รู้จักไข้ทับระดู อาการและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

หากพูดถึงไข้ทับระดู หลายคนอาจเคยเข้าใจว่าหมายถึงการเป็นไข้หวัดในระหว่างที่มีประจำเดือน หรือการมีประจำเดือนในระหว่างที่เป็นไข้หวัด ความจริงแล้วไข้ทับระดูนั้นไม่ใช่ชื่อของโรคโดยตรง แต่เป็นอาการชนิดหนึ่งที่คล้ายคลึงกับกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (Premenstrual Syndrome: PMS) และรุนแรงกว่าจนอาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคล้ายกับเป็นไข้หวัดใหญ่นั่นเอง

กลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือน (PMS) สามารถเป็นได้ทั้งอาการทางร่างกายและอาการทางจิตใจ เช่น เจ็บเต้านม ปวดหลัง อ่อนล้า หรืออารมณ์แปรปรวน โดยมักเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 2–3 วัน หรือ 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน อาการไข้ทับระดูก็มักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้เช่นกัน แต่อาจมีอาการที่รุนแรงกว่ากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนทั่วไป และสามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้มากกว่าด้วย

รู้จักไข้ทับระดู อาการและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

ไข้ทับระดู เกิดจากอะไร

ไข้ทับระดูอาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย โดยในช่วงตกไข่ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดต่ำลงและระดับของพรอสตาแกลนดินจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งพรอสตาแกลนดินเป็นสารชนิดหนึ่งที่มีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมน เมื่อสารชนิดนี้เพิ่มสูงจะทำให้มดลูกเกิดการบีบตัวจนเกิดอาการปวดเกร็งในช่องท้อง รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย หรือเป็นไข้ตามมาด้วย

นอกจากนี้ การลดลงของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง อารมณ์แปรปรวน จนรู้สึกเหมือนเป็นไข้หวัดจริง ๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนอาจส่งผลต่อสารเคมีในสมองอย่างสารเซโรโทนิน ทำให้ในบางคนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เช่น รู้สึกอยากอาหารเพิ่มขึ้น เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ หรือเกิดภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

อาการที่อาจเป็นสัญญาณของไข้ทับระดู

อาการของไข้ทับระดูอาจแตกต่างกันออกไปในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งโดยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการรุนแรงมาก และอาการสามารถหายไปได้เองเมื่อเริ่มมีประจำเดือนหรือไม่กี่วันหลังจากมีประจำเดือน แต่ในบางคนก็อาจเกิดอาการรุนแรงจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้เช่นกัน 

อาการของไข้ทับระดูที่สามารถพบได้บ่อย มีดังนี้

  • มีไข้ หรือหนาวสั่น
  • ไอ เจ็บคอ น้ำมูกไหล
  • คลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ
  • มีอาการปวดเกร็งในช่องท้อง
  • ท้องอืด ท้องผูก หรือท้องเสีย
  • เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • รู้สึกคับแน่นบริเวณเต้านม เมื่อกดแล้วเจ็บ
  • ปวดหลัง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หรือปวดข้อต่อ
  • เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ

ผู้ที่เป็นไข้ทับระดูส่วนใหญ่จะสามารถดูแลตัวเองง่าย ๆ ได้ที่บ้านด้วยการรับประทานยาแก้ปวดทั่วไป ประคบร้อนบริเวณท้องน้อยที่เกิดอาการปวด รวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่าง เช่น ดูแลสุขอนามัยโดยการเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อย ๆ ในระหว่างมีประจำเดือน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำเปล่าอย่างเพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และพักผ่อนให้เพียงพอด้วย 

อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมาไม่ปกติ รู้สึกเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม