ไอกรน

ความหมาย ไอกรน

ไอกรน (Pertussis) เป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส หลังติดเชื้อในช่วงแรกจะมีอาการคล้ายเป็นหวัด เช่น ไอ มีไข้ น้ำมูกไหล หลังจากนั้นผู้ป่วยจะมีอาการไอต่อเนื่องอย่างรุนแรงและมีเสียงไอที่เป็นเอกลักษณ์หรือเสียงดัง วู้ป (ไอมีเสียงที่เกิดจากการหายใจลำบาก) จึงมีอีกชื่อเรียกว่า Whooping Cough เป็นที่มาของชื่อไอกรนในภาษาไทย ในทารกหรือเด็กเล็กอาจไม่พบอาการไอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจเป็นหลัก ไอกรนเป็นโรคติดต่อจากคนสู่คน โดยเชื้อสามารถแพร่กระจายได้จากการไอหรือจาม ทารกและเด็กเล็กจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต

ไอกรน

อาการของไอกรน

ผู้ป่วยไอกรนมักแสดงอาการหลังได้รับเชื้อแล้วประมาณ 5-10 วัน ในบางรายอาจมีระยะของการฟักเชื้อที่นานกว่านั้น ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับเป็นหวัด เช่น ไอเล็กน้อย มีไข้อ่อน ๆ น้ำมูกไหล ในทารกอาจไม่พบอาการไอ แต่จะมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ หายใจติดขัด หยุดหายใจขณะหลับ หากขาดออกซิเจนเป็นเวลานานจะทำให้ทารกมีตัวเขียว หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ อาการของโรคไอกรนจะกำเริบชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้มีเสมหะเหนียวข้นอยู่ในลำคอ ซึ่งเป็นสาเหตุของการไอที่ถี่ขึ้นและไออย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน ในช่วงนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระยะไอ หรือระยะอาการกำเริบ (Paroxysmal Phase) จะมีอาการไอที่เด่นชัดและมีเสียงที่มีลักษณะจำเพาะ การไอจะเกิดขึ้นเป็นพัก ๆ โดยในครั้งหนึ่งจะไอติดต่อกันประมาณ 5-10 ครั้ง หยุดไป แล้วเริ่มไอใหม่ เป็นเช่นนี้ซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาที่ไอติดต่อกันนั้น เมื่อการไอสิ้นสุดแล้ว จะมีการหายใจเข้าอย่างรวดเร็วหนึ่งครั้ง ทำให้มีเสียงดังที่มีลักษณะจำเพาะคือเสียงดังวู้ป หลังจากไอเสร็จจะมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลียจากการไออย่างรุนแรง นอกจากนี้อาจอาเจียนหลังจากที่มีการไอติดต่อกัน และอาจมีเสมหะปนออกมา ในช่วงที่ไอติด ๆ กันนั้น บางคนอาจมีหลอดเลือดดำที่คอโป่งพองจนมองเห็นได้ ตาถลน และตัวเขียว ผู้ป่วยอาจมีน้ำหนักลดลง เนื่องจากการไอรบกวนการกินอาหาร ในช่วงกลางคืนอาการไอจะเกิดขึ้นถี่กว่าเวลากลางวัน และทำให้รบกวนการนอนหลับได้ ผู้ป่วยอาจมีอาการไอสูงสุดนานถึง 10 สัปดาห์ ในภาษาจีนจึงเรียกโรคนี้ว่า โรคไอ 100 วัน

ควรไปพบแพทย์หากมีอาการไออย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน และเกิดอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหลังอาการไอดังต่อไปนี้

  • มีเสียงของลมหายใจดัง “วู้ป”
  • อาเจียน ในขณะไอหรือหลังอาการไอ
  • มีอาการหน้าเขียวหรือหน้าแดงหลังอาการไอ
  • รู้สึกเหนื่อยมากหลังอาการไอ

สาเหตุของไอกรน

ไอกรนเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจชนิดหนึ่งที่พบได้ในมนุษย์เท่านั้น โดยมีเชื้อแบคทีเรียบอร์เดเทลลา เพอร์ทัสซิส (Bordetella Pertussis) เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคไอกรน ซึ่งเชื้อแบคทีเรียจะเคลื่อนผ่านสารคัดหลั่งไปเกาะตัวกับเซลล์ขน (Cilia) ในทางเดินหายใจส่วนบน ได้แก่ จมูกหรือปาก และปล่อยสารพิษออกมาทำลายเซลล์ขน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการบวมของทางเดินหายใจ โรคไอกรนสามารถติดต่อกันได้ง่ายมาก จากคนสู่คน ผ่านการไอ จาม หรือการหายใจร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อเป็นเวลานาน โดยเชื้อโรคจะกระจายอยู่ในละอองของเสมหะ น้ำมูก หรือน้ำลายของผู้ป่วย และจะติดต่อไปสู่ผู้อื่นต่อไป เมื่อผู้นั้นสัมผัสละอองเชื้อโรคเหล่านี้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ถึงแม้จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้ว หากไม่สบายหรือมีร่างกายอ่อนแอก็สามารถติดเชื้อได้ โดยเฉพาะเด็กทารกที่มักจะติดเชื้อจากพี่น้อง พ่อแม่ หรือผู้ที่ดูแล โรคไอกรนสามารถพบได้กับคนทุกวัย ในประเทศไทยมีการให้วัคซีนโรคนี้อย่างทั่วถึง แต่มักพบผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กทารกที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี ทั้งนี้เพราะยังได้วัคซีนไม่ครบตามโปรแกรม ซึ่งจะได้วัคซีนไอกรนครบ 3 เข็มเมื่ออายุ 6 เดือน

การวินิจฉัยไอกรน

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการของผู้ป่วย ลักษณะของการไอ หรือตรวจร่างกาย ในระยะแรกของโรคไอกรนผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายกับโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไป เช่น หวัด หรือโรคหลอดลมอักเสบ ซึ่งอาจทำให้ยากที่จะวินิจฉัยได้ แพทย์อาจมีแนวทางในการวินิจฉัยร่วมด้วยดังต่อไปนี้

  • การเพาะเชื้อ โดยการเก็บตัวอย่างเชื้อหรือสารคัดหลั่งที่บริเวณจมูกหรือลำคอไปตรวจหาเชื้อแบคทีเรียที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรค
  • การตรวจเลือด เพื่อตรวจสอบจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งมีหน้าที่กำจัดเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาในร่างกาย หากพบว่าเซลล์เม็ดเลือดขาวมีจำนวนที่มากขึ้นจะแสดงถึงการติดเชื้อหรือการอักเสบที่เกิดขึ้นในร่างกาย
  • การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อตรวจความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นที่ปอด เช่น ปอดอักเสบ หรือมีน้ำในปอด เป็นต้น ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้หากผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคปอดบวม

การรักษาไอกรน

ในการรักษามีจุดมุ่งหมายเพื่อประคับประคองตามอาการ และลดการแพร่กระจายของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคด้วยการรับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น อิริโทรมัยซิน (Erythromycin) อะซิโธรมัยซิน (Azithromycin) คลาริโธรมัยซิน (Clarithromycin) ไตรเมโทพริม (Trimethoprim) ซัลฟาเมธ็อกซาโซล (Sulfamethoxazole) โดยรับประทานยาต่อเนื่องนานประมาณ 2 สัปดาห์ ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรหยุดใช้ยาก่อนที่แพทย์กำหนด เพราะจะส่งผลต่อระดับของยาปฏิชีวนะในเลือดและอาจทำให้ดื้อยาได้ การซื้อยาแก้ไอมารับประทานเองอาจไม่ช่วยบรรเทาหรือทำให้อาการดีขึ้น แต่สามารถทำได้ด้วยลดปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการไอ เช่น เพิ่มความชุ่มชื้นของเสมหะ เป็นต้น

สำหรับผู้ป่วยเด็กทารกหรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อดูแลอย่างใกล้ชิดเกี่ยวกับระบบการหายใจ หรือมีการให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำร่วมด้วยหากผู้ป่วยมีอาการของภาวะขาดน้ำ

ผู้ป่วยไอกรนที่อยู่ในระหว่างการรักษาสามารถรับมือและดูแลตัวเองที่บ้านให้ดีขึ้นได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ในสถานที่ที่เงียบสงบ มืด และมีอุณหภูมิที่เหมาะสมแก่การนอน
  • ดื่มน้ำมาก ๆ ทั้งน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือซุป ควรระวังการเกิดภาวะขาดน้ำโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก สามารถสังเกตได้จากหลายอาการ เช่น ปากแห้ง ร้องไห้ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยลงและมีสีเข้ม เป็นต้น
  • รับประทานอาหารมื้อเล็กลง เพื่อหลีกเลี่ยงการอาเจียนหลังอาการไอ
  • อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศปลอดโปร่ง ปราศจากตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดการไอ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของไอกรน

ทารกและเด็กเล็กเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากที่สุด โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบตามกำหนด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้ เช่น ภาวะหยุดหายใจชั่วคราว การติดเชื้อที่ปอด หรือปอดบวม อาการชักอย่างรุนแรง กลุ่มอาการทางสมอง หรือเสียชีวิต เป็นต้น

ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นจะไม่รุนแรง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น น้ำหนักตัวลดลง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เป็นลม กระดูกซี่โครงหักจากการไออย่างรุนแรง ไส้เลื่อน เส้นเลือดแดงที่ผิวหรือในตาขาวแตก เป็นต้น

การป้องกันไอกรน

โรคไอกรนเป็นโรคที่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน แพทย์จะฉีดวัคซีนรวม คอตีบ บาดทะยัก ไอกรน โดยเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 7 ปี เริ่มฉีด 3 เข็มแรกเมื่อเด็กที่มีอายุ 2 เดือน 4 เดือน 6 เดือน และเข็มที่ 4 เมื่อเด็กมีอายุ 18 เดือน จากนั้นควรฉีดวัคซีนกระตุ้น (Booster Dose) เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันหลังฉีดครบชุด 4 ครั้งแรกแล้ว ตอนอายุ 4-6 ปี และเด็กที่มีอายุมากกว่า 7 ปี ผู้ใหญ่ที่ได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว แนะนำให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กจะหมดลงในช่วงวัยรุ่น และในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ แพทย์จะแนะนำให้ฉีดวัคซีนในช่วงสัปดาห์ที่ 27 และ 36 ของการตั้งครรภ์ ซึ่งอาจช่วยปกป้องทารกจากโรคไอกรนในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการคลอดอีกด้วย

รวมถึงสามารถป้องกันการติดเชื้อได้ ด้วยการปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้

  • การรับประทานยาปฏิชีวนะ หากพบว่ามีสมาชิกในครอบครัวได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน เพื่อป้องกันและลดการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงบุคคลที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้
  • ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายแรงและผู้ที่อยู่ใกล้ชิด
  • ทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคไอกรนได้มากที่สุด
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนการคลอด
  • การดูแลสุขอนามัย ไอกรนเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ จะแพร่กระจายผ่านการไอหรือการจาม การมีสุขอนามัยที่ดีจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ตามแนวทางดังต่อไปนี้
  • ปิดปากด้วยกระดาษทิชชูก่อนการไอหรือจามทุกครั้ง และทิ้งกระดาษทิชชูลงในถังขยะ
  • หากไม่มีกระดาษทิชชู ควรไอหรือจามใส่ที่ข้อพับแขน ไม่ควรไอหรือจามโดยใช้มือปิดปาก
  • ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่เป็นประจำ แต่ละครั้งควรใช้เวลาในการล้างมือประมาณ 20 วินาที หรือใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