ลูกตัวร้อน พ่อแม่ควรดูแลอย่างไร ?

เด็กเล็กมักตัวร้อน เป็นไข้ และเจ็บป่วยได้ง่าย แม้ส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากโรคหรือภาวะที่ร้ายแรง ทว่าหากลูกตัวร้อน มีเหงื่อท่วม และแก้มแดงเพราะพิษไข้ อาจทำให้คุณพ่อคุณแม่วิตกกังวลจนทำอะไรไม่ถูก การเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์เช่นนี้อาจช่วยให้พ่อแม่รู้วิธีดูแลและบรรเทาอาการไข้ให้ลูกน้อยได้ดียิ่งขึ้น

1618 ลูกตัวร้อน Resized

สังเกตอย่างไรว่าลูกตัวร้อน ?

พ่อแม่สามารถสังเกตอาการไข้ของลูกได้จากการสัมผัสดูว่าตัวร้อนกว่าปกติหรือไม่ และเพื่อให้แน่ใจควรใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ด้วย โดยอุณหภูมิร่างกายปกติไม่ควรเกิน 37.6 องศาเซลเซียส แต่หากมีอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 37.6-38.4 องศาเซลเซียส แสดงว่าเด็กมีไข้ต่ำ และหากสูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียสขึ้นไปจะจัดว่ามีไข้สูง

นอกจากนี้ เด็กอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วยในช่วงที่อุณหภูมิร่างกายเริ่มสูงขึ้น และอาจมีเหงื่อออกเมื่อไข้เริ่มลดลง ซึ่งเป็นกลไกปลดปล่อยความร้อนที่มากเกินไปออกจากร่างกาย

ลูกตัวร้อนเกิดจากอะไร ?

อุณหภูมิร่างกายของคนเราถูกควบคุมด้วยสมองส่วนที่เรียกว่าไฮโปโทลามัส สมองส่วนนี้จะคอยส่งสัญญาณให้ร่างกายรักษาอุณหภูมิไว้ในระดับที่เหมาะสม คือ ประมาณ 37 องศาเซลเซียส ซึ่งในระหว่างวันอุณหภูมิร่างกายอาจเปลี่ยนไปได้เล็กน้อย โดยในตอนเช้ามักมีอุณหภูมิต่ำกว่าช่วงเวลาอื่น ๆ และอาจเพิ่มขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลัง

อาการตัวร้อนหรือมีไข้นั้นเกิดจากสมองส่วนไฮโปโทลามัสปรับอุณหภูมิร่างกายให้สูงกว่าเดิม ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปัจจัยเหล่านี้

  • การติดเชื้อ อาการไข้มักเกิดจากการติดเชื้อหรือความเจ็บป่วยอื่น ๆ เนื่องจากเป็นกลไกธรรมชาติที่ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรค
  • การก่อภูมิคุ้มกัน หลังจากได้รับวัคซีน ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคนั้น ๆ ขึ้นมา ทำให้เด็กอาจมีไข้อ่อน ๆ ได้
  • การสวมใส่เสื้อผ้าหนาเกินไป ทารกที่สวมใส่เสื้อผ้าหนาเกินไปหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อึดอัดอาจมีอุณหภูมิร่างกายเพิ่มสูงขึ้นได้ เนื่องจากร่างกายยังปรับอุณหภูมิได้ไม่ดีเท่าเด็กที่โตกว่า

ทำอย่างไรเมื่อลูกตัวร้อน ?

อาการตัวร้อนและมีไข้ไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเสมอไป หากเด็กยังอยากเล่นสนุก สามารถกินอาหาร ดื่มน้ำ มีพฤติกรรมต่าง ๆ ตามปกติและไม่มีอาการอึดอัดไม่สบายตัว ก็ไม่จำเป็นต้องให้ลูกรับประทานยา เพียงพยายามบรรเทาไข้ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เบื้องต้นควรเช็ดตัวเด็กด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา โดยเช็ดย้อนขึ้นจากปลายมือไปยังต้นแขนและลำตัว จากปลายเท้าไปสู่ต้นขา และพักผ้าไว้บริเวณหน้าผาก ซอกคอ ใต้รักแร้ และขาหนีบ เพื่อระบายความร้อน แต่การเช็ดตัวจะช่วยให้อุณหภูมิลดลงเพียงชั่วคราวเท่านั้นและอาจต้องเช็ดตัวใหม่อีกครั้ง โดยห้ามให้เด็กอาบน้ำเย็น และไม่ใช้แอลกอฮอล์ถูผิวหนังเด็กเพราะอาจซึมผ่านเข้าสู่ร่างกายจนเป็นอันตรายได้
  • ให้เด็กดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและช่วยให้อุณหภูมิร่างกายลดลง รวมทั้งหมั่นเฝ้าระวังอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ตาโบ๋ ไม่มีน้ำตา ปัสสาวะน้อยลง เป็นต้น
  • หากเด็กดื่มน้ำเพียงพอแล้วหรือไม่รู้สึกอยากอาหาร พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้เด็กกินและไม่ต้องวิตกกังวลจนเกินไป เพราะอาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ
  • หากเด็กอาเจียนหรือท้องเสียร่วมด้วย อาจสอบถามแพทย์เกี่ยวกับการใช้เกลือแร่สำหรับเด็กโดยเฉพาะ และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเกลือแร่ที่ใช้ทดแทนการเสียเหงื่อจากการออกกำลังกาย เพราะมีส่วนผสมของน้ำตาลและอาจทำให้อาการท้องเสียแย่ลง
  • อย่าให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาหรืออึดอัดเกินไป โดยเฉพาะในระหว่างนอนหลับ
  • หากคาดว่าเด็กมีไข้เนื่องจากใส่เสื้อผ้าหนาเกิน อากาศร้อน หรือเล่นสนุกจนเป็นไข้ ควรให้เด็กสวมใส่เสื้อผ้าสบาย ๆ และให้นอนพักผ่อนหรือเล่นในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย ไม่ร้อนจนเกินไป เพื่อให้อุณหภูมิร่างกายลดลง
  • หากเด็กมีอาการหนาวสั่น ควรให้ห่มผ้าหนา ๆ เมื่อไข้ลดลงให้นำผ้าที่ห่มออก
  • หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของเด็กในระหว่างที่เด็กนอน
  • กรณีที่อาการไข้เกิดจากการติดเชื้อ ควรให้ลูกหยุดเรียนเพื่อพักผ่อนและลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อไปสู่เด็กคนอื่น หากไปโรงเรียนหรือฝากเด็กไว้ที่สถานรับเลี้ยง ควรแจ้งผู้ดูแลด้วยว่าเด็กมีไข้
  • หากเด็กดูไม่สบายตัว พ่อแม่อาจให้รับประทานยาลดไข้อย่างพาราเซตามอล โดยปฏิบัติตามคำเตือนและวิธีการใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ห้ามให้เด็กที่มีอายุไม่ถึง 2 เดือนใช้ยาใด ๆ โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามให้เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปีใช้ยาแอสไพริน

เมื่อไรควรพาเด็กไปพบแพทย์ ?

หากลูกตัวร้อนและแสดงอาการผิดปกติดังต่อไปนี้ พ่อแม่ควรพาเด็กไปพบแพทย์

  • เด็กมีอายุต่ำกว่า 3 เดือน และมีอุณหภูมิที่วัดจากทางทวารหนัก 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป ซึ่งถือเป็นภาวะเร่งด่วน เพราะการมีไข้แม้เพียงเล็กน้อยในช่วงวัยนี้อาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ปฏิเสธการดื่มน้ำและการกินอาหาร หรือดูป่วยเกินกว่าจะดื่มน้ำได้อย่างเพียงพอ
  • มีอาการของภาวะขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ ไม่มีน้ำตาเมื่อร้องไห้ เฉื่อยชาผิดปกติ เป็นต้น
  • อาเจียนและท้องเสียอย่างต่อเนื่อง
  • เด็กบอกว่ามีอาการผิดปกติ เช่น ปวดศีรษ ะ เจ็บคอ เจ็บหู เป็นต้น
  • มีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมกับมีไข้ตัวร้อน ไข้ไม่ลดลงแม้จะเช็ดตัวหรือรับประทานยาแล้ว และอาการไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วัน
  • มีไข้บ่อยครั้ง แม้แต่ละครั้งจะเป็นเวลาไม่นานก็ตาม
  • มีผื่นขึ้น
  • รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ
  • มีโรคประจำตัว เช่น แพ้ภูมิตัวเอง โรคหัวใจ มะเร็ง เป็นต้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากลูกตัวร้อนมีไข้ร่วมกับมีอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

  • ร้องไห้ไม่หยุด แม้จะพยายามปลอบหรือเบี่ยงเบนความสนใจแล้ว
  • ร้องไห้เสียงสูง หรือเสียงผิดไปจากปกติ
  • หงุดหงิดฉุนเฉียวมากผิดปกติ
  • เฉื่อยชา ตื่นยาก
  • มีผื่นหรือจุดสีม่วงบนผิวหนังคล้ายรอยฟกช้ำ ซึ่งไม่หายไปเมื่อออกแรงกดบนผิวหนังบริเวณนั้น
  • ริมฝีปาก คอ หรือเล็บเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ
  • ศีรษะบางส่วนมีรอยยุบหรือนูน
  • ปวดคอหรือขยับคอลำบาก
  • ปวดศีรษะอย่างรุนแรง
  • ขยับแขนขาตามปกติไม่ได้ หรือไม่ยอมเคลื่อนไหวร่างกาย
  • นั่งฟุบตัวลงไป
  • น้ำลายไหล
  • ปวดท้อง
  • มีปัญหาในการหายใจ หายใจเร็ว หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

นอกจากนี้ หากเด็กมีไข้จนชัก ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและพบได้ในเด็กช่วงอายุ 6 เดือนถึง 6 ปี โดยอาจไม่แสดงอาการชักออกมาอย่างชัดเจน แต่ดูคล้ายเด็กกำลังจะหมดสติ ควรจัดท่าให้เด็กนอนตะแคง ห้ามให้กัดช้อนหรืออุปกรณ์ใด ๆ และรีบโทรเรียกหน่วยแพทย์ฉุกเฉินหรือพาเด็กไปพบแพทย์ทันทีหากเด็กชักเป็นเวลานาน ทั้งนี้ หากตัวเด็กเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติชักเมื่อมีไข้สูง ควรเฝ้าระวังอาการของเด็กมากเป็นพิเศษ โดยให้รับประทานยาลดไข้และเช็ดตัวบ่อย ๆ