ฝังเข็ม (Acupuncture) คือการนำเข็มที่มีขนาดบางมากฝังลงไปตามจุดฝังเข็มจุดต่าง ๆ บนร่างกาย เป็นศาสตร์การรักษาโรคชนิดหนึ่งของจีนโบราณ มีพื้นฐานมาจากความเชื่อเรื่องพลังชีวิตหรือพลังชี่ ที่อยู่ในเส้นลมปราณ (Meridian Line) เพื่อสร้างสมดุลให้กับร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการป่วยจากโรคต่าง ๆ เช่น อาการปวด ความเครียด ปวดศีรษะ ไมเกรน ข้ออักเสบ ภูมิแพ้ รวมไปถึงภาวะการมีบุตรยาก ถึงแม้ในปัจจุบันวงการแพทย์จะพยายามศึกษาและพิสูจน์เกี่ยวกับการฝังเข็ม แต่ด้วยรูปแบบของการศึกษาที่ยังไม่ได้มาตรฐานการวิจัยของประเทศฝั่งตะวันตก ทำให้ประสิทธิภาพที่แท้จริงของการรักษาด้วยวิธีฝังเข็มจึงยังไม่สามารถสรุปได้ในปัจจุบันนี้
การเตรียมตัวและขั้นตอนการฝังเข็ม
การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็ม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจเลือกเข้ารับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังหรือผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง การฝังเข็มเป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก การตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีนี้อาจไม่สามารถรับรองได้ว่าจะเห็นผลกับผู้ป่วยทุกราย ดังนั้นอาจเลือกรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันรูปแบบอื่น
การเลือกแพทย์ฝังเข็ม แพทย์แต่ละคนจะมีลักษณะและวิธีการรักษาที่ค่อนข้างเฉพาะตัวและแตกต่างกันออกไป ดังนั้นควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาลหรือแพทย์ที่ต้องการเข้ารับการรักษา โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
- สอบถามข้อมูลหรือคำแนะนำจากคนรู้จักหรือผู้ที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการฝังเข็มมาก่อน
- สอบถามเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ของแพทย์ฝังเข็มที่ต้องการเข้ารับการรักษา
- สอบถามเกี่ยวกับวิธีการรักษา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละครั้ง
ขั้นตอนการฝังเข็ม แต่ละคนจะมีวิธีการ ความถี่ และระยะเวลาในการรักษาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรง ของผู้ป่วยแต่ละราย สำหรับโรคทั่วไปจะทำการรักษาประมาณ 6-8 ครั้ง แบ่งเป็น 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ในครั้งแรกใช้เวลาประมาณ 60 นาที และจะใช้เวลาประมาณ 30 นาทีในครั้งต่อ ๆ ไป ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย แพทย์จะทำการวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย ซักประวัติและตรวจร่างกาย จากนั้นจะส่งต่อไปยังแพทย์ฝังเข็ม (Acupuncturist) อาจมีการตรวจจังหวะชีพจรที่บริเวณข้อมือเพิ่มเติม และมีขั้นตอนการฝังเข็มและแนวทางในการฝังเข็มดังต่อไปนี้
- แพทย์จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับจุดฝังเข็ม อาจต้องมีการถอดเสื้อหรือเปลี่ยนชุดที่แพทย์เตรียมให้ในกรณีที่ชุดของผู้ป่วยไม่เอื้ออำนวยต่อการฝังเข็ม จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยนั่งในท่าที่เหมาะสมหรือนอนลงบนเตียง
- แพทย์จะนำเข็มที่มีลักษณะบางมากและยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตรสอดลงไปที่กล้ามเนื้อ ในจุดฝังเข็มต่าง ๆ จำนวนตั้งแต่ 5-20 เล่ม ในระหว่างที่แพทย์กำลังสอดเข็มลงไปที่กล้ามเนื้อ อาจทำให้รู้สึกชาหรือปวดอ่อน ๆ ถ้ารู้สึกเจ็บมาก ควรรีบบอกแพทย์ทันที
- แพทย์อาจทำการหมุนเข็ม ให้ความร้อน หรือกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (Electroacupuncture) ลงไปที่เข็มร่วมด้วย
- แพทย์จะใช้เวลาประมาณ 10-20 นาที ก่อนดึงเข็มออก ในขณะที่ผู้ป่วยนอนผ่อนคลายอยู่บนเตียง จะไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดในระหว่างที่แพทย์กำลังดึงเข็มออก
หลังการฝังเข็ม ผู้ป่วยอาจรู้สึกผ่อนคลายหรือกระชุ่มกระชวย บางรายอาจไม่พบอาการที่ดีขึ้นหรือไม่ตอบสนองต่อการรักษา หลังจากเข้ารับการรักษาภายในช่วง 2-3 สัปดาห์ หากไม่พบอาการที่ดีขึ้น อาจหมายความว่าผู้ป่วยไม่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
อาการที่เชื่อว่าสามารถบรรเทาได้ด้วยการฝังเข็ม
ถึงแม้บางครั้งอาจจะบอกได้ยากว่าวิธีการรักษาในรูปแบบนี้ช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการของโรคได้อย่างไร แต่ผู้ป่วยหลายรายพบว่าความเจ็บปวดจากอาการต่าง ๆ ได้ทุเลาลงหลังเข้ารับการรักษา แพทย์อาจแนะนำให้ใช้วิธีการฝังเข็มร่วมกับการรักษาแบบปกติ ในผู้ป่วยที่เป็นโรคหรือมีอาการดังต่อไปนี้
- อาการปวดเรื้องรัง เช่น ปวดหัว ไมเกรน ปวดฟัน ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ โรคข้อเข่าเสื่อม รวมไปถึงอาการปวดจากการผ่าตัด
- โรคมะเร็ง สามารถใช้การฝังเข็มเข้าร่วมกับการรักษาแบบปกติ เช่น การทำเคมีบำบัดหรือการทำคีโม การฉายรังสี การผ่าตัด โดยอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้และอาเจียนในระหว่างการรักษา
- ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการปวดประจำเดือนแบบรุนแรง อาจใช้การฝังเข็มเป็นทางเลือกในการบรรเทาอาการปวด
- ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตั้งครรภ์ในเพศหญิง โดยมีกรณีศึกษาหนึ่งได้บอกว่า การฝังเข็มจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดและเสริมการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณมดลูก สามารถเพิ่มอัตราความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์
- ฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองจากโรคหลอดเลือดสมอง
- โรคการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ส่งผลให้เกิดอาการชา เสียวแปล๊บ หรืออ่อนแรงที่บริเวณนิ้วและมือ
- หายใจลำบาก หายใจมีเสียงวี๊ด เจ็บหน้าอก และไอ ที่เป็นผลมาจากโรคหอบหืดหรือการติดเชื้อทางเดินหายใจ
วิทยาศาสตร์กับการฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นศาสตร์การรักษาโรคและอาการต่าง ๆ ของจีนโบราณ ในทางกายภาพหรือทางสรีระวิทยาแล้ว เส้นลมปราณ (Meridian Line) ที่กล่าวอ้างในวิธีการรักษา รวมไปถึงกลไกลหรือวิธีการรักษายังไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการแพทย์หรือวิทยาศาตร์สมัยใหม่ ประสิทธิภาพในการรักษาอาจไม่ได้อยู่ที่การฝังเข็มอย่างเดียว แต่อาจเป็นผลมาจากการกระตุ้นไฟฟ้าที่นำมาใช้ร่วมกับการฝังเข็ม หรือในทางวิทยาศาตร์เรียกว่า TENS (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation) เป็นเครื่องที่ใช้ในการลดอาการปวดโดยการกระตุ้นเส้นประสาทผ่านทางผิวหนัง ซึ่งเป็นสิ่งที่มีการศึกษาที่ชัดเจนในปัจจุบัน
ประมาณปี 2014 ได้มีการอภิปรายเป็นลายลักษณ์อักษรในหัวข้อ การฝังเข็มสามารถรักษาโรคได้จริงหรือเป็นเพียงอุปทานหมู่ โดยนักวิจัยเกี่ยวกับการฝังเข็มคือ Shu-Ming Wang (MD), Richard E. Harris (PhD), Yuan-Chi Lin (MPH), Tong-Joo Gan (MD), Steven Novella (MD) และ David Colquhoun (PhD) มีการทำวิจัยทางคลินิคเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการฝังเข็ม ได้ผลสรุปของการวิจัยในครั้งนั้นว่า ประสิทธิภาพในการรักษาด้วยการฝังเข็มดูเหมือนว่าจะมีเพียงน้อยนิดหรืออาจไม่สามารถรักษาโรคได้เลย อาจเป็นเพียงอุปทานหมู่
แพทย์และนักวิทยาศาตร์หลายต่อหลายคนทำการศึกษาและอภิปรายเกี่ยวกับการฝังเข็ม แต่ยังไม่มีใคร
ที่สามารถเข้าใจเกี่ยวกับการฝังเข็มได้ทั้งหมด ว่าอะไรคือกลไกลการทำงานของการฝังเข็ม ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดได้อย่างไร สามารถบรรเทาความเจ็บปวดจากอาการของโรคต่าง ๆ ได้จริงหรือไม่ ในปัจจุบันประสิทธิภาพของการฝังเข็มยังไม่สามารถอธิบายได้ในทางวิทยาศาสตร์ระดับโมเลกุล แต่ดูเหมือนว่าอาการที่ดีขึ้นจะเป็นสิ่งที่ผู้ป่วยคิดไปเอง
ความเสี่ยงของการฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก แม้จะมีความเสี่ยงที่ต่ำ แต่ก็ไม่ควรเลือกใช้แทนการรักษาพยาบาลทั่วไป และควรปรึกษาแพทย์ก่อนการฝังเข็ม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยอย่างรุนแรง หรือผู้ที่เคยเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการฝังเข้มแล้วอาการไม่ดีขึ้น โดยปกติการรักษาจะทำโดยแพทย์ที่จบทางด้านนี้โดยตรง ต้องมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์และเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ ควรรีบไปพบแพทย์หากพบอาการเจ็บ เลือดออกหรือมีอาการช้ำในบริเวณจุดฝังเข็ม วิงเวียนศีรษะ จะเป็นลม และอาจเกิดความเสี่ยงหรือภาวะแทรกซ้อนจากการฝังเข็มได้ในผู้ป่วยบางราย เช่น
- การติดเชื้อ เช่น ตับอักเสบ หรือเอชไอวี ในกรณีที่มีการใช้เข็มที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือใช้เข็มซ้ำ
- อาการเจ็บหรืออาจทำให้เลือดออกหรือมีอาการช้ำในบริเวณจุดฝังเข็ม โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ และผู้ที่รับประทานยาเจือจางเลือด เช่น วาร์ฟาริน (Warfarin) จะมีความเสี่ยงสูงกว่า
- อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะปอด ในกรณีที่มีการฝังเข็มลึกเกินไป แต่มักพบได้น้อยมากในแพทย์ที่มีประสบการณ์
- ผู้ที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะในการฝังเข็มอาจมีการกระตุ้นไฟฟ้าร่วมด้วย จะไปแทรกการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ
- หญิงตั้งครรภ์ การฝังเข็มบางรูปแบบ อาจไปกระตุ้นครรภ์มารดา และส่งผลต่อการคลอดบุตร