ปวดขาหนีบ สาเหตุและวิธีรับมือที่ได้ผล

ปวดขาหนีบ เป็นอาการหนึ่งที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยเฉพาะคนที่มีโอกาสเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ อย่างคนที่เล่นกีฬาเป็นประจำ และคนที่มีกิจวัตรประจำวันหรือทำงานที่ต้องใช้ร่างกายหนัก อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งอาการนี้ก็อาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดได้เช่นกัน

ขาหนีบคือบริเวณต้นขาด้านในส่วนที่อยู่ติดกับกระดูกเชิงกราน โดยสาเหตุที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดบริเวณก็สามารถเป็นได้หลายอย่าง ตั้งแต่สาเหตุที่พบได้บ่อยอย่างกล้ามเนื้อเกิดการฉีกขาด ไปจนถึงการเจ็บป่วยด้วยโรคบางชนิด เช่น ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ นิ่วในไต

ปวดขาหนีบ

สาเหตุของอาการปวดขาหนีบ

ปวดขาหนีบเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

1. กล้ามเนื้อฉีก

กล้ามเนื้อฉีกเป็นสาเหตุที่พบได้ค่อนข้างบ่อยของอาการปวดขาหนีบ โดยสาเหตุก็อาจเป็นได้ทั้งการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา หรือการทำกิจกรรมที่ส่งผลให้บริเวณขาหนีบมีการยืดหรือบิดตัวในแบบที่ผิดรูป

อย่างไรก็ตาม อาการปวดขาหนีบที่เกิดจากสาเหตุนี้มักดีขึ้นได้เองภายใน 4–8 สัปดาห์ หรือบางคนอาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความรุนแรง

2. ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ

ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบเป็นโรคที่เกิดจากการที่บางส่วนของลำไส้ยื่นผ่านกล้ามเนื้อหน้าท้องออกมา โดยสาเหตุมักเกิดจากการที่บริเวณท้องได้รับแรงดัน เช่น ขณะเบ่งอุจจาระ ขณะเบ่งปัสสาวะ การไออย่างเรื้อรัง หรือการจามอย่างเรื้อรัง

โดยผู้ป่วยโรคนี้จะก้อนเนื้อนูนออกมาบริเวณขาหนีบ และจะเกิดอาการปวดร่วมด้วยเมื่อไอ โน้มตัวไปข้างหน้า หรือยกของหนัก ทั้งนี้ โรคนี้เป็นโรคที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ ผู้ที่พบอาการในลักษณะดังกล่าวจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที

3. นิ่วในไต

นิ่วในไตเป็นโรคที่เกิดจากการก่อตัวของก้อนแร่ธาตุขนาดเล็กในไต ซึ่งก้อนนิ่วดังกล่าวสามารถเคลื่อนตัวผ่านไปมาในทางเดินปัสสาวะได้ โดยผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้มักจะพบอาการปวดบริเวณซี่โครง หรือสะโพกและจะลามไปยังบริเวณขาหนีบ รวมถึงยังมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น แสบขณะปัสสาวะ ปัสสาวะปนเลือด คลื่นไส้ และอาเจียน

4. กระดูกสะโพกหัก

กระดูกสะโพกหัก หรือกระดูกบริเวณที่อยู่ต้นขาหัก เป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ของอาการปวดขาหนีบ โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะพบว่าอาการปวดยิ่งรุนแรงมากขึ้นเมื่อขยับตัว และขาที่มีอาการไม่สามารถรับน้ำหนักได้

5. ภาวะอัณฑะบิดขั้ว

ภาวะอัณฑะบิดขั้วเป็นภาวะที่เกิดจากการที่ลูกอัณฑะและหลอดนำอสุจิที่คอยลำเลียงเลือดไปยังลูกอัณฑะเกิดการบิดตัว ส่งผลให้เลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงลูกอัณฑะได้

ผู้ที่ป่วยด้วยภาวะนี้จะพบอาการปวดและบวมบริเวณอัณฑะอย่างฉับพลันและรุนแรง ลูกอัณฑะอยู่ในลักษณะที่ผิดปกติ ปวดท้อง คลื่นไส้ และอาเจียน ทั้งนี้ภาวะนี้เป็นภาวะที่รุนแรง ผู้ที่มีอาการในลักษณะดังกล่าวจึงควรรีบไปพบแพทย์ทันที

6. เส้นประสาทได้รับแรงกดทับ

อาการปวดขาหนีบอาจเกิดขึ้นได้ หากเส้นประสาทบริเวณกระดูกสันหลังส่วนล่างได้รับแรงกดทับ โดยผู้ที่ป่วยด้วยภาวะนี้จะมักอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย อาการชาและรู้สึกคล้ายมีเข็มทิ่มที่ขาหนีบ แสบร้อนบริเวณขาหนีบ และปวดบริเวณกลางต้นขา

7. ถุงน้ำในรังไข่

ถุงน้ำในรังไข่ เป็นภาวะผิดปกติชนิดหนึ่งที่ผู้ที่ป่วยจะพบการเกิดถุงน้ำที่พื้นผิวหรือภายในรังไข่ โดยภาวะนี้ส่วนใหญ่มักไม่เป็นอันตราย แต่บางคนก็อาจเกิดอาการปวดบริเวณกระดูกเชิงกรานแบบเป็น ๆ หาย ๆ รู้สึกแน่นท้อง และท้องอืด

นอกจากนี้ ถุงน้ำที่เกิดขึ้นอาจเกิดการบิดตัวหรือแตกออก ทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการเกิดอาการที่รุนแรง ซึ่งผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยอาการที่อาจพบก็เช่น ปวดท้องหรือกระดูกเชิงกรานอย่างฉับพลันและรุนแรง มีไข้ อาเจียน หนาวสั่น ผิวเย็น หายใจหอบถี่ เวียนศีรษะ และอ่อนเพลีย

8. กระดูกเสื่อม (Osteonecrosis)

ภาวะนี้เกิดจากการที่กระดูกมีเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอจนส่งผลให้เซลล์กระดูกของผู้ที่ป่วยตาย โดยสาเหตุของภาวะนี้ก็เช่น การได้รับบาดเจ็บ การมีไขมันสะสมในหลอดเลือด การป่วยด้วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว การใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ป็นระยะเวลานาน และการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

โดยอาการปวดขาหนีบของผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะเกิดในลักษณะที่ค่อย ๆ รุนแรงขึ้นในระยะเวลาหลายเดือน

วิธีรับมือกับอาการปวดขาