Erythromycin (อิริโทรมัยซิน)

Erythromycin (อิริโทรมัยซิน)

Erythromycin (อิริโทรมัยซิน) เป็นยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลน์ (Macrolide) มีหน้าที่หลักในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย โดยเข้าไปลดการผลิตโปรตีนที่เป็นแหล่งอาหารของแบคทีเรีย ใช้ในการรักษาหรือป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรียต่าง ๆ เช่น การติดเชื้อที่ตา การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อที่ผิวหนัง เป็นต้น ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์และฉลากยาอย่างเคร่งครัด และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้

Erythromycin

เกี่ยวกับ Erythromycin

กลุ่มยา ยาปฏิชีวนะในกลุ่มแมคโครไลน์
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ รักษาหรือป้องกันการติดเชื้อจากแบคทีเรีย
กลุ่มผู้ป่วย เด็กและผู้ใหญ่
รูปแบบของยา ยารับประทานชนิดแคปซูล ชนิดเม็ด ยาแขวนตะกอน ยาป้ายตา และยาฉีด


คำเตือนในการใช้ยา Erythromycin

การใช้ยา Erythromycin อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้นควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ ประวัติการแพ้ยา ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคตับ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ กลุ่มอาการคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติชนิดลองคิวที (Long QT Syndrome) ระดับโพแทสเซียมหรือแมงกานีสในเลือดต่ำ
  • ผู้หญิงตั้งครรภ์ การใช้ยานี้อาจไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ แต่ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบหากมีการตั้งครรภ์ในขณะใช้ยา หรือวางแผนการตั้งครรภ์ในระหว่างการรักษาด้วยยาชนิดนี้
  • หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร เพราะยาสามารถขับออกผ่านทางนมแม่ และอาจส่งผลเสียต่อทารกได้
  • ผู้ที่เข้ารับการตรวจปัสสาวะ เพราะการใช้ยานี้อาจทำให้ผลการตรวจปัสสาวะบางอย่างคลาดเคลื่อนได้
  • เด็กที่มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว เนื่องจากขนาดและปริมาณการใช้ยาจะพิจารณาจากอายุและน้ำหนักตัวของเด็ก
  • อาจเกิดปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ในผู้ที่รับประทานยา Erythromycin ร่วมกับยาดังต่อไปนี้
    • ยารักษาเกี่ยวกับไขมันในเลือด เช่น อะโทวาสแตติน (Atorvastatin) ซิมวาสแตติน (Simvastatin)
    • ยารักษาเชื้อรา เช่น ฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ไอทราโคนาโซล (Itraconazole) คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) โวริโคนาโซล (Voriconazole)
    • ยารักษาการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ เช่น อะมิโอดาโรน (Amiodarone) โปรเคนเอไมด์ (Procainamide) โพรพาฟีโนน (Propafenone) ควินิดีน (Quinidine)
    • ยารักษาอาการทางจิตเวช เช่น พิโมไซด์ (Pimozide) ไทโอริดาซีน (Thioridazine) ซิพราสิโดน (Ziprasidone)
    • ยารักษาโรคมาลาเรีย เช่น คลอโรควิน (Chloroquine)
    • ยารักษาอาการกรดไหลย้อน เช่น ซิซ่าไพรด์ (Cisapride)
    • ยารักษาอาการปวดเรื้อรัง เช่น เมทาโดน (Methadone)
    • ยารักษาอาการแพ้ เช่น เทอร์เฟนาดีน (Terfenadine)
    • ยารักษาอาการปวดหรือโรคลมชัก เช่น คาร์บามาซีปิน (Carbamazepine)
    • ยารักษาภาวะอุดตันของหลอดเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin)
    • ยารักษาโรคหัวใจ เช่น ไดจอกซิน (Digoxin)
    • ยารักษาอาการชัก เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin)
    • ยารักษาอาการหอบ เช่น ทีโอฟิลลีน (Theophylline)
    • ยารักษาอาการปวดไมเกรน เช่น เออร์โกตามีน (Ergotamine)
    • ยาคุมกำเนิด

ปริมาณการใช้ยา ยา Erythromycin ใช้ในการรักษาการติดเชื้อจากแบคทีเรียในหลายอาการ ขนาดและปริมาณการใช้ยาจะแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอายุหรือเงื่อนไขของผู้ป่วยแต่ละราย

