มือสั่น

ความหมาย มือสั่น

มือสั่น เป็นอาการที่ทำให้เกิดความยากลำบากในการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน แต่มักจะไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต อาจเป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้นของโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาท และสมองส่วนควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือเกิดการเสื่อมสภาพของร่างกาย โดยผู้ที่มีอาการมือสั่นจำนวนมากมีสาเหตุมาจากโรคพาร์กินสัน แต่สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด คือโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) นอกจากนั้น ยังอาจเกิดจากความผิดปกติของระบบเผาผลาญ หรือสารพิษที่ได้รับในชีวิตประจำวัน เช่น แอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่อสมองและระบบประสาท รวมไปถึงผลข้างเคียงจากการใช้ยารักษาโรค

มือสั่น

การรักษาขึ้นกับสาเหตุ สำหรับในกรณีมือสั่นที่ไม่มีสาเหตุ ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา เพราะอาการมักจะหายไปได้เอง ส่วนผู้ที่มีอาการรุนแรงและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษา

อาการมือสั่น

อาการมือสั่นที่พบได้บ่อยที่สุด คือโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) เป็นโรคทางระบบประสาทที่เกิดขึ้นกับวัยผู้ใหญ่จำนวนมาก คาดว่าเป็นเพราะการทำงานที่ผิดปกติหรือการหยุดทำงานของสมองส่วนเซรีเบลลัม (Cerebellum) โดยนักวิจัยยังไม่สามารถหาสาเหตุของการทำงานที่ผิดปกติหรือการหยุดทำงานของสมองส่วนดังกล่าวได้

อาการมือสั่นจากโรคดังกล่าว จะเริ่มต้นเป็นที่มือ โดยจะมีอาการสั่นเกิดขึ้นอยู่บ่อย ๆ ขยับขึ้นและลงโดยที่ไม่สามารถบังคับตนเองได้ และยังเกิดขึ้นกับอวัยวะส่วนอื่น ๆ ในร่างกายได้ เช่น แขน ศีรษะ เปลือกตา ริมฝีปาก หรือกล้ามเนื้อ และรวมไปถึงกล่องเสียง ซึ่งอาจทำให้เสียงสั่น นอกจากนั้น อาการสั่นจากโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ มักจะสังเกตได้อย่างชัดเจน เมื่อผู้ที่มีอาการพยายามใช้มือจับหรือควบคุมสิ่งของบางอย่าง เช่น เขียนหนังสือ เป็นต้น

สำหรับอาการสั่นที่พบได้บ่อยอีกโรค คือโรคพาร์กินสัน ซึ่งจะเริ่มต้นอาการสั่นที่แขนและขา โดยเฉพาะที่มือหรือนิ้วมือ ซึ่งอาจจะสังเกตเห็นนิ้วชี้และนิ้วโป้งขยับไปมา นอกจากนั้น อาการสั่นของโรคพาร์กินสันจะสังเกตอาการได้แม้ในขณะอยู่ในท่าที่ผ่อนคลาย

สาเหตุของมือสั่น

สาเหตุของมือสั่น อาจเกิดจากโรคหรือภาวะต่าง ๆ ได้แก่

  • โรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) โรคทางระบบประสาทที่สันนิษฐานว่าเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมองส่วนเซรีเบลลัม (Cerebellum) โดยปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของความผิดปกติดังกล่าว
  • โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) เป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อสมองส่วนที่สั่งงานการเคลื่อนไหวของอวัยวะในร่างกาย อาการสั่นอาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับผู้ป่วยทุกราย แต่โดยส่วนใหญ่ในระยะเริ่มต้นของโรค มือ เท้า หรือนิ้วมือมักจะมีอาการสั่น
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis) เป็นโรคที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งมีความเกี่ยวของกับการเคลื่อนไหวและความรู้สึกของร่างกาย ทำให้เกิดอาการสั่นที่มือหรือเท้า และจะมีอาการสั่นคล้าย ๆ กับโรคสั่นไม่ทราบสาเหตุ คือสั่นในขณะที่กำลังเคลื่อนไหวมือ
  • โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่อาจทำให้เกิดอาการสั่นพร้อมกับอาการอื่น ๆ แต่จะพบได้น้อยมาก
  • ภาวะกล้ามเนื้อบิดเกร็ง (Dystonia) เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย ที่ทำให้เกิดการกระตุกของกล้ามเนื้อ
  • ภาวะถอนพิษสุรา (Alcohol Withdrawal) ผู้ที่ไม่ได้มีการติดสุรามากอาจทำให้มีอาการมือสั่นเพียงไม่กี่วัน แต่ผู้ที่ติดสุรา ดื่มมากหรือดื่มมากเป็นระยะเวลานาน ก็อาจทำให้เกิดอาการสั่นได้นานเป็นปีหรือมากกว่านั้น
  • ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism) ต่อมไทรอยด์จะอยู่บริเวณคอเหนือกระดูกไหปลาร้า เมื่อต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน ระบบต่าง ๆ ทั้งร่างกายก็จะทำงานเร็วขึ้น เช่น อาจทำให้มีปัญหาในการนอนหลับ หัวใจเต้นเร็วกวาปกติ และมีอาการมือสั่น
  • ปลายประสาทอักเสบ (Peripheral Neuropathy) เป็นผลมาจากระบบประสาทส่วนปลายได้รับความเสียหาย ซึ่งทำให้เกิดอาการสั่นได้
  • ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ภาวะนี้จะไปกระตุ้นให้เกิดความเครียด ซึ่งเป็นการตอบสนองตามธรรมชาติของร่างกาย และทำให้เกิดอาการสั่นได้
  • ความเครียด เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้ โดยอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์โกรธที่รุนแรง หิวจัด หรือภาวะขาดนอน โดยสิ่งเหล่านี้อาจทำให้เกิดอาการมือสั่นหรือที่เรียกว่า การสั่นทางสรีรวิทยา (Physiologic Tremors)
  • การขาดวิตามิน บี 12 จะทำให้ระบบประสาททำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการสั่นได้เล็กน้อย
  • ยารักษาโรค สาเหตุที่พบบ่อย คือการใช้ยารักษาโรคที่ไปปิดกั้นสารเคมีในสมองที่ชื่อว่า โดพามีน (Dopamine) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทที่สำคัญ โดยยาเหล่านี้จะนำมาใช้ระงับอารมณ์หรือความรู้สึก เมื่อหยุดใช้ยาอาการสั่นก็จะหยุดลง

การวินิจฉัยมือสั่น

การวินิจฉัยมือสั่นจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ แพทย์จะวินิจฉัยโดยสอบถามประวัติโรคประจำตัว ประวัติของคนในครอบครัวและอาการที่เกิดขึ้น รวมไปถึงการตรวจร่างกาย นอกจากนั้น การวินิจฉัยมักจะทำเพื่อคัดแยกโรคที่ทำให้เกิดอาการ ซึ่งแพทย์อาจทดสอบด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การตรวจระบบประสาทและการรับความรู้สึก แพทย์จะตรวจสอบการทำงานของระบบประสาท ได้แก่ ตรวจรีเฟล็กซ์ของเส้นเอ็น ความแข็งแรงและกำลังของกล้ามเนื้อ ความสามารถในการรู้สึก ท่าทางและการประสานงานของร่างกาย และท่าเดิน
  • การทดสอบในห้องปฏิบัติการ แพทย์อาจตรวจเลือดและปัสสาวะ เพื่อตรวจหาโรคหรือภาวะต่าง ๆ เช่น โรคของต่อมไทรอยด์ ความผิดปกติของระบบเผาผลาญ ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ระดับของแอลกอฮฮล์ และระดับของสารเคมีที่อาจทำให้เกิดอาการสั่น
  • ทดสอบสมรรถภาพ เพื่อประเมินอาการสั่น โดยแพทย์อาจจะให้ผู้ป่วยปฏิบัติกิจกรรมบางอย่าง เช่น ดื่มน้ำจากแก้วน้ำ เขียนหนังสือ วาดภาพเป็นวงก้นหอย หรือกางแขนออก

แต่หากแพทย์ยังไม่แน่ใจว่าอาการสั่นเกิดขึ้นจากสาเหตุใด ระหว่างโรคสั่นที่ไม่ทราบสาเหตุหรือโรคพาร์กินสัน แพทย์อาจตรวจสอบการทำงานของสารสื่อประสาทโดพามีน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถแยกแยะความแตกต่างอาการสั่นของ 2 ประเภทนี้ได้

การรักษามือสั่น

การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ โดยแพทย์จะรักษาตามสาเหตุที่พบ แต่หากเกิดจากการสั่นไม่ทราบสาเหตุ (Essential Tremor) จะรักษาได้ด้วยวิธีดังนี้

  • ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) โดยปกติจะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง เช่น ยาโพรพราโนลอล (Propranolol) สามารถนำมาใช้รักษาอาการสั่นกับผู้ป่วยบางราย แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืด หรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ อาจจะไม่เหมาะสมที่จะใช้ยานี้ นอกจากนั้น อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อ่อนเพลีย หวิว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ
  • ยาต้านชัก (Anti-Seizure Medication) เช่น ยากาบาเพนติน (Gabapentin) และยาโทพิราเมท (Topiramate) เป็นยาที่ใช้สำหรับผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเบต้า บล็อกเกอร์ อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงคือ ง่วงซึมหรือคลื่นไส้ แต่เพียงไม่นานอาการเหล่านี้ก็จะหายไป
  • ยาคลายเครียดหรือยาคลายกังวล เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) ถูกนำมาใช้รักษาโรควิตกกังวล และโรคแพนิค แต่มีการวิจัยว่ายานี้นำมารักษาอาการสั่นได้ ควรใช้อย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยติดใช้ยาได้
  • โบท็อกซ์ (Botox) เป็นที่ยอมรับในการนำมาใช้รักษาอาการสั่นที่มือ หากฉีดแล้วเป็นผลดีก็จะช่วยส่งผลในการรักษานาน 3 เดือน แต่เป็นยาที่อาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณที่ฉีดอ่อนแรงได้อย่างถาวร ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์จากการรักษาด้วยวิธีนี้
  • กายภาพบำบัด โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกายเพื่อพัฒนาความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ความสามารถในการควบคุมร่างกายและการประสานงานกันของร่างกาย
  • กิจกรรมบำบัด โดยให้ผู้ป่วยที่มีอาการมือสั่นฝึกใช้อุปกรณ์ที่ช่วยให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ เช่น ถือแก้วน้ำที่มีน้ำหนักมาก ใส่สร้อยข้อมือถ่วงน้ำหนัก จับปากกาที่ขนาดกว้างหรือมีน้ำหนักมาก
  • การผ่าตัด จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการแย่หรือรุนแรง
    • การผ่าตัดกระตุ้นสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation) เป็นวิธีผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้า (Electrode) เข้าไปในสมอง ซึ่งขั้วไฟฟ้าจะส่งสัญญาณรบกวนการทำงานในสมองที่ทำให้เกิดอาการสั่น
    • การผ่าตัดสมองส่วนทาลามัส (Thalamotomy) เป็นการผ่าตัดสมองในบริเวณทาลามัสที่เป็นต้นเหตุรบกวนคลื่นไฟฟ้าในสมอง ซึ่งจะช่วยลดและหยุดอาการสั่นได้

ภาวะแทรกซ้อนมือสั่น

อาการสั่นหรือมือสั่น แม้จะไม่ได้เป็นอันตรายแก่ชีวิต แต่เมื่อเวลาผ่านไปมักจะทำให้มีอาการแย่ลง โดยอาจทำให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิต เช่น

  • ทำให้ถือถ้วยหรือแก้วน้ำได้ลำบาก อาจทำให้น้ำหกเพราะมือสั่น
  • รับประทานอาหารไม่ได้ตามปกติ จับช้อนส้อมลำบาก
  • แต่งหน้าหรือโกนหนวดไม่ได้
  • บางรายที่กล่องเสียงหรือลิ้นได้รับผลกระจากอาการสั่น จะทำให้พูดลำบากหรือเสียงสั่น
  • เขียนหนังสือลำบาก

การป้องกันมือสั่น

การป้องกันมือสั่น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีอาการมือสั่นใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น โดยปฏิบัติได้ดังนี้

  • ใช้อุปกรณ์หรือของใช้ที่มีน้ำหนักมากขึ้น เช่น แก้วน้ำ เครื่องเงิน (ช้อนหรือส้อม) จานอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ของใช้หรือจับถืออุปกรณ์ดังกล่าวได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ใช้เครื่องใช้ภายในบ้านหรือเครื่องมือที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ มีที่จับหรือควบคุมได้ง่าย เพราะผู้ที่มีอาการมือสั่น หากต้องใช้เครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ปากกา ดินสอ เครื่องมือทำสวน และอุปกรณ์ที่ใช้ในห้องครัว จะหยิบใช้ได้ไม่สะดวก
  • ใส่ที่ถ่วงน้ำหนักแบบรัดข้อมือ เพราะจะช่วยเพิ่มน้ำหนักให้กับแขนและทำให้ควบคุมมือได้ง่ายยิ่งขึ้น