ฝังเข็ม รู้จักการแพทย์ทางเลือกและข้อควรรู้ก่อนเข้ารับการรักษา

การฝังเข็ม (Acupuncture) เป็นศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่มีพื้นฐานมาจากความเชื่อในเรื่องพลังชีวิตที่อยู่ในเส้นลมปราณ (Meridian Line) ภายในร่างกาย โดยมีวิธีการรักษาคือแพทย์จะนำเข็มที่มีขนาดบางมากฝังลงไปตามจุดฝังเข็มบนร่างกาย เพื่อช่วยสร้างสมดุลให้แก่ร่างกาย และอาจสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ได้

การฝังเข็มได้รับความนิยมในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน เพราะเชื่อว่าสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยได้หลายประการ ไม่ว่าจะเป็นอาการปวดตามร่างกาย เช่น อาการปวดศีรษะไมเกรน โรคภูมิแพ้ โรคข้ออักเสบ ไปจนถึงภาวะมีบุตรยาก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการฝังเข็มยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์อย่างแน่ชัด จึงควรศึกษาข้อควรระวังก่อนเข้ารับการรักษา

ฝังเข็ม

วิทยาศาสตร์กับการฝังเข็ม

จากงานวิจัยพบว่าประสิทธิภาพในการรักษาด้วยการฝังเข็มอาจมีเพียงน้อยนิดเท่านั้น หรืออาจจะไม่สามารถรักษาโรคได้เลย เพราะหากมองในทางกายภาพหรือทางสรีระวิทยาแล้ว ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นลมปราณ (Meridian Line) ภายในร่างกายและกลไกของการฝังเข็มที่เกิดขึ้นกับร่างกายยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยการแพทย์สมัยใหม่

อีกทั้งประสิทธิภาพในการรักษาที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากการฝังเข็มเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นผลมาจากการกระตุ้นไฟฟ้าที่นำมาใช้ร่วมกับการฝังเข็มด้วย โดยทางการแพทย์สมัยใหม่เรียกการกระตุ้นเส้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านทางผิวหนังที่นำมาใช้รักษาร่วมกับการฝังเข็มนี้ว่า TENS (Transcutaneous Electrical Nerve Stimulation) ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบัน

อาการที่เชื่อว่าสามารถรักษาได้ด้วยการฝังเข็ม

ถึงแม้ว่าจะอธิบายได้ยากว่าการฝังเข็มสามารถช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นภายในร่างกายได้อย่างไร แต่ผู้ป่วยหลายรายพบว่าอาการเจ็บป่วยทุเลาลงหลังจากเข้ารับการรักษาด้วยการฝังเข็ม แพทย์จึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยรักษาด้วยการฝังเข็ม ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีหลัก โดยการฝังเข็มอาจมีประสิทธิภาพในการช่วยรักษาหรือบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้หลายประการ เช่น

  • ช่วยบรรเทาอาการปวดเรื้อรัง เช่น ปวดศีรษะ ปวดศีรษะไมเกรน ปวดฟัน ปวดคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อจากโรคข้อเข่าเสื่อม รวมไปถึงอาการปวดจากการผ่าตัดด้วย
  • ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในเพศหญิงบางคน
  • ช่วยรักษาภาวะที่เกิดการกดทับของเส้นประสาทบริเวณข้อมือ ส่งผลให้เกิดอาการชา เสียวแปลบ หรืออ่อนแรงบริเวณข้อมือ มือ และนิ้ว
  • ช่วยบรรเทาอาการไอ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด ที่เป็นผลมาจากโรคหอบหืดหรือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตั้งครรภ์ในเพศหญิง โดยการฝังเข็มอาจช่วยผ่อนคลายความเครียดและช่วยปรับปรุงการไหลเวียนของเลือดบริเวณมดลูก ทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์เพิ่มมากขึ้น
  • ช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งมักเป็นผลมาจากการรักษา โดยจะใช้การฝังเข็มร่วมกับการรักษาด้วยวิธีหลักอย่างการทำเคมีบำบัด การฉายรังสี หรือการผ่าตัด
  • ช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของสมองในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง 

การเตรียมตัวและขั้นตอนในการฝังเข็ม

ก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยควรศึกษาขั้นตอนในการฝังเข็มและวิธีการเตรียมตัวก่อนการฝังเข็ม ดังนี้

การเตรียมตัวก่อนการฝังเข็ม

ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการที่ต้องการรักษาก่อน เพราะการฝังเข็มอาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์ที่ดีกับผู้ป่วยทุกราย โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการเรื้อรังหรือรุนแรง โดยผู้ป่วยอาจเลือกรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มควบคู่ไปกับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันในรูปแบบอื่น เพื่อให้ผลลัพธ์ในการรักษาที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานพยาบาลและแพทย์ที่ต้องการเข้ารับการรักษาอย่างละเอียดก่อน โดยควรเลือกสถานพยาบาลที่มีความปลอดภัย เชื่อถือได้ รวมถึงเลือกแพทย์ที่มีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ และมีความเชี่ยวชาญในการฝังเข็มด้วย

ขั้นตอนการฝังเข็ม

แพทย์อาจมีวิธีการรักษา ความถี่ และระยะเวลาในการรักษาแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน โดยขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค แพทย์จะเริ่มทำการรักษาโดยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย จากนั้นจะส่งต่อไปยังแพทย์ฝังเข็ม (Acupuncturist) ซึ่งแพทย์อาจมีการตรวจจังหวะชีพจรที่บริเวณข้อมือเพิ่มเติม และมีขั้นตอนในการฝังเข็มนี้

  1. แพทย์จะบอกรายละเอียดเกี่ยวกับจุดฝังเข็ม ซึ่งผู้ป่วยอาจจำเป็นต้องถอดเสื้อหรือเปลี่ยนเป็นชุดที่สะดวกต่อการฝังเข็ม จากนั้นแพทย์จะให้ผู้ป่วยนั่งหรือนอนในท่าที่เหมาะสม
  2. แพทย์จะนำเข็มที่มีลักษณะบางมากและยาวประมาณ 2–3 เซนติเมตรสอดลงไปที่กล้ามเนื้อในจุดฝังเข็มต่าง ๆ จำนวนตั้งแต่ 5–20 เล่ม ในระหว่างที่แพทย์กำลังสอดเข็มลงไปที่กล้ามเนื้อ อาจทำให้รู้สึกชาหรือปวดอ่อน ๆ ได้ แต่ถ้ารู้สึกเจ็บมากควรรีบบอกแพทย์ทันที
  3. แพทย์อาจทำการหมุนเข็ม ให้ความร้อน หรือกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (Electroacupuncture) ลงไปที่เข็มร่วมด้วย
  4. แพทย์จะใช้เวลาประมาณ 10–20 นาที ก่อนดึงเข็มออก ในขณะที่ผู้ป่วยนอนผ่อนคลายอยู่บนเตียง จะไม่รู้สึกเจ็บหรือปวดในระหว่างที่แพทย์กำลังดึงเข็มออก

หลังจากการฝังเข็ม

หลังจากฝังเข็ม ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นหรือรู้สึกว่าอาการเจ็บป่วยบรรเทาลง แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจจะไม่ตอบสนองต่อการรักษาเช่นกัน ซึ่งหากหลังจากเข้ารับการฝังเข็มประมาณ 2–3 สัปดาห์ ไม่พบอาการที่ดีขึ้น อาจหมายความว่าผู้ป่วยไม่เหมาะกับการรักษาด้วยวิธีฝังเข็ม จึงควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาด้วยวิธีอื่นที่เหมาะสมต่อไป

ข้อควรระวังในการฝังเข็ม

แม้ว่าการฝังเข็มจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพต่ำ แต่ก็ไม่ควรใช้เป็นการรักษาหลักแทนวิธีการรักษาที่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ รวมถึงควรฝังเข็มกับแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การรักษาในศาสตร์นี้โดยตรง และมีใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์ด้วย

หากหลังจากฝังเข็มมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น เช่น รู้สึกเจ็บ มีอาการช้ำ มีเลือดออกในจุดที่ฝังเข็ม หรือวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม ควรรีบไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการฝังเข็มได้ในผู้ป่วยบางราย 

ภาวะแทรกซ้อนที่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากการฝังเข็ม เช่น

  • อาการเจ็บ ช้ำ หรือมีเลือดออกในจุดที่ฝังเข็ม โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือผู้ที่รับประทานยาที่ออกฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน (Warfarin) จะมีความเสี่ยงสูงกว่า
  • การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือเชื้อไวรัสเอชไอวี อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการใช้เข็มที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือใช้เข็มซ้ำ
  • อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ โดยเฉพาะปอด อาจเกิดขึ้นได้ในกรณีที่มีการฝังเข็มลึกเกินไป แต่มักพบได้น้อยมากในแพทย์ที่มีประสบการณ์
  • เกิดผลกระทบต่อผู้ป่วยที่ใช้เครื่องกระตุ้นหัวใจ เพราะในการฝังเข็มอาจมีการกระตุ้นไฟฟ้าร่วมด้วย ทำให้อาจไปแทรกการทำงานของเครื่องกระตุ้นหัวใจ
  • เกิดผลกระทบต่อผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ เพราะการฝังเข็มบางรูปแบบอาจไปกระตุ้นครรภ์มารดา และส่งผลต่อการคลอดบุตรได้