ตัวอย่างปริมาณการใช้ยา Erythromycin

  • การติดเชื้อที่ไวต่อยานี้
  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาฉีดขนาด 15-20 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงใช้ขนาดสูงสุดไม่เกิน 4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
  • เด็ก ใช้ยาฉีดขนาด 12.5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 4 ครั้งต่อวัน หรืออาจเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และในเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 1 เดือน ใช้ยาฉีดขนาด 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม 3 ครั้งต่อวัน
  • การติดเชื้อสเตรปโทคอกคัสในผู้ป่วยที่มีอาการของไข้รูมาติกหรือโรคหัวใจ
  • ผู้ใหญ่ รับประทานยาขนาด 250 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้เพนิซิลินหรือซัลโฟนาไมด์
  • เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 1 เดือนถึง 2 ปี รับประทานยาขนาด 125 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน ในผู้ป่วยที่มีอาการแพ้เพนิซิลินหรือซัลโฟนาไมด์
  • การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ การติดเชื้อที่ผิวหนัง
  • ผู้ใหญ่ รับประทานขนาด 1-2 กรัมต่อวัน ยาที่มีขนาดมากกว่า 1 กรัม ควรแบ่งให้มากกว่า 2 เวลา ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงใช้ขนาดสูงสุดไม่เกิน 4 กรัมต่อวัน
  • เด็ก รับประทานขนาด 30-50 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งเป็น 2-4 เวลา หรืออาจเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่าในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และในเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี รับประทานขนาด 500 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเด็กที่มีอายุ 2-8 ปี รับประทานขนาด 1 กรัมต่อวัน แบ่งเป็น 2-4 เวลา
  • การติดเชื้อที่ตา
  • ผู้ใหญ่ ใช้ยาป้ายตาขนาดความแรง 0.5% ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ป้ายที่ตาข้างที่มีการติดเชื้อใช้ได้ถึง 6 ครั้งต่อวัน
  • ตาแดงในทารก
  • เด็ก ใช้ยาป้ายตาขนาดความแรง 0.5% ขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ป้ายที่ขอบตาล่างแล้วนวดเบา ๆ เพื่อให้ยากระจายตัว
  • สิว
  • ผู้ใหญ่ รับประทานขนาด 250 มิลลิกรัม ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงใช้ขนาดสูงสุดไม่เกิน 500 มิลลิกรัม 2 ครั้งต่อวัน หรือยาทาภายนอกขนาดความแรง 2-4% ทาในบริเวณที่มีการติดเชื้อ 1-2 ครั้งต่อวัน ควรหยุดใช้ยาหากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลงหลังการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์ ใช้ยาสูงสุดต่อเนื่องได้ไม่เกิน 24 สัปดาห์

การใช้ยา Erythromycin

  • ยา Erythromycin เป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ขนาดและปริมาณขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อาการ ความรุนแรง อายุและน้ำหนักตัวของผู้ป่วย ควรอ่านฉลากยาและทำตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ควรใช้ยาในปริมาณที่มากหรือน้อยเกินไป และไม่ควรใช้ยานี้เกินกว่าระยะเวลาที่แพทย์สั่ง
  • ควรรับประทานยาให้ครบตามที่แพทย์กำหนด หากพบว่ามีอาการที่ดีขึ้นแล้ว ไม่ควรหยุดใช้ยาจนกว่ายาจะหมด เพราะจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทำให้เชื้อดื้อยาหากเกิดการติดเชื้อในครั้งต่อไป
  • ยาชนิดรับประทานควรรับประทานตอนท้องว่าง อย่างน้อย 30 นาทีก่อนหรือ 2 ชั่วโมงหลังมื้ออาหาร รับประทานทั้งเม็ด ไม่ควรกัด เคี้ยว หรือทำให้แตก
  • หากลืมรับประทานทานยาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้สามารถรับประทานได้ทันที หากลืมรับประทานยาใกล้กับมื้ออาหารถัดไป ให้รับประทานยาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเพื่อทดแทนในมื้อที่ขาดหายไป
  • ควรเก็บยาไว้ที่อุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 15-30 องศาเซลเซียส ปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้ยา ยาน้ำแขวนตะกอนสำหรับรับประทาน ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ไม่ควรเก็บในที่ที่มีความร้อน ความชื้น หลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงโดยตรง และไม่ควรใช้ยาที่หมดอายุ

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Erythromycin

ยา Erythromycin อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ในผู้ป่วยบางราย หากมีอาการลมพิษ หายใจลำบาก มีอาการบวมที่ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือลำคอ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน โดยอาการข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป เช่น ท้องเสียอ่อน ๆ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร แต่อาจพบผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้ไม่มากนักดังต่อไปนี้

  • ปวดศีรษะร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก วิงเวียนศีรษะ และหัวใจเต้นเร็วและแรงผิดปกติ
  • มีปัญหาในการได้ยิน
  • คลื่นไส้ ปวดท้องช่วงบน คัน รู้สึกเหนื่อย เบื่ออาหาร ปัสสาวะมีสีเข้ม อุจจาระมีสีซีด ตาหรือผิวมีสีเหลือง
  • มีไข้ เจ็บคอ มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้าหรือลิ้น แสบตา แสบผิว ตามด้วยผื่นแดงหรือออกม่วง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและช่วงบนของลำตัว เป็นตุ่มพองและผิวลอก

ในผู้สูงอายุมีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงได้มากกว่า เช่น สูญเสียการได้ยิน การเต้นของหัวใจที่เร็วผิดปกติและอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต

    โรคที่เกี่ยวข้อง:

  • การติดเชื้อสเตรปโทคอกคัส
  • การติดเชื้อที่ตา
  • การติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
  • สิว