ระบบภูมิคุ้มกัน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสุขภาพที่ควรรู้

ระบบภูมิคุ้มกัน (Immune System) หนึ่งในกลไกการทำงานของร่างกายซึ่งมีหน้าที่ดูแลและป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อในร่างกายมนุษย์ ถือเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการเจ็บป่วย

ระบบภูมิคุ้มกัน

ระบบภูมิคุ้มกันประกอบขึ้นด้วยสารเคมีที่สร้างขึ้นภายในร่างกายเพื่อใช้ต่อสู้กับการติดเชื้อ และเซลล์ที่มีคุณสมบัติพิเศษ ได้แก่ เซลล์เม็ดเลือดขาว โดยเซลล์ชนิดนี้จะถูกสร้างขึ้นภายในไขกระดูก จากนั้นจะเคลื่อนที่เข้าสู่กระแสเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ เพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อ โดยเซลล์เหล่านี้จะเริ่มทำงานเมื่อมีเชื้อโรคอยู่ภายในร่างกายมากเกินไป หากภูมิคุ้มกันกำจัดเชื้อดังกล่าวออกไป ระบบภูมิคุ้มกันจะจดจำเชื้อโรคเหล่านั้นไว้ เมื่อมีเชื้อโรคดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง ระบบภูมิคุ้มกันก็จะกำจัดเชื้อโรคดังกล่าวออกไปได้อย่างรวดเร็ว

ไม่เพียงเท่านั้น ระบบภูมิคุ้มกันยังทำหน้าที่ในการผลิตโปรตีนชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า แอนติบอดี (Antibodies) มีฤทธิ์ในการต้านพิษที่เกิดจากการติดเชื้อหรือมาจากเชื้อโรคโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยแม้จะเกิดอาการติดเชื้อก็จะค่อย ๆ มีอาการดีขึ้นตามลำดับ ระบบภูมิคุ้มกันแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

  • ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (Innate Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นเองได้เพื่อป้องกันเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ ที่มาจากสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ทำให้มนุษย์ปลอดภัยจากการติดเชื้อที่มาจากสัตว์อื่น ๆ ได้ โดยภูมิคุ้มกันชนิดนี้เป็นภูมิคุ้มกันซึ่งทำหน้าที่ทั่วไป รวมถึงผิวหนัง และเยื่อบุซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันเชื้อโรคด้วย หากร่างกายได้รับเชื้อในเบื้องต้น ภูมิคุ้มกันนี้จะทำงานเพื่อป้องกันและช่วยปิดผนึกช่องทางที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายปลอดภัยจากการติดเชื้อ
  • ภูมิคุ้มกันแบบเจาะจง (Adaptive Immunity) เป็นภูมิคุ้มกันที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเองหลังจากเกิดอาการเจ็บป่วย เพื่อลดความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะกลับมาติดเชื้อโรคเดิม
  • ภูมิคุ้มกันแบบรับมาจากภายนอก (Passive Immunity) คือภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากภายนอกร่างกายเพื่อช่วยต่อสู่กับการติดเชื้อในระยะเวลาสั้น ๆ เช่น เด็กที่ดื่มนมแม่จะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ ช่วยป้องกันการติดเชื้อที่อันตรายในช่วงวัยกำลังเจริญเติบโต เป็นต้น และเมื่อถึงระยะเวลาหนึ่งระบบภูมิคุ้มกันนี้จะเสื่อมสภาพลง

ทั้งนี้ ระบบภูมิคุ้มกันของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เมื่ออายุมากขึ้น หรือผ่านการติดเชื้อใด ๆ มา จะทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อนั้น ๆ มากขึ้น เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์จดจำการติดเชื้อได้จึงช่วยให้ป้องกันเชื้อโรคเหล่านั้นได้ดีขึ้นนั่นเอง

ระบบภูมิคุ้มกันทำงานอย่างไร ?

เมื่อเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายแล้ว เซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายจะเริ่มทำงานเพื่อตอบสนองต่อการติดเชื้อด้วยการสร้างแอนติบอดีขึ้นมา โดยแอนติบอดีเป็นโปรตีนชนิดพิเศษที่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคได้อย่างเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ เมื่อถูกสร้างขึ้นแล้วแอนติบอดีชนิดนี้จะคงอยู่ในร่างกายเพื่อเฝ้าระวังการติดเชื้อในครั้งต่อไป ทำให้ผู้ป่วยไม่กลับมาป่วยด้วยโรคเดิมซ้ำ และแอนติบอดีจะส่งต่อให้เซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดอื่น ๆ กำจัดเชื้อโรคเหล่านั้นออกจากร่างกาย ทั้งนี้เชื้อบางชนิดอาจไม่สามารถกำจัดได้จนหมด แต่ระบบภูมิคุ้มกันก็จะป้องกันไม่ให้เชื้อเหล่านั้นออกฤทธิ์ต่อสุขภาพในภายหลังได้

หากระบบภูมิคุ้มกันเกิดความผิดปกติจะเกิดอะไรขึ้นได้บ้าง

หากระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ อันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพ หรือปัจจัยอื่น ๆ มีความเสี่ยงต่อโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน อันได้แก่

  • อาการแพ้หรือโรคหอบหืด หากระบบภูมิคุ้มกันทำงานมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการแพ้ที่รุนแรง หรือโรคหอบหืดที่รุนแรงมากขึ้นจนเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง หากภูมิคุ้มกันลดลงมากผิดปกติ จะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง และเสี่ยงต่อการติดเชื้อร้ายแรงมากขึ้น หรือการติดเชื้อเพียงเล็กน้อยอาจส่งผลร้ายแรงต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งโรคที่อาจพบได้แก่ ปัญหาทางพันธุกรรมซึ่งพบได้น้อย เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องปฐมภูมิ (Severe combined immunodeficiency Disease: SCID) หรือการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เป็นต้น
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune Disease) การทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันอาจส่งผลร้ายโดยย้อนกลับมาทำลายเซลล์และเนื้อเยื่อต่าง ๆ ในร่างกายได้ อาจก่อให้เกิดโรคพุ่มพวง (แพ้ภูมิตัวเอง)
  • โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ อันเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปทำลายเนื้อเยื่อที่ข้อต่อต่าง ๆ และโรคไทรอยด์ตาโปนซึ่งเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันจู่โจมต่อมไทรอยด์ ซึ่งหากไม่รักษาจะเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

ปัจจัยที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอคืออะไร ?

นอกจากโรคภัยไข้เจ็บที่ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง ได้แก่

  • พักผ่อนไม่เพียงพอ หากพักผ่อนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวันสะสมไปเป็นนาน ๆ จะยิ่งทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนความเครียดเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลเสียต่อระบบภูมิคุ้มกัน เสี่ยงต่ออาการอักเสบและติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  • ไม่ออกกำลังกาย การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ในทางกลับกัน หากไม่ออกกำลังกายจะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงได้ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยให้ร่างกายสร้างสารเคมีชนิดดีช่วยให้ร่างกายแข็งแรง รู้สึกสดชื่น และภูมิต้านทานสูงขึ้น
  • รับประทานอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การรับประทานน้ำตาลมาก ๆ และรับประทานผักผลไม้น้อยจะส่งผลเสียต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย เนื่องจากร่างกายไม่มีแร่ธาตุและวิตามินที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงมากพอ
  • เครียดสะสม ความเครียดส่งผลต่อต่อระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง เพราะเมื่อในร่างกายมีความเครียดสูงขึ้น ฮอร์โมนความเครียดจะไปกดภูมิคุ้มกันให้อ่อนแอลงจนร่างกายเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

เสริมสร้างภูมิคุ้มกันอย่างไรให้แข็งแรง

ภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงจะส่งผลดีต่อสุขภาพโดยรวม ดังนั้น การดูแลสร้างเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งทำได้ง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เพราะระบบภูมิคุ้มกันจะดีหรือไม่อยู่กับรูปแบบการใช้ชีวิตของแต่ละคน ตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน ปฏิบัติได้ ดังนี้

  • ไม่สูบบุหรี่
  • เน้นรับประทานอาหารจำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช และอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวน้อย
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ควบคุมน้ำหนัก และความดันโลหิต
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่พอเหมาะ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ล้างมือบ่อย ๆ และไม่ควรรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ

นอกจากนี้ การรับประทานอาหารเสริมบางชนิดอาจช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน หรือช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้เช่นกัน แต่ได้แค่เพียงบางส่วนเท่านั้น สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องระบบภูมิคุ้มเนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น จากโรคประจำตัว หรืออายุที่มากขึ้น วัคซีนถือเป็นตัวเลือกที่ช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันทำหน้าที่ป้องกันอาการเจ็บป่วยของโรคติดเชื้อร้ายแรงบางชนิดได้ดีขึ้น

ระบบภูมิคุ้มกันถือเป็นปราการด่านสำคัญของสุขภาพ ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดี จึงควรใส่ใจในเรื่องระบบภูมิคุ้มกันให้มากขึ้น หากเกิดความผิดปกติ เช่น มีการติดเชื้อบ่อยขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจให้ละเอียด หากปล่อยปละละเลยอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยร้ายแรงภายหลังได้