กระดูกบาง

ความหมาย กระดูกบาง

Osteopenia หรือกระดูกบาง เป็นภาวะที่ร่างกายมีความหนาแน่นและมวลของกระดูกน้อยกว่าปกติ แต่ไม่น้อยถึงระดับที่จะถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคกระดูกพรุน โดยทั่วไป ผู้ที่ประสบภาวะนี้มักไม่แสดงอาการเจ็บปวดใด ๆ เป็นภาวะที่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงวัยอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับความแข็งแรงของกระดูกแต่ละคนในช่วงที่ยังเป็นวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม ภาวะนี้อาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้เช่นกัน ผู้ป่วยจึงควรดูแลรักษาสุขภาพกระดูกให้ดี

Osteopenia

อาการของ Osteopenia

ผู้ป่วยภาวะ Osteopenia จะมีค่าความหนาแน่นของกระดูกที่น้อยกว่าปกติ โดยกระดูกของผู้ป่วยจะอ่อนแอกว่าคนทั่วไป แต่จะไม่แตกหักง่ายเท่ากับผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน และผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการผิดปกติหรืออาการเจ็บปวดใด ๆ ออกมา

สาเหตุของ Osteopenia

ระบบกระดูกจะมีเซลล์สร้างกระดูกที่ทำหน้าที่สร้างกระดูกขึ้นมาใหม่จากแคลเซียมและโปรตีนตามกระบวนการเจริญเติบโตของร่างกายและเพื่อทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรอ และมีเซลล์สลายกระดูกซึ่งทำหน้าที่ย่อยสลายเนื้อกระดูกเก่าด้วย โดยภาวะ Osteopenia มักเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีการสลายกระดูกมากกว่าการสร้างกระดูก ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีปริมาณแคลเซียมในร่างกายไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่างที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะ Osteopenia เช่น

  • อายุ เมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น การทดแทนกระดูกส่วนที่สึกหรออาจเป็นไปได้ช้า ทำให้มวลกระดูกมีความหนาแน่นลดลง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี
  • เพศ ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีมวลกระดูกน้อยกว่า มีอายุยืนกว่า และมักไม่ได้รับแคลเซียมมากเท่าผู้ชาย
  • ฮอร์โมน การลดระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนในเพศหญิงอย่างการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนอาจเป็นสาเหตุของภาวะ Osteopenia ได้ โดยผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี หรือผู้หญิงที่ผ่านการผ่าตัดนำรังไข่ออกไปก่อนถึงวัยหมดประจำเดือน อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ชายที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนลดลงก็มีโอกาสเกิดภาวะนี้ด้วย
  • กรรมพันธุ์ ผู้ที่มีบุคคลในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นภาวะนี้ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับพันธุกรรมของภาวะดังกล่าวได้
  • พฤติกรรมการบริโภค การกินอาหารที่มีแคลเซียมหรือวิตามินดีไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในการสร้างกระดูกและการเจริญเติบโตอาจทำให้เกิดภาวะกระดูกบางได้ รวมทั้งการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่หรือยาสูบอื่น ๆ ด้วย
  • พฤติกรรมการออกกำลังกาย ผู้ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย โดยเฉพาะหากขาดการออกกำลังกายที่เน้นการฝึกยืดกล้ามเนื้อ อาจมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้
  • โรคและการเจ็บป่วย เช่น โรคความผิดปกติด้านการกินอย่างโรคอะนอเร็กเซียและโรคบูลิเมีย โรคเซลิแอค ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะฮอร์โมนพาราไทรอยด์สูง และกลุ่มอาการคุชชิ่ง เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น กลุ่มยาสเตียรอยด์อย่างเพรดนิโซโลนและไฮโดรคอร์ติโซน ยากันชักบางชนิดอย่างคาร์บามาซีปีน กาบาเพนติน และเฟนิโทอิน เป็นต้น นอกจากนี้ การทำคีโมหรือเคมีบำบัดที่ต้องมีการฉายรังสีก็อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้ได้เช่นกัน

การวินิจฉัย Osteopenia

เนื่องจากผู้ป่วยภาวะ Osteopenia มักไม่แสดงอาการใด ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกของภาวะนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้เข้ารับการตรวจดูความหนาแน่นของกระดูก โดยผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Osteopenia ได้แก่ ผู้หญิงที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้หญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วกว่าปกติและมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย ผู้หญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนที่ประสบภาวะกระดูกหักจากการทำกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างการดันตัวเพื่อลุกจากเก้าอี้และที่นั่งหรือการดูดฝุ่น ผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมด้วย รวมทั้งผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่ประสบภาวะกระดูกหัก

โดยทั่วไปแล้ว การตรวจความหนาแน่นของกระดูกสามารถทำได้โดยการฉายภาพรังสี DEXA Scan ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการประเมินความหนาแน่นของกระดูกในบริเวณต่าง ๆ อย่างกระดูกสันหลัง สะโพก นิ้ว ข้อมือ หน้าแข้ง หรือส้นเท้า โดยเป็นวิธีที่ใช้เวลาในการสแกนน้อย มีปริมาณรังสีที่เข้าสู่ร่างกายในขณะสแกนต่ำ และไม่สร้างความเจ็บปวดแก่ผู้ป่วย ทั้งนี้ ค่าความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density: BMD) ของคนปกติจะมากกว่า -1.0 ส่วนผู้ที่มีภาวะ Osteopenia จะมีค่า BMD อยู่ระหว่าง -1.0 ถึง -2.5 ในขณะที่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนจะมีค่า BMD น้อยกว่า -2.5

การรักษา Osteopenia

การรักษาภาวะ Osteopenia เป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก และชะลอกระบวนการเกิดภาวะนี้ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนตามมา โดยมีวิธีการดังนี้

การดูแลสุขภาพและบำรุงกระดูก

แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมทั้งหลีกเลี่ยงอาหารที่มีโซเดียมสูง นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรหมั่นออกกำลังกายด้วยวิธีที่เหมาะสม โดยผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ตอนต้นหรือสตรีที่อยู่ในช่วงวัยก่อนหมดประจำเดือนอาจออกกำลังกายด้วยวิธีการเดิน วิ่ง หรือกระโดดวันละ 30 นาที เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก แต่ผู้สูงอายุอาจเลือกออกกำลังกายด้วยวิธีที่เบาลง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการหกล้ม เช่น เดิน ว่ายน้ำ หรือปั่นจักรยาน เป็นต้น ส่วนผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนัก ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยก่อนเริ่มทำกิจกรรมนี้

การเสริมแคลเซียมและวิตามินดี

แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาเม็ดเสริมแคลเซียมและวิตามินดี ซึ่งช่วยเสริมสร้างการดูดซึมแคลเซียม เพื่อรักษามวลกระดูกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจรับแสงแดดอ่อน ๆ เพื่อเพิ่มปริมาณวิตามินดีในร่างกาย โดยอาจใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที เพียง 2 ครั้งต่อสัปดาห์

การใช้ยารักษา

โดยทั่วไปแล้ว แพทย์มักไม่แนะนำให้ใช้ยาในการรักษาภาวะนี้ เนื่องจากผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะกระดูกหักเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ค่าความหนาแน่นของกระดูกผู้ป่วยอยู่ในระดับที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูกหรือเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก เช่น ยาอเลนโดรเนต ยาไรซีโดรเนท ยาไอแบนโดรเนท และยาโซลิโดรนิก แอซิด เป็นต้น ทั้งนี้ ยาเหล่านี้อาจส่งผลข้างเคียงบางอย่าง เช่น เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร มีอาการปวดตามกระดูกและข้อ หรือรู้สึกอ่อนเพลีย เป็นต้น

การเพิ่มฮอร์โมน

แพทย์อาจฉีดหรือให้ยาเพิ่มระดับฮอร์โมนบางชนิด อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจนที่มีส่วนช่วยในการสร้างกระดูก ซึ่งมักนำมาใช้รักษาภาวะ Osteopenia ในผู้ป่วยเพศหญิงที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนหรือมีการผ่าตัดรังไข่ออกไป ซึ่งร่างกายจะไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนในระดับปกติได้ อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดลิ่มเลือดบริเวณขาและปอด รวมถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาได้

ภาวะแทรกซ้อนของ Osteopenia

ภาวะ Osteopenia อาจนำไปสู่การเกิดโรคกระดูกพรุน ซึ่งอาจทำให้กระดูกเสื่อม เปราะบาง ผิดรูป หรือแตกหักได้ง่าย ทั้งยังอาจทำให้ส่วนสูงลดลง หลังค่อม หรือมีท่าทางที่โค้งไปด้านหน้า และอาจมีอาการปวดที่รุนแรง นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจประสบภาวะกระดูกหัก ซึ่งอาจเกิดขึ้นในกรณีที่กระดูกได้รับแรงกระแทกมากเกินไป อาจก่อให้เกิดอาการปวดและเสื่อมสมรรถภาพในการทำงาน และอาจทำให้มีเลือดออกหรือได้รับบาดเจ็บบริเวณรอบกระดูกที่ได้รับแรงกระแทกอีกด้วย ส่วนกรณีที่ประสบภาวะกระดูกหักในบริเวณที่สำคัญอย่างกระดูกสันหลังหรือสะโพก อาจส่งผลให้ผู้ป่วยพิการ และอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

การป้องกัน Osteopenia

คนทั่วไปสามารถป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Osteopenia ได้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้

  • เลือกรับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลเซียมสูงอย่างโยเกิร์ต ชีส นม ถั่วต่าง ๆ ผักใบเขียวอย่างผักคะน้า ผักกระเฉด ใบยอ ใบชะพลู สะเดา กะเพรา ตำลึง ผักโขม บร็อคโคลี่ และอาหารที่มีวิตามินดีสูงอย่างตับ ไข่แดง เนื้อ ฟักทอง เห็ดหอม ปลาทู และปลาซาร์ดีน รวมทั้งอาหารที่มีทั้งแคลเซียมและวิตามินดี เช่น ซีเรียล ขนมปัง แซลมอน และน้ำส้ม เป็นต้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอโดยไม่หักโหมจนเกินไป สำหรับผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการยกน้ำหนัก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มเล่น รวมทั้งหมั่นตรวจสุขภาพและความพร้อมของร่างกายอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • รับแสงแดดอ่อน ๆ ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณวิตามินดีแก่ร่างกาย สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความปลอดภัยในการรับแสงแดด
  • ระมัดระวังในการใช้ยา โดยเฉพาะยากลุ่มสเตียรอยด์ที่ต้องใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ควรเข้ารับการตรวจความหนาแน่นของกระดูก