ข้อเสื่อม (Osteoarthritis)

ความหมาย ข้อเสื่อม (Osteoarthritis)

Osteoarthritis (ข้อเสื่อม) เป็นอาการที่กระดูกอ่อน (Cartilage) ในข้อต่อกระดูกเสื่อมสภาพจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น อายุ การใช้งาน เป็นต้น การเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน ส่งผลให้กระดูกเสียดสีกันหรือเกิดแรงกดมากขึ้น จนทำให้เจ็บบริเวณข้อต่อและขยับข้อต่อลำบาก หากไม่รีบรักษา อาการอาจรุนแรงขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยทั่วไปแล้ว Osteoarthritis มักเกิดบริเวณข้อนิ้วมือ เข่า สะโพก กระดูกสันหลัง และเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่อายุมากกว่า 50 ปี

ข้อเสื่อม

อาการของข้อเสื่อม

ความรุนแรงของอาการอาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุของผู้ป่วย หรือตำแหน่งของข้อต่อ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการ Osteoarthritis ไม่รุนแรงมากนัก มีอาการแบบเป็น ๆ หาย ๆ ในขณะที่ผู้ป่วยบางรายกลับปรากฏอาการที่รุนแรงกว่า หรือเกิดอาการขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการอาจเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และมีอาการป่วยที่แย่ลงในระยะยาว โดยอาการดังกล่าว ได้แก่

  • เจ็บปวด เมื่อขยับข้อต่อ
  • ข้อต่อบวม
  • อาการกดเจ็บ เมื่อมีการใช้แรงกดบริเวณข้อต่อ
  • รู้สึกหรือได้ยินการเสียดสีของกระดูกข้อต่อ
  • สูญเสียความยืดหยุ่น ไม่สามารถขยับข้อต่อได้เต็มที่เหมือนก่อน
  • ข้อต่อเกิดการติดแข็ง เมื่อขยับตัวหลังจากอยู่นิ่ง ๆ หรือไม่ได้ทำกิจกรรมเป็นเวลานาน เช่น การตื่นนอนตอนเช้า

สาเหตุของข้อเสื่อม

Osteoarthritis เกิดจากเนื้อเยื่อระหว่างข้อต่อกระดูกหรือกระดูกอ่อนบางลง ชำรุด และสึกหรอ ทำให้ไม่สามารถลดแรงกระแทกระหว่างกระดูกได้เท่าเดิม จนเกิดอาการต่าง ๆ ขึ้น หากกระดูกอ่อนเสื่อมสภาพลงมาก จนทำให้กระดูกเสียดสีกันโดยตรง ผู้ป่วยอาจมีกระดูกงอก (Bone Spurs) ขึ้นมาบริเวณข้อต่อนั้นด้วย

โดยปกติ เมื่อกระดูกอ่อนชำรุดจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ร่างกายจะมีกลไกซ่อมแซมและรักษาด้วยตนเอง แม้ยังไม่สามารถระบุได้ถึงสาเหตุที่แน่ชัด แต่ Osteoarthritis อาจเกิดจากความผิดพลาดของกระบวนการซ่อมแซมในร่างกาย หรืออาจเกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

  • อายุ
    ประสิทธิภาพการซ่อมแซมกระดูกข้อต่อที่สึกหรอ และการส่งเลือดไปเลี้ยงข้ออาจลดลงตามอายุ
  • โรคอ้วน
    ผู้ป่วยโรคอ้วนมักเผชิญอาการ Osteoarthritis บริเวณเข่าและสะโพก เพราะข้อต่ออาจรับน้ำหนักมากเกินไป ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายมากขึ้น
  • เพศ
    ผู้หญิงมีแนวโน้มเป็น Osteoarthritis มากกว่าผู้ชาย
  • พันธุกรรม
    Osteoarthritis อาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้
  • เคยได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความเสียหายบริเวณข้อต่อ
    เช่น เคยกระดูกหักบริเวณใกล้ ๆ ข้อต่อ เคยป่วยเป็นข้อต่อติดเชื้อ หรือเคยได้รับบาดเจ็บบริเวณเอ็น ซึ่งอาจส่งผลต่อความแข็งแรงของข้อต่อ
  • ใช้งานข้อต่อหนักเกินไป
    อาจพบในกลุ่มนักกีฬา ผู้ที่ต้องยกของหนัก หรือผู้ที่ต้องทำงานด้วยการใช้สว่านลม

การวินิจฉัยข้อเสื่อม

แพทย์อาจให้ผู้ป่วยอธิบายลักษณะของอาการ ตำแหน่งที่ปรากฏอาการ ระยะเวลาที่ปวด และประวัติการเกิด Osteoarthritis กับบุคคลในครอบครัว เพราะ Osteoarthritis อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจร่างกายหาอาการบวมแดง อาการกดเจ็บ และข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวข้อต่อ รวมไปถึงการวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้

  • เอกซเรย์ แม้กระดูกอ่อนจะไม่ปรากฏบนภาพเอกซเรย์ แพทย์อาจวินิจฉัยว่ากระดูกอ่อนเสื่อมสภาพหรือหายไป โดยสังเกตจากช่องว่างระหว่างข้อต่อกระดูกบนภาพเอกซเรย์
  • เอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging: MRI) เป็นการใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กสร้างภาพความละเอียดสูงของกระดูก เนื้อเยื่ออ่อน และกระดูกอ่อน แม้ไม่นิยมใช้วินิจฉัย Osteoarthritis แต่อาจช่วยให้ข้อมูลเพิ่มเติม ในกรณีที่อาการมีความซับซ้อนได้
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ  ใช้ตรวจหาว่าอาการเกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นหรือไม่ เช่น การติดเชื้อที่ข้อต่อ โรคเก๊าท์ โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) เป็นต้น

การรักษาข้อเสื่อม

ไม่มีวิธีใดที่รักษา Osteoarthritis ให้หายขาดได้ จุดประสงค์ของการรักษามุ่งไปที่การลดและบรรเทาอาการต่าง ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการ หาก Osteoarthritis ไม่รุนแรงมากนัก ผู้ป่วยอาจบรรเทาอาการได้โดยการเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะสม ออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ ลดน้ำหนัก (สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก) ใช้อุปกรณ์ช่วยลดอาการตึงบริเวณข้อต่อ หรือลดกิจกรรมที่ทำให้มีอาการปวด

ส่วนการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ อาจเป็นไปตามดุลยพินิจและคำแนะนำของแพทย์

การรักษาด้วยยา

อาการเจ็บหรือปวดของ Osteoarthritis อาจบรรเทาได้ด้วยยาบางชนิด เช่น ยาพาราเซตามอล ยาดูล็อกซีทีน (Duloxetine) รวมทั้งยาในกลุ่ม NSAIDs  เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) เป็นต้น

การบำบัด

นักกายภาพบำบัดและนักกิจกรรมบำบัด อาจแนะนำวิธีการต่าง ๆ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตประจำวันหรือทำงานต่อไปได้ โดยไม่เครียดหรือกังวลเกี่ยวกับอาการปวดจาก Osteoarthritis มากนัก เช่น ให้ผู้ป่วย Osteoarthritis บริเวณเข่าใช้ม้านั่งในการอาบน้ำ ผู้ป่วย Osteoarthritis บริเวณนิ้วมือ ใช้แปรงสีฟันที่มีด้ามจับที่ใหญ่ขึ้น เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจปรึกษานักกายภาพบำบัด ในการจัดตารางการออกกำลังกายเฉพาะบุคคล เพื่อลดอาการปวด เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหว และทำให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อต่อแข็งแรงมากขึ้น

การผ่าตัดและหัตถการทางการแพทย์อื่น ๆ

หากรักษาด้วยวิธีประคับประคองแล้วไม่ได้ผล แพทย์อาจพิจารณาถึงวิธีรักษาดังต่อไปนี้

  • การฉีดคอร์ติโซน
    การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์อาจช่วยลดอาการปวดข้อต่อได้ โดยแพทย์จะให้ยาชาบริเวณรอบ ๆ ข้อต่อก่อน แล้วจึงฉีดยาเข้าไปในช่องว่างข้อต่อ (จำกัดให้ทำได้เพียง 3-4 ครั้ง/ปี เพราะยาอาจสร้างความเสียหายแก่ข้อต่อได้)
  • การฉีดน้ำหล่อลื่นผิวข้อเข่า
    การฉีดยากรดไฮยาลูรอนิค (Hyaluronic Acid) เพื่อช่วยหล่อลื่นข้อต่อ อาจช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่าได้ เพราะยากรดไฮยาลูรอนิคจะทำหน้าที่คล้ายกับส่วนประกอบที่เป็นของเหลวในข้อเข่า
  • การผ่าตัดจัดแนวกระดูกใหม่
    อาจเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหา Osteoarthritis บริเวณเข่าข้างใดข้างหนึ่ง ศัลยแพทย์จะผ่าตัดกระดูกด้านบนหรือด้านล่างเข่า แล้วเพิ่มลิ่มกระดูกหรือกำจัดลิ่มกระดูกออก เพื่อช่วยปรับตำแหน่งกระดูกและแกนจากจุดรับน้ำหนักหรือแรงกดในตำแหน่งเดิมที่เสียหาย ให้เปลี่ยนจุดไปลงส่วนของกระดูกที่ยังดีอยู่แทน
  • การผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ
    การรักษานี้จะทำเมื่อผู้ป่วยมีอาการปวดเข่ามาก และถูกจำกัดการเคลื่อนไหวอย่างมาก ศัลยแพทย์จะนำพื้นผิวข้อต่อส่วนที่ถูกทำลายออก แล้วใส่ผิวข้อเทียมไปแทนเนื้อเยื่อและกระดูกที่เสียหาย ทั้งนี้ ข้อต่อเทียมอาจหลวมและสึกหรอได้ จึงอาจจำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อใหม่ในอนาคต โดยทั่วไป การเปลี่ยนผิวข้อเทียมจะให้ผลการรักษาที่ดี ผู้ป่วยจะปวดน้อยลง และเข่าจะกลับมาใช้งานได้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดอาจเสี่ยงเกิดการติดเชื้อหรือมีภาวะเลือดออกได้ และอาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือน ในการทำกายภาพบำบัดจนฟื้นฟูเต็มที่

การแพทย์ทางเลือก

การแพทย์ทางเลือกบางชนิด เช่น การฝังเข็ม การใช้น้ำมันอโวคาโดถั่วเหลือง (Avocado-Soybean Unsaponifiables) การใช้กลูโคซามีน (Glucosamine) และคอนดรอยติน (Chondroitin) อาจช่วยบรรเทาอาการปวดของ Osteoarthritis บริเวณเข่าและสะโพกได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาแพทย์ให้ถี่ถ้วนก่อนเข้ารับการรักษาเหล่านี้

ภาวะแทรกซ้อนของข้อเสื่อม

อาการของ Osteoarthritis อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก และอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้น หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา การขยับท่าทางหรือการเคลื่อนไหวร่างกายจะถูกจำกัดลง ทำให้ขาดอิสระในการใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละวันยากลำบากมากขึ้น ทั้งนี้ ภาวะแทรกซ้อนของ Osteoarthritis อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของข้อต่อที่มีอาการ และความรุนแรงของอาการด้วย

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • มีอาการปวดเรื้อรัง
  • เสียการทรงตัว  
  • เสี่ยงต่อการหกล้ม
  • ภาวะขาดเนื้อเยื่อระหว่างข้อต่อ เพราะกระดูกอ่อนเสื่อมสภาพ หรือสลายตัวเร็วเกินไป
  • เส้นเอ็นและเอ็นยึดข้อต่อขาดความเสถียร
  • เลือดออกภายในข้อต่อ
  • ข้อต่อติดเชื้อ
  • กระดูกหักล้า
  • กระดูกตายจากการขาดเลือด
  • เส้นประสาทถูกกดทับ (เกิดขึ้นใน Osteoarthritis บริเวณกระดูกสันหลัง)
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง มักเกิดขึ้นเมื่อข้อต่อเจ็บปวดจนไม่สามารถใช้งานได้ (โดยเฉพาะข้อเข่า)
  • ข้อต่อผิดรูป (ปุ่มกระดูกเล็ก ๆ จะเกิดขึ้นเมื่อกระดูก 2 ชิ้นมาบรรจบกัน)

การป้องกันข้อเสื่อม

แม้ยังไม่มีวิธีป้องกันที่แน่นอน เพราะยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค แต่ผู้ป่วยอาจลดความเสี่ยงในการเกิด Osteoarthritis ได้ เช่น

  • ลดน้ำหนัก เพื่อช่วยลดอาการตึงบริเวณข้อต่อ
  • ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ
  • ออกกำลังกาย เช่น เดินเร็ว แอโรบิค ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน (อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที หรือ 2 ชั่วโมงครึ่ง)
  • หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจทำให้ข้อต่อบาดเจ็บ เช่น การวิ่ง การยกน้ำหนัก เพราะอาจทำให้ข้อต่อรับแรงกระแทก หรือรับน้ำหนักมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน ควรปรับความสูงเก้าอี้ให้เหมาะสม และขยับเปลี่ยนท่าเป็นระยะ