ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)

ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เป็นยารักษาอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบจากสาเหตุต่าง ๆ เช่น ปวดหัว ปวดฟัน ปวดหลัง ข้อต่ออักเสบ ปวดประจำเดือน โรคข้ออักเสบ ปวดประจำเดือน และอาการบาดเจ็บเล็กน้อย โดยออกฤทธิ์ลดปริมาณสารเคมีในร่างกายที่ก่อให้เกิดการอักเสบและอาการปวด จึงช่วยให้อาการทุเลาลงได้

medicines and water in front, woman caught cold sleeping in bed

เกี่ยวกับไอบูโพรเฟน

กลุ่มยา ยาต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs)
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาหาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ลดอาการปวด ลดไข้ และแก้อักเสบ
กลุ่มผู้ป่วย เด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปและผู้ใหญ่
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป 

Category D สำหรับสตรีมีครรภ์ในช่วงไตรมาสสุดท้าย จากการศึกษาในมนุษย์ พบความเสี่ยงทำให้เกิดความผิดปกติต่อทารกในครรภ์ จะใช้ก็ต่อเมื่อพิจารณาแล้วว่า ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อมารดาและยอมรับความเสี่ยงที่อาจเกิดต่อทารกในครรภ์ โดยมากมักใช้ในกรณีที่จำเป็นในการช่วยชีวิต หรือใช้รักษาโรคร้ายแรงของมารดา ซึ่งไม่สามารถใช้ยาอื่น ๆ ทดแทนได้

ดังนั้น สตรีมีครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือผู้ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงและประโยชน์ รวมถึงใช้ยานี้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หรืออาจซึมผ่านน้ำนมแม่และส่งผลเสียต่อทารกได้

รูปแบบของยา  ยาเม็ด ยาน้ำ ยาทา ยาพ่น

คำเตือนการใช้ยาไอบูโพรเฟน

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาไอบูโพรเฟน รวมถึงยาและสารอื่น ๆ 
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยาหากมีประวัติทางสุขภาพหรือกำลังป่วยด้วยปัญหาสุขภาพใด ๆ เช่น มีเลือดออกหรือแผลในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคลิ่มเลือด โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน คอเลสเตอรอลสูง โรคตับ โรคไต โรคหอบหืด การสูบบุหรี่ หรือมีการดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากเป็นประจำ 
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงยานี้ เนื่องจากการใช้ยาไอบูโพรเฟนในปริมาณสูงติดต่อกันเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจขาดเลือด 
  • ห้ามใช้ยานี้ก่อนหรือหลังเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Heart Bypass Surgery) เนื่องจากตัวยาอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมองมากขึ้นได้
  • ผู้ป่วยควรใช้ยาด้วยความระมัดระวัง เพราะยาไอบูโพรเฟนอาจก่อให้เกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้จนอาจเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ  
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบูโพรเฟนหากเคยมีอาการหอบหืดเฉียบพลันหลังจากใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs และยาแอสไพริน
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาไอบูโพรเฟนและยาแก้ปวดทุกชนิดในระยะยาว
  • ห้ามสตรีมีครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 หรือเดือนที่ 7–9 ของการตั้งครรภ์ ใช้ยาไอบูโพรเฟน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์
  • ห้ามใช้ยาไอบูโพรเฟนกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือนโดยไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลจากแพทย์

ปริมาณการใช้ยาไอบูโพรเฟน

ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยาไอบูโพรเฟนมีดังนี้  

อาการไข้
ตัวอย่างการใช้ยาไอบูโพรเฟน เพื่อรักษาอาการไข้

เด็กอายุ 6 เดือนถึง 12 ปี รับประทานยาปริมาณ 5–10 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง ระยะเวลาการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200–400 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 1,200 มิลลิกรัม 

อาการปวดเล็กน้อยจนถึงปานกลาง
ตัวอย่างการใช้ยาไอบูโพรเฟน เพื่อรักษาอาการปวดเล็กน้อยจนถึงปานกลาง เช่น ปวดฟัน ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะ 

เด็กอายุ 6 เดือนถึง 12 ปี รับประทานยาปริมาณ 5–10 มิลลิกรัม ทุก 6–8 ชั่วโมง ระยะเวลาการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 4 ครั้ง/วัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 200 มิลลิกรัม ทุก 4–6 ชั่วโมง หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาเป็น 400 มิลลิกรัม ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 1,200 มิลลิกรัม/วัน

ข้อเสื่อม
ตัวอย่างการใช้ยาไอบูโพรเฟน เพื่อรักษาข้อเสื่อม

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 400–800 มิลลิกรัม 3–4 ครั้ง/วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม/วัน

ข้ออักเสบรูมาตอยด์
ตัวอย่างการใช้ยาไอบูโพรเฟน เพื่อรักษาข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) และข้ออักเสบรูมาตอยด์ในเด็ก (Juvenile Rheumatoid Arthritis)

เด็กอายุ 1–12 ปี รับประทานยาปริมาณ 30–40 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน 3–4 ครั้ง/วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน

ผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 400–800 มิลลิกรัม 3–4 ครั้ง/วัน ปริมาณยาสูงสุดไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม/วัน

การใช้ยาไอบูโพรเฟน

ผู้ป่วยควรรับประทานยาตามปริมาณและระยะเวลาที่แพทย์หรือฉลากยากำกับ เพราะหากใช้ยาในปริมาณมากเกินไปอาจทำลายกระเพาะอาหารหรือลำไส้ได้ โดยปริมาณยาสูงสุดที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่จะอยู่ที่ครั้งละ 800 มิลลิกรัม สำหรับเด็กจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุและน้ำหนักตัว จึงควรใช้ยาตามที่แพทย์หรือเภสัชกรแนะนำอย่างเคร่งครัด

ผู้ป่วยควรรับประทานยาไอบูโพรเฟนพร้อมอาหารหรือนม เพื่อบรรเทาอาการท้องไส้ปั่นป่วน ในกรณีที่รับประทานยาในรูปแบบน้ำแขวนตะกอน ควรเขย่าขวดก่อนรับประทาน และควรตวงยาด้วยอุปกรณ์ตวงยาที่มาพร้อมกับบรรจุภัณฑ์ยา เพื่อป้องกันการใช้ยาผิดปริมาณ

ทั้งนี้ การรับประทานยาเกินขนาดอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หากพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ง่วงซึม อุจจาระปนเลือดหรือเป็นสีดำ ไอเป็นเลือด หายใจตื้น หมดสติ หรือโคม่า ควรรีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ทันที

ปฏิกิริยาระหว่างยาไอบูโพรเฟนกับยาอื่น

หากกำลังใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่าย ยาหาซื้อได้เอง วิตามิน สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพราะยาไอบูโพรเฟนอาจทำปฏิกิริยากับยาหรือผลิตภัณฑ์อื่น ทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงหรือส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงตามมา โดยเฉพาะยาดังต่อไปนี้

  • ยาแก้ปวดและอักเสบชนิดอื่น ๆ เช่น ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาไดโคลฟีแนค (Diclofenac) หรือยาเซเลคอกซิบ (Celecoxib)
  • ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) หรือยาคอร์ติโซน (Cortisone) 
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน หรือยาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) 
  • ยาขับปัสสาวะ 
  • ยารักษาโรคเบาหวาน
  • ยาต้านเศร้า เช่น ยาเซอร์ทาลีน (Sertraline)
  • ยารักษาความดันโลหิตสูงหรือโรคหัวใจ เช่น ยาไดจอกซิน (Digoxin)
  • ยารักษาโรคทางอารมณ์ เช่น ยาลิเทียม (Lithium)
  • ยารักษาโรคมะเร็ง เช่น ยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate)
  • ยากดภูมิต้านทาน เช่น ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) หรือยาทาโครลิมัส (Tacrolimus)
  • ยารักษาการติดเชื้อเอชไอวี เช่น ยาไซโดวูดีน (Zidovudine)
  • ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยาอะมิคาซิน (Amikacin) ยาเจนตามัยซิน (Gentamicin) หรือยาไซโปรฟลอกซาซิน (Ciprofloxacin)  

ตัวอย่างยาดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อาจทำปฏิกิริยากับยาไอบูโพรเฟนเท่านั้น หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

ผลข้างเคียงของยาไอบูโพรเฟน

ยาไอบูโพรเฟนอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ จึงควรหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หากพบอาการผิดปกติ โดยอาการข้างเคียงที่มักพบ เช่น ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องไส้ปั่นป่วน อาหารไม่ย่อย เรอ แสบร้อนกลางอก ผายลมบ่อย ท้องอืด ท้องเสีย ท้องผูก เป็นต้น

ผู้ใช้ยาบางรายยังอาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น รู้สึกกระวนกระวาย มึนงง เลือดออกตามไรฟัน ผิวลอก การมองเห็นผิดปกติ ท้องผูก ไอ เสียงแหบ เป็นไข้ หนาวสั่น กลืนลำบาก ปากแห้ง วิงเวียนศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ ปัสสาวะเป็นเลือด ลมพิษ ความดันโลหิตสูง อาเจียนเป็นเลือด เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก หากสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะอาจเสี่ยงต่อภาวะรุนแรงถึงชีวิตได้