แพทย์แผนจีน ศาสตร์การรักษาเพื่อปรับสมดุลแห่งธรรมชาติ

แพทย์แผนจีนเป็นวิธีการรักษาของชาวจีนที่มีมาแต่โบราณ บางคนอาจเคยได้ยิน เคยเห็น หรืออาจเคยรักษาด้วยแพทย์แผนจีน เช่น การฝังเข็ม การครอบแก้ว รวมถึงการรับประทานยาจีน เป็นต้น แพทย์แผนจีนนั้นไม่ได้มุ่งเน้นแค่เพียงการรักษาให้หายจากโรค แต่ยังอาจช่วยป้องกันโรคและความผิดปกติอีกด้วย นอกจากนี้ แพทย์แผนจีนยังเป็นศาสตร์การรักษาที่มีความเชื่อและปรัชญาที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ซึ่งได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ โดยในบทความนี้ได้รวบรวมรูปแบบการรักษาของแพทย์แผนจีน รวมถึงเกร็ดความเชื่อในการรักษามาให้ได้ศึกษากัน

แพทย์แผนจีน

ความเชื่อและแพทย์แผนจีน

การรักษาแบบแพทย์แผนจีนมีจุดประสงค์เพื่อรักษาสมดุลของพลังชีวิต ชาวจีนโบราณนั้นเชื่อว่าภายในร่างกายมนุษย์นั้นมี Qi หรือ ชี่ ที่หมายถึงพลังชีวิตที่ไหลเวียนอยู่ภายในร่างกายเป็นพลังงานที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งชี่นั้นประกอบไปด้วย

หยิน เป็นพลังในทางลบ ความเย็น ความมืด และเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง

หยาง เป็นพลังในทางบวก ความร้อน แสงสว่าง และเป็นตัวแทนของเพศชาย

เมื่อร่างกายเกิดความเครียด มีอารมณ์ขุ่นมัว รับประทานอาหารที่ไม่ดี หรือประสบกับมลพิษก็จะทำให้หยินและหยางเสียสมดุล ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเจ็บป่วยได้

การรักษาแบบแพทย์แผนจีนมีอะไรบ้าง ?

แพทย์แผนจีนนั้นมีรูปแบบการรักษาที่หลากหลาย ซึ่งอาจเลือกวิธีการรักษาแตกต่างกันไปตามอาการและจุดประสงค์ ดังนี้

  • การฝังเข็ม
    การฝังเข็มเป็นการใช้เข็มที่มีขนาดเล็กและบางฝังเข้าไปยังจุดต่าง ๆ ของร่างกายอย่างเบามือเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการผิดปกติ เช่น อาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ปวดประจำเดือน ปวดศีรษะ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคข้อเสื่อม เป็นต้น ซึ่งขั้นตอนของการฝังเข็มนั้นเริ่มจากการฝังเข็มเข้าไปในร่างกาย จากนั้นอาจมีการหมุนหรือขยับเข็มเพื่อสร้างพลังงานความร้อนและพลังงานไฟฟ้าแบบอ่อน ๆ โดยระยะเวลาการฝังเข็มส่วนใหญ่จะอยู่ประมาณ 10-20 นาที
  • การครอบแก้ว
    การครอบแก้วเป็นการนำวัตถุลักษณะคล้ายถ้วยมาทำให้เกิดสูญญากาศและครอบลงตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย ซึ่งภาวะสูญญากาศในแก้วจะดูดเลือดมายังผิวหนังบริเวณที่ครอบแก้วลงไป มักใช้รักษาโรคและภาวะผิดปกติ เช่น ภาวะโลหิตจาง ปวดหัวไมเกรน โรคผิวหนัง ภาวะความดันโลหิตสูง และภาวะซึมเศร้า เป็นต้น โดยการครอบแก้วอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง อย่างรอยช้ำ รอยไหม้ ทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก รวมถึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อบริเวณผิวหนังอีกด้วย
  • ยาสมุนไพรจีน
    แพทย์แผนจีนนั้นมีความเชื่อเกี่ยวกับธาตุทั้ง 5 คือ ดิน น้ำ ไฟ เหล็ก และไม้ ซึ่งแต่ละธาตุจะแตกต่างกันไปตามรสชาติหรือกลิ่นของสมุนไพร มักใช้รักษาโรคและความผิดปกติ อย่างไข้หวัด อาการล้าเรื้อรัง โรคนอนไม่หลับ ช่วยลดผลข้างเคียงจากการรักษาโรคมะเร็ง ยาสมุนไพรของจีนนั้นมีส่วนผสมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะจากพืช สัตว์ รวมถึงแร่ธาตุต่าง ๆ ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรจีนมาพัฒนารวมกับยาแผนปัจจุบันอีกด้วย
  • การรมยา
    การรมยาเป็นการเผาสมุนไพรเพื่อรมยาบริเวณผิวหนังเพื่อรักษาหรือบรรเทาอาการผิดปกติ โดยอาจใช้รวมกับการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มหรือครอบแก้วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่พบว่าการรมยาอาจช่วยบรรเทาอาการปวดจากอาการข้อเข่าเสื่อมได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการรมยาอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอย่างรอยไหม้ได้
  • ไท้เก๊ก หรือ ไทชิ
    ไท้เก๊กเป็นการบริหารร่างกายด้วยผ่านท่ารำที่มีลักษณะเนิบช้า นุ่มนวล และต่อเนื่อง เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงอายุเป็นอย่างยิ่ง ไทชินั้นได้ชื่อว่าเป็นการทำสมาธิขณะเคลื่อนไหว มีการกำหนดลมหายใจและเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกัน การฝึกไท้เก๊กจึงทำให้เกิดผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะช่วยลดความเครียด ช่วยบรรเทาอาการของโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ภาวะซึมเศร้า โรควิตกกังวล และอาการปวดจากโรคต่าง ๆ นอกจากนี้ การฝึกไท้เก๊กยังอาจช่วยลดการหกล้มในผู้สูงอายุได้อีกด้วย

ผู้ที่ควรรับการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน

แพทย์แผนจีนนั้นอาจช่วยรักษาผู้ที่มีโรคหรือความผิดปกติ ดังนี้

  • ผู้ที่มีกลุ่มอาการประสาทมือชา
  • ผู้ที่มีอาการผิดปกติหลายอย่างโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด
  • ผู้ที่ต้องการลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาและการรักษา
  • ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน
  • ผู้ที่ต้องการการบำรุงสุขภาพเพื่อป้องกันการเจ็บป่วย

นอกจากนี้ อาจมีอาการอื่น ๆ ที่แพทย์แผนจีนอาจรักษาได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์ปัจจุบันถึงความจำเป็นและความเสี่ยงก่อนเข้ารับการรักษาจากแพทย์แผนจีน

ความเสี่ยงในการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน

แม้ว่าแพทย์แผนจีนอาจรักษาและบรรเทาอาการของโรคได้หลายโรค แต่ก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การฝังเข็ม การครอบแก้ว และการรมยานั้นอาจทำให้เลือดออกหรือเป็นแผล หากเลือกสถานบริการสุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐานก็อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ สมุนไพรจีนบางชนิดอาจมีโลหะหนักปริมาณสูงเป็นส่วนประกอบ จึงอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เป็นต้น

โดยคนบางกลุ่มอาจมีความเสี่ยงสูงในการรักษาด้วยแพทย์แผนจีน จึงควรระมัดระวังในการรักษาด้วยแนวทางนี้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยง มีดังนี้

  • ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัด
  • ผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดอื่น
  • ผู้ที่เป็นโรคมะเร็ง และโรคตับ
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร
  • เด็ก

แพทย์แผนจีนปลอดภัยหรือไม่ ?

แม้ว่าการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนในบางรูปแบบจะยังขาดหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์และมีข้อมูลทางแพทย์แผนปัจจุบันเพียงเล็กน้อย แต่ในการวิจัยหลายงานก็พบว่าแพทย์แผนจีนนั้นมีประสิทธิภาพและบรรเทาอาการของโรคได้จริง ซึ่งอาจเห็นได้จากคลีนิกแพทย์แผนจีนที่เปิดให้บริการอย่างถูกกฏหมาย หลักสูตรการเรียนแพทย์แผนจีนตามสถาบันการศึกษาหลายแห่ง รวมถึงการครอบแก้วที่มักใช้รักษาอาการปวดในนักกีฬา ก็อาจช่วยยืนยันถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการรักษาด้วยแพทย์แผนจีนได้

อย่างไรก็ตาม หากเกิดความผิดปกติขึ้นกับร่างกายควรไปพบแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อเข้ารับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง หากต้องการเปลี่ยนรูปแบบการรักษาก็ควรปรึกษาแพทย์ถึงความเสี่ยงก่อนเสมอ และเมื่อตัดสินใจที่จะเข้ารับการรักษาแบบแพทย์แผนจีนแล้ว ควรหาข้อมูลเกี่ยวกับคลีนิกและเลือกใช้บริการสถานบริการสุขภาพที่ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น