เชื้อดื้อยา ภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม

เชื้อดื้อยา คือ ภาวะที่เชื้อแบคทีเรียต่อต้านยาปฏิชีวนะ ทำให้การรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไม่ได้ผลดีดังเดิม อาจต้องใช้เวลารักษานานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงขึ้น หรือผู้ป่วยอาจเสี่ยงเสียชีวิตมากขึ้น

เชื้อดื้อยา

จากผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก ปี 2556 พบว่ามีผู้ป่วยวัณโรคจากเชื้อดื้อยากว่า 100 ประเทศทั่วโลกเป็นจำนวนประมาณ 480,000 ราย และมีอัตราการป่วยเป็นโรคอื่น ๆ จากเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน เชื้อดื้อยาจึงนับเป็นปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรมองข้าม ผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียควรระมัดระวังการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเคร่งครัด

ข้อควรรู้เกี่ยวกับเชื้อดื้อยามีอะไรบ้าง ?

เชื้อดื้อยาเป็นปัญหาที่พบได้ทั่วทุกมุมโลก เป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพประชากรโลก และการพัฒนาในด้านต่าง ๆ เพราะเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย หากผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะบ่อย หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงเกิดเชื้อดื้อยาได้มากขึ้นด้วย

เชื้อดื้อยาอาจเกิดจากแบคทีเรียเปลี่ยนแปลงยีนจนดื้อยาหรือได้รับยีนดื้อยาจากแบคทีเรียตัวอื่น ๆ ซึ่งทำให้โรคติดเชื้อเรื้อรังบางชนิดเช่น ปอดบวม หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบรักษาได้ยากขึ้นหรือทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา โดยเฉพาะผู้ป่วยบางรายที่ต้องรักษาด้วยเคมีบำบัด การผ่าตัด หรือการฟอกไต ที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

การแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา

กระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยมีนโยบายแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาโดยกำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสม และมีข้อปฏิบัติต่าง ๆ ดังนี้

  • ให้โรงพยาบาลทุกแห่งจัดซื้อยาที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และมีจำนวนยาแต่ละชนิดเท่าที่จำเป็นในการรักษาผู้ป่วย
  • จัดระบบดูแลและสนับสนุนให้มีการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล
  • เฝ้าระวังและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
  • พัฒนาประสิทธิภาพในการตรวจทางห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา และเฝ้าระวังความไวของเชื้อดื้อยาให้ได้มาตรฐาน
  • ขอความร่วมมือทุกจังหวัดเร่งรณรงค์การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างถูกต้อง โดยผู้ป่วยที่ได้รับยาปฏิชีวนะจากสถานพยาบาล จะต้องรับประทานยาให้ครบปริมาณตามที่แพทย์สั่งเสมอ
  • จัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การอนามัยโลก

วิธีป้องกันปัญหาเชื้อดื้อยา

สำหรับประชาชนทั่วไป อาจป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยาได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งเท่านั้น และควรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่ดครัด
  • ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรคหรืออาการที่ส่วนมากไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ ไอ อุจจาระร่วง หรือแผลสดจากอุบัติเหตุที่ไม่ได้เกิดจากสัตว์กัดและเพิ่งเกิดแผลขึ้น เพราะยาปฏิชีวนะมักไม่ช่วยลดความรุนแรงของโรคเหล่านี้ หรือไม่มีึความจำเป็น และควรใช้ยาเป็นบางกรณีเท่านั้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกับผู้อื่น หรือนำยาที่เหลือไปให้ผู้อื่นใช้
  • ป้องกันความเสี่ยงการติดเชื้อ ด้วยการล้างมือให้สะอาดเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยที่ติดเชื้อโดยไม่จำเป็น ประกอบอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย และรับวัคซีนป้องกันการติดเชื้ออย่างสม่ำเสมอตามคำแนะนำของแพทย์

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์อาจป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อดื้อยา ได้ดังนี้

  • ป้องกันการติดเชื้อ สำรวจจัดการสภาพแวดล้อมในที่ทำงาน อุปกรณ์ทางการแพทย์ และมือของตนให้สะอาดปลอดเชื้ออยู่เสมอ
  • สั่งจ่ายยาปฏิชีวนะเมื่อจำเป็นเท่านั้น
  • รายงานปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาให้แก่สมาชิกในกลุ่มเฝ้าระวังเชื้อดื้อยา
  • อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจการใช้ยาปฎิชีวนะอย่างถูกต้อง รวมไปถึงการเกิดเชื้อดื้อยา และปัญหาอื่น ๆ จากการใช้ยาผิดวิธี
  • แนะนำให้ผู้ป่วยป้องกันการติดเชื้อ เช่น การรับวัคซีน การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย การล้างมือ การปิดจมูกและปากเมื่อไอหรือจาม