวภายนอกและเป็นศูนย์กลางของสารพันธุกรรมอย่างดีเอ็นเอ (DNA) หรืออาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัส โดยไวรัสจำเป็นต้องอาศัยอยู่ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตอย่างคน สัตว์ หรือพืช เพื่อเพิ่มจำนวนขึ้น  

แบคทีเรีย เป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่ค่อนข้างซับซ้อน มีผนังแข็งด้านนอกสุดและถัดเข้ามาเป็นเยื่อหุ้มบาง ๆ ล้อมรอบของเหลวภายในเซลล์ไว้ สามารถเพิ่มจำนวนได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต และอยู่รอดได้ในบรรยากาศที่แตกต่างกันไป เช่น สถานที่ที่ร้อนหรือเย็นจัด หรือในร่างกายของมนุษย์ เป็นต้น แม้แบคทีเรียส่วนใหญ่จะมีประโยชน์และไม่เป็นอันตราย โดยมีส่วนช่วยในระบบย่อยอาหาร ทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรค ช่วยต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง และให้สารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่แบคทีเรียบางส่วนหรือไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของแบคทีเรียทั้งหมดก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้

การติดเชื้อไวรัส

ไวรัสจะรุกรานเข้าสู่เซลล์ของสิ่งมีชีวิตเพื่อขยายจำนวน ทำให้เซลล์ปกติกลายเป็นเซลล์ที่มีเชื้อไวรัส สร้างความเสียหายและส่งผลให้เกิดการติดเชื้อ แต่เมื่อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย อาจไม่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยเสมอไป เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะเป็นด่านแรกที่ช่วยกำจัดและทำลายเชื้อไวรัส ซึ่งไวรัสแต่ละชนิดจะทำให้เกิดโรคต่างกันออกไป เช่น

  • ไรโนไวรัส (Rhinoviruses) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของโรคหวัด
  • ไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza Virus) ชนิดเอ บี หรือซี เป็นสาเหตุของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ต่าง ๆ
  • เดงกี่ไวรัส (Dengue Virus) เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออก
  • ไวรัสอาร์เอสวี (Respiratory Syncytial Virus: RSV) เป็นสาเหตุของโรคในระบบทางเดินหายใจ
  • เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) เป็นสาเหตุของโรคมือเท้าปาก โรคแผลเปื่อยในลำคอเฮอร์แปงไจนา โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากไวรัส
  • เรบีส์ไวรัส (Rabies Virus) เป็นสาเหตุของโรคพิษสุนัขบ้า
  • ไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกและโรคหูด
  • วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella Zoster Virus) เป็นสาเหตุของโรคอีสุกอีใสและโรคงูสวัด
  • ไวรัสตับอักเสบ (Hepatitis Virus) ชนิดเอ บี หรือซี เป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ตับและทำให้ตับอักเสบ
  • ไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV) เป็นสาเหตุของโรคเอดส์

การติดเชื้อแบคทีเรีย

แบคทีเรียจะเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วและทำให้เกิดพิษซึ่งทำลายเนื้อเยื่อภายในร่างกายได้ แม้แบคทีเรียส่วนใหญ่จะเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ แต่แบคทีเรียบางส่วนก็อาจทำให้มีอาการเจ็บป่วยและเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคได้ เช่น

  • สเตร็ปโทโคคัส นิวโมเนีย (Streptococcus Pneumoniae) เป็นสาเหตุของโรคปอดบวม
  • บอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella Pertussis) เป็นสาเหตุของโรคไอกรน
  • คลอสตริเดียม เตตานิ (Clostridium Tetani) เป็นสาเหตุของโรคบาดทะยัก
  • เฮลิโคแบคเตอร์ ไพโลไร (Helicobacter Pylori) เป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหาร
  • วิบริโอคอเลอเร (Vibrio Cholerae) เป็นสาเหตุของอหิวาตกโรค
  • ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) เป็นสาเหตุของวัณโรค
  • เอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia Coli) เป็นสาเหตุของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • ทริปโปนีมา พัลลิดุม (Treponema Pallidum) เป็นสาเหตุของโรคซิฟิลิส
  • ไนซีเรีย โกโนเรีย (Neisseria Gonorrhoeae) เป็นสาเหตุของโรคหนองในแท้
  • ไนซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria Meningitidis) เป็นสาเหตุของโรคไข้กาฬหลังแอ่น

การวินิจฉัยการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

โรคบางชนิดอย่างโรคปอดบวม โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือโรคท้องร่วง อาจเกิดได้จากทั้งเชื้อไวรัสหรือเชื้อแบคทีเรีย โดยแพทย์จะตรวจร่างกายและประวัติทางการแพทย์ เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วย แต่ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจเลือด การตรวจปัสสาวะ หรือการตัดชิ้นเนื้อตรวจ เป็นต้น เพื่อยืนยันสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดโรค และให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

วิธีรักษาการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย

หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการใช้ยาปฏิชีวนะสามารถรักษาได้ทั้งการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย แต่จริง ๆ แล้ว การติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการในระหว่างที่ระบบภูมิคุ้มกันกำลังกำจัดเชื้อโรค หรืออาจใช้ยาต้านเชื้อไวรัส เช่น ยาเอฟฟาไวเรนซ์ ยาเนวิราปีน ยาอะบาคาเวียร์ ยาอะทาซานาเวียร์ หรือยาอินดินาเวียร์ เป็นต้น เพื่อช่วยชะลอความรุนแรงของโรคเอดส์ อีกทั้งยังสามารถฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอย่างไข้หวัดใหญ่ ไวรัสตับอักเสบ หรือโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วย

ส่วนการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยปกติแล้วจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะในกลุ่มหลัก เช่น ยาเพนิซิลลิน ยาเซฟาโลสปอริน ยาแมคโครไลด์ ยาฟลูออโรควิโนโลน ยาซัลโฟนาไมด์ ยาเตตราไซคลีน ยาอะมิโนไกลโคไซด์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้ด้วยความระมัดระวังและปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะอาจทำให้เกิดเชื้อดื้อยา เกิดการติดเชื้อและเชื้อแพร่กระจายได้ง่าย หรืออาจไม่สามารถใช้ยาปฏิชีวนะชนิดนั้น ๆ ได้ในการรักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรียครั้งต่อไป