การประคบร้อน ประโยชน์และข้อควรรู้เพื่อความปลอดภัยต่อร่างกาย

การประคบร้อนเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่เกิดอาการเจ็บปวด ตึง หรือเกร็ง เช่น กล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น โดยการประคบร้อนจะช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่กล้ามเนื้อ หรือฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหาย จึงสามารถช่วยบรรเทาอาการดังกล่าวให้ดีขึ้นได้

การประคบร้อนมีวิธีการประคบ ข้อควรรู้หรือข้อควรระวังในการประคบ รวมถึงประสิทธิภาพในการช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ แตกต่างจากการประคบเย็น ซึ่งหากคุณทราบว่าการประคบร้อนสามารถช่วยบรรเทาอาการอะไรได้บ้าง และมีวิธีการประคบที่ถูกต้องอย่างไร คุณก็จะสามารถเลือกใช้การประคบร้อนได้อย่าเหมาะสมกับสถานการณ์มากขึ้น

การประคบร้อน

ประเภทของการประคบร้อน

การประคบร้อนมี 2 ประเภท คือการประคบร้อนแบบแห้งและการประคบร้อนแบบชื้น มีความแตกต่างกันดังนี้

การประคบร้อนแบบแห้ง 

การประคบร้อนแบบแห้งคือการใช้ผ้าห่ออุปกรณ์ให้ความร้อนเอาไว้เพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกับผิวโดยตรง โดยมักจะใช้แผ่นทำความร้อนแบบแห้งหรือขวดน้ำร้อนในการประคบ รวมถึงการอบซาวน่าก็ถือเป็นการประคบร้อนแบบแห้งเป็นวิธีหนึ่งที่มีความสะดวกและใช้งานได้ง่าย

การประคบร้อนแบบชื้น

การประคบร้อนแบบชื้นคือการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น การใช้ผ่าห่อแผ่นทำความร้อนแบบชื้น หรืออาจเป็นการแช่น้ำร้อนก็ได้เช่นกัน ซึ่งวิธีประคบร้อนแบบชื้นนี้จะมีประสิทธิภาพในการช่วยลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อได้ดีกว่าการประคบร้อนแบบแห้งเล็กน้อย

ประโยชน์ของการประคบร้อน

การประคบร้อนจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดในบริเวณที่ประคบ ซึ่งสามารถช่วยลดอาการปวดและอาการบวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ หากประคบร้อนด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจช่วยคลายความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ และช่วยฟื้นฟูเนื้อเยื่อที่ถูกทำลายหรือเกิดความเสียหายให้ดีขึ้นได้ด้วย

ตัวอย่างอาการที่การประคบร้อนสามารถช่วยบรรเทาได้ มีดังนี้

  • อาการปวดศีรษะ โดยการประคบร้อนจะช่วยคลายอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อที่คอซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งของอาการปวดศีรษะ
  • อาการปวดข้อหรือข้ออักเสบ (Arthritis) โดยการประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการข้อฝืดและช่วยคลายกล้ามเนื้อที่หดเกร็ง จึงอาจทำให้ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบสามารถเคลื่อนไหวได้ดีขึ้น
  • อาการเคล็ดขัดยอก (Sprains) โดยการประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการข้อฝืดที่เกิดขึ้นจากการอักเสบได้เป็นอย่างดี
  • โรคเอ็นอักเสบเรื้อรัง (Tendinosis) โดยการประคบร้อนจะช่วยบรรเทาความฝืดหรือความเมื่อยล้าที่เกิดขึ้นจากการอักเสบได้
  • อาการทางดวงตา โดยการประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการตาล้า ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา และอาจช่วยฟื้นฟูบาดแผลหรือปัญหาอื่น ๆ ที่มีผลกระทบกับดวงตาได้

ข้อควรรู้ในการประคบร้อน

ข้อควรรู้สำหรับการประคบร้อนที่ควรศึกษาก่อนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อร่างกาย มีดังนี้

1. การเลือกวิธีประคบร้อน

 

การเลือกวิธีประคบร้อนหรือบำบัดด้วยความร้อน มีทั้งการประคบร้อนเฉพาะที่ การประคบร้อนในบริเวณที่กว้างขึ้น หรือการบำบัดด้วยความร้อนทั่วทั้งร่างกาย ซึ่งการประคบร้อนเฉพาะที่จะใช้รักษาความเจ็บปวดบริเวณเดียวหรือบริเวณที่ไม่ใหญ่มาก เช่น รักษาอาการกล้ามเนื้อตึงด้วยการใช้แผ่นเจลร้อนหรือขวดใส่น้ำร้อนประคบลงบริเวณนั้น ๆ

ส่วนการประคบร้อนในบริเวณกว้างขึ้น เหมาะกับอาการฝืดขัดหรืออาการเจ็บปวดที่มีบริเวณกว้าง โดยอาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อนหรือแผ่นทำความร้อนขนาดใหญ่ในการประคบ และการบำบัดด้วยความร้อนทั่วทั้งร่างกายมักใช้วิธีการอบซาวน่าหรือแช่น้ำร้อนเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ทั่วร่างกาย

นอกจากนี้ การประคบร้อนหรือการบำบัดด้วยความร้อนควรทำในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสามารถแบ่งเวลาในการประคบร้อนได้เป็น 2 แบบคือ

  • สำหรับอาการฝืดข้อ อาการตึงหรือเกร็งกล้ามเนื้อที่มีอาการเพียงเล็กน้อย จะใช้เวลาในการประคบร้อนประมาณ 15–20 นาที
  • สำหรับอาการเจ็บปวดปานกลางไปจนถึงรุนแรง จะใช้เวลาในการประคบร้อนหรือการบำบัดด้วยความร้อนด้วยเวลาที่มากขึ้น เช่น การแช่น้ำอุ่นเป็นเวลา 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง

2. ข้อควรระวังในการประคบร้อน

 

การประคบร้อนมีข้อควรระวังบางประการที่ควรรู้และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังนี้

  • การประคบร้อนด้วยอุณหภูมิที่สูงเกินไปอาจทำให้ผิวหนังไหม้หรือพุพอง หรือหากมีการติดเชื้อใด ๆ การประคบร้อนอาจทำให้การติดเชื้อลุกลามหรือแพร่กระจายได้
  • ไม่ควรประคบร้อนในบริเวณที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นอาการฟกช้ำหรืออาการบวม หรืออาจไม่ใช่เลยทั้งสองอาการ ซึ่งในกรณีนี้ควรใช้วิธีประคบเย็นไปก่อน
  • ไม่ควรประคบร้อนในบริเวณที่การบาดเจ็บเพิ่งเกิดขึ้น เพราะอาจจะทำให้แผลฟื้นฟูได้ช้าและอาจทำให้เกิดการอักเสบได้

นอกจากนี้ ไม่ควรประคบร้อนในผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่าง เพราะมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดแผลไหม้พุพอง หรือการเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ จากการใช้อุปกรณ์ในการประคบ โดยผู้ที่ไม่ควรใช้การประคบร้อนมีดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่เป็นโรคผิวหนังอักเสบ
  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือด
  • ผู้ที่เป็นโรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
  • ผู้ที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis: MS)
  • ผู้ที่เป็นโรคหัวใจหรือมีภาวะความดันโลหิตสูง
  • ผู้ที่มีภาวะเส้นประสาทอักเสบจากโรคเบาหวานหรือจากภาวะอื่น ๆ เช่น โรคเรเนาด์ (Raynaud Disease)
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ โดยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการอบซาวน่าหรือแช่น้ำร้อน

3. เคล็ดลับในการประคบร้อนอย่างปลอดภัย

ทุกคนสามารถประคบร้อนได้อย่างปลอดภัยหากปฏิบัติตามวิธีการดังต่อไปนี้

  • ไม่ควรใช้อุณหภูมิสูงจนเกินไปในการประคบร้อน
  • ไม่ควรใช้เวลาในการประคบร้อนนานกว่า 15–20 นาที
  • ควรใช้ผ้าขนหนูห่ออุปกรณ์ที่ให้ความร้อนเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้สัมผัสกับผิวหนังโดยตรง
  • หากมีตุ่มพองหรือมีรอยแดงเกิดขึ้นควรหลีกเลี่ยงการประคบร้อน เพราะอาจทำให้ผิวไหม้ได้
  • ควรปรึกษาแพทย์เมื่อการประคบร้อนไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นหรือส่งผลให้อาการที่เป็นอยู่แย่ลง

4. ความแตกต่างของการประคบร้อนและการประคบเย็น

โดยทั่วไปการประคบร้อนจะช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และเส้นเอ็น ส่วนการประคบเย็นจะช่วยลดการอักเสบให้น้อยลง ซึ่งการประคบเย็นจะเกิดผลดีที่สุดหากทำทันทีหรือภายใน 24–48 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับบาดเจ็บ เช่น การประคบเย็นในทันทีที่เกิดแผลฟกช้ำ ซึ่งสามารถช่วยลดอาการบวมโดยทำให้เส้นเลือดบริเวณนั้น ๆ หดตัวได้

ทั้งนี้ หากเป็นอาการเจ็บปวดเรื้อรังหรืออาการที่กลับมาเกิดซ้ำก็อาจจำเป็นต้องใช้การประคบร้อน เพราะการประคบร้อนจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดซึ่งประกอบไปด้วยออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็นสำหรับช่วยบรรเทาอาการหรือฟื้นฟูร่างกาย

เมื่อได้ทราบประโยชน์ของการประคบร้อน วิธีการประคบร้อนที่ถูกต้อง และข้อควรระวังต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการประคบร้อนแล้ว คุณก็คงจะสามารถเลือกใช้การประคบร้อนได้อย่างเหมาะสมกับอาการที่เกิดขึ้น และสามารถช่วยบรรเทาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย