ปวดประจำเดือน ควรรับมืออย่างไร

ปวดประจำเดือน (Menstrual Pain/Dysmenorrhea) คือ อาการปวดท้องน้อยช่วงที่มีรอบเดือน ซึ่งมักเกิดขึ้นก่อนรอบเดือนมาเพียงเล็กน้อย หรือเกิดขึ้นระหว่างที่มีรอบเดือน โดยส่วนใหญ่ อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นเป็นเวลา 2-3 วัน ผู้ที่มีประจำเดือนมักรู้สึกปวดตุบ ๆ หรือปวดบีบ โดยอาการอาจรุนแรงหรือไม่รุนแรงแตกต่างกันไป

Period cramps

อาการปวดประจำเดือนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ และการปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • การปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ (Primary Dysmenorrhea) คืออาการปวดประจำเดือนทั่วไป โดยการปวดประจำเดือนชนิดนี้จะเริ่มเป็นเมื่อรอบเดือนครั้งแรกมาได้ประมาณ 1-2 ปี ผู้ที่มีประจำเดือนจะปวดท้องน้อยหรือปวดหลัง ซึ่งมักปวดก่อนมีประจำเดือนเล็กน้อยหรือระหว่างที่มีประจำเดือน โดยทั่วไปแล้ว ผู้หญิงที่อายุมากขึ้นมักปวดประจำเดือนน้อยลง และอาจจะหยุดปวดประจำเดือนหลังจากมีบุตรคนแรก
  • การปวดประจำเดือนชนิดทุติยภูมิ (Secondary Dysmenorrhea) คืออาการปวดประจำเดือนที่เกิดจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ ผู้ที่เกิดอาการปวดชนิดนี้จะรู้สึกปวดเมื่อรอบเดือนเริ่มมา และปวดนานกว่าการปวดรอบเดือนทั่วไป

ผู้ที่ปวดประจำเดือนจะรู้สึกปวดบริเวณท้องน้อย และอาจรู้สึกหน่วงเหมือนถูกกดท้องร่วมด้วย รวมทั้งอาจปวดที่สะโพก หลังส่วนล่าง และต้นขาด้านใน หากเกิดอาการรุนแรง อาจรู้สึกท้องปั่นป่วน และอาเจียนร่วมด้วยบางครั้ง รวมทั้งอาจถ่ายบ่อยด้วย

สาเหตุของอาการปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนเกิดจากการบีบตัวของมดลูก โดยเยื่อบุมดลูกจะผลิตสารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) ซึ่งสารนี้จะกระตุ้นให้มดลูกบีบตัวมากขึ้น โดยเฉพาะช่วง 1-2 วันแรกที่รอบเดือนมา

หากมดลูกบีบตัวมาก ก็อาจกดหลอดเลือดที่อยู่ใกล้เคียง ส่งผลให้ลำเลียงออกซิเจนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณมดลูกได้ไม่เพียงพอ ทำให้รู้สึกปวดประจำเดือน ทั้งนี้ หากร่างกายผลิตสารโพรสตาแกลนดินออกมามาก อาจทำให้รู้สึกคลื่นไส้ ท้องร่วง และเวียนศีรษะ

อย่างไรก็ตาม อาการปวดประจำเดือนยังมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ดังนี้

  • กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) ภาวะนี้เกิดจากฮอร์โมนภายในร่างกายเปลี่ยนแปลง โดยจะเกิดขึ้นก่อนมีรอบเดือนประมาณ 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม อาการปวดท้องอันเนื่องมาจากกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนจะหายไปหลังจากรอบเดือนมา
  • เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ภาวะนี้เกิดจากเยื่อบุมดลูกเจริญขึ้นนอกมดลูก โดยเกิดขึ้นที่รังไข่ ท่อนำไข่ กระเพาะปัสสาวะ หรืออุ้งเชิงกราน ทั้งนี้ อาจเกิดเยื่อบุโพรงมดลูกขึ้นที่ลำไส้ กะบังลม ตับ ปอด หรือที่สมอง ซึ่งถือเป็นกรณีที่ร้ายแรง
  • เนื้องอกที่มดลูก ผู้ที่เกิดเนื้องอกภายในมดลูกมักจะไม่ปรากฏอาการใด ๆ โดยเนื้องอกที่ขึ้นมาในมดลูกมักไม่ใช่เนื้อร้าย ขนาดของเนื้องอกมีตั้งแต่ขนาดเล็กมากไปจนถึงขนาดใหญ่ซึ่งอาจบิดมดลูกให้ผิดรูปได้ ทั้งนี้ มดลูกต้องบีบตัวเพื่อขับลิ่มเลือดที่มีขนาดใหญ่ออกไป จึงก่อให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน
  • ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ ภาวะนี้คือการติดเชื้อที่อวัยวะสืบพันธุ์ของเพศหญิง ซึ่งเกิดจากการได้รับเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยผู้ป่วยติดเชื้อที่มดลูก ท่อนำไข่ และรังไข่ หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาจทำให้เกิดการอักเสบ มีแผล ปวดท้องเมื่อมีรอบเดือน และอาจทำให้มีบุตรได้ยาก
  • เยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูก ภาวะนี้คล้ายกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ แต่ภาวะนี้เกิดเยื่อบุเจริญขึ้นภายในกล้ามเนื้อมดลูกแทน ผู้ป่วยจะเกิดอาการเจ็บ เนื่องจากมดลูกอักเสบและถูกกด ภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญภายในกล้ามเนื้อมดลูกพบได้ไม่บ่อยนัก มักเกิดกับผู้หญิงอายุมากกว่า 30 ปีที่มีบุตรแล้ว
  • ปากมดลูกตีบแคบ ภาวะนี้พบได้ไม่บ่อยนัก เกิดจากปากมดลูกแคบเกินไป ทำให้เลือดประจำเดือนไหลได้ช้า ก่อให้เกิดแรงกดภายในมดลูกมากขึ้น และเกิดอาการปวดท้องได้
  • ใส่ห่วงคุมกำเนิด ห่วงอนามัยคือวิธีคุมกำเนิดชั่วคราวที่ไม่ต้องใช้ฮอร์โมน ส่วนหนึ่งของตัวห่วงทำมาจากทองแดง วิธีนี้อาจคุมกำเนิดได้นานกว่า 10 ปี โดยแพทย์จะสอดห่วงอนามัยเข้าไปที่มดลูก ห่วงคุมกำเนิดจะป้องกันไม่ให้อสุจิเคลื่อนตัวเข้าไปในมดลูก รวมทั้งป้องกันการตกไข่ ตัวห่วงที่ทำจากทองแดงอาจจะทำให้ประจำเดือนมามากและปวดท้องน้อยได้ โดยจะเกิดอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นประมาณ 2-3 เดือนหลังจากใส่ห่วงคุมกำเนิด

นอกจากนี้ พฤติกรรมหรือเงื่อนไขเกี่ยวกับสุขภาพบางอย่างก็อาจทำให้เสี่ยงเกิดอาการปวดประจำเดือนได้สูง โดยผู้ที่เสี่ยงปวดประจำเดือนมากกว่าคนทั่วไป มักมีองค์ประกอบความเสี่ยง ดังนี้

  • อายุน้อยกว่า 20 ปี
  • น้ำหนักตัวมากหรืออ้วน
  • มีประวัติบุคคลในครอบครัวเคยประสบภาวะปวดประจำเดือน
  • สูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ไม่เคยมีบุตรมาก่อน
  • มีประจำเดือนก่อนอายุ 11 ปี

อาการปวดประจำเดือนที่ควรพบแพทย์

ผู้ที่ปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง โดยอาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการรักษา ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดอาการต่อไปนี้ ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที โดยอาการดังกล่าว ได้แก่

  • เกิดอาการปวดท้องน้อยหลังใส่ห่วงคุมกำเนิด
  • ปวดบีบที่ท้องมาก โดยรู้สึกปวดนานกว่า 2-3 วัน รวมทั้งท้องร่วงและคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • ปวดท้องน้อยเมื่อไม่ได้มีรอบเดือน
  • อาการปวดประจำเดือนแย่ลงอย่างรวดเร็ว หรือรู้สึกปวดท้องน้อยอย่างที่ไม่เคยเป็นเมื่อมีรอบเดือน
  • เลือดประจำเดือนไหลออกมามากกว่าปกติ โดยต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกชั่วโมง
  • มีเนื้อเยื่อปนออกมากับเลือดประจำเดือน โดยเนื้อเยื่อออกสีเทา
  • มีอาการปวดท้องน้อยอย่างรุนแรงในขณะที่ตั้งครรภ์

นอกจากนี้ อาการปวดท้องน้อยอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ หากไม่ได้รับการรักษา จะทำให้เกิดแผลที่เนื้อเยื่อซึ่งทำลายอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน และอาจนำไปสู่ภาวะมีบุตรยากได้ โดยผู้ป่วยจะมีไข้ รู้สึกปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง บางรายอาจรู้สึกปวดกะทันหัน ซึ่งมักพบในกรณีที่ผู้ป่วยอาจตั้งครรภ์ และตกขาวมีกลิ่นเหม็น ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที ส่วนผู้ที่ใช้ผ้าอนามัยแบบสอดและไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส อาเจียน ท้องร่วง วิงเวียนคล้ายจะเป็นลม และเกิดรอยผื่นคล้ายไหม้แดด ควรรีบพบแพทย์ทันทีเช่นกัน เนื่องจากอาการดังกล่าวมีสาเหตุมาจากกลุ่มอาการท็อกสิกช็อก (Toxic Shock Syndrome: TSS) ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

วิธีรับมืออาการปวดประจำเดือน

อาการปวดประจำเดือนนั้นดูแลและรักษาได้ โดยแบ่งเป็นวิธีดูแลด้วยตัวเอง และวิธีรักษาทางการแพทย์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

วิธีดูแลด้วยตัวเอง ผู้ที่รู้สึกปวดท้องประจำเดือนสามารถดูแลตัวเอง เพื่อให้อาการดังกล่าวทุเลาลงได้ ดังนี้

  • รับประทานยาแก้ปวด เช่น ยาไอบูโพรเฟน โดยรับประทานก่อนที่ประจำเดือนจะมา หรือรับประทานยาที่ยับยั้งสารโพรสตาแกลนดิน ซึ่งจะช่วยให้มดลูกไม่บีบตัวมากเกินไป
  • วางถุงน้ำร้อนหรือประคบร้อนที่บริเวณท้องน้อยหรือหลัง
  • นวดคลึงบริเวณท้องน้อยและหลังของตัวเอง
  • อาบน้ำด้วยน้ำอุ่น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รับประทานอาหารที่ย่อยง่ายและมีคุณค่าทางสารอาหารสูง และหลีกเลี่ยงอาหารบางประเภท เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง เนื้อแดง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ 
  • ฝึกโยคะหรือทำกิจกรรมอื่นที่ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น
  • รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 6 วิตามินบี 1 วิตามินอี กรดโอเมก้า 3 แคลเซียม และแมกนีเซียม หรืออาหารเสริมที่มีสารอาหารเหล่านี้
  • ลดอาหารที่มีเกลือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือน้ำตาล เพื่อป้องกันอาการท้องอืด
  • งดสูบบุหรี่
  • ยกขาขึ้น หรือนอนหงายและชันเข่าขึ้นมา เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน
  • นอนพักผ่อนให้เพียงพอ

วิธีรักษาทางการแพทย์ หากเกิดอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง รวมทั้งอาการไม่ทุเลาลงหลังจากดูแลด้วยตัวเอง อาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีทางการแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปตามความรุนแรงและสาเหตุของอาการปวดประจำเดือน ดังนี้

  • การรักษาด้วยยา แพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดชนิดที่ไม่ผสมสารสเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDS) หรือยาแก้ปวดอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยอาจหาซื้อรับประทานได้เอง ให้ผู้ป่วยรับประทานเพื่อบรรเทาอาการปวด ทั้งนี้ แพทย์อาจจ่ายยาต้านซึมเศร้าเพื่อลดอาการอารมณ์แปรปรวนอันเนื่องมาจากลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน รวมทั้งอาจให้ผู้ป่วยใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อปรับระดับฮอร์โมน โดยยาคุมกำเนิดมีทั้งแบบเม็ด แผ่นแปะคุมกำเนิด วงแหวนช่องคลอด ยาคุมกำเนิดแบบฉีด และยาฝังคุมกำเนิด โดยยาคุมกำเนิดเหล่านี้จะยับยั้งไม่ให้เกิดการตกไข่ ซึ่งทำให้ผู้ป่วยไม่เกิดอาการปวดประจำเดือน โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อช่วยบรรเทาอาการ ซึ่งมีงานวิจัยหนึ่งพบว่า หลังให้อาสาสมัครเพศหญิงวัย 18-45 ปี จำนวน 180 คน แบ่งกลุ่มและรับประทานยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวมที่มีตัวยาเอทินิล เอสตร้าไดออล (Ethynyl Estradiol) และคลอร์มาดิโนน อะซิเตท (Chlormadinone Acetate) หรือเอทินิล เอสตร้าไดออล และดรอสไพรีโนน (Drospirenone) เป็นระยะเวลา 6 เดือน ผลลัพธ์พบว่ากลุ่มที่รับประทานยาคุมชนิดฮอร์โมนรวมที่มีส่วนประกอบของเอทินิล เอสตร้าไดออล และคลอร์มาดิโนน อะซิเตท มีอาการปวดประจำเดือนลดลงตั้งแต่เดือนแรกที่รับประทาน และพบว่ามีผู้ที่หายจากอาการปวดประจำเดือนมากกว่า ดังนั้น การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีตัวยาดังกล่าวอาจเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในการช่วยลดอาการปวดประจำเดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ต้องการใช้ยาคุมควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เพื่อป้องกันความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนจากการประสบภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบจะได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาการติดเชื้อด้วย
  • การผ่าตัด ผู้ที่เกิดอาการปวดประจำเดือนอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับอวัยวะสืบพันธุ์ อาจต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะดังกล่าว เช่น ผ่าตัดรักษาเนื้องอกมดลูก ซีสต์ในรังไข่ หรือเยื่อบุโพรงมดลูกที่เจริญผิดที่ หรือผ่าตัดนำมดลูกออกไป ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ไม่บ่อยนัก มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงและไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีอื่น อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดมดลูกออกไปมักใช้รักษาผู้ที่วางแผนจะไม่มีบุตรในอนาคต หรือผู้ที่ใกล้หมดประจำเดือน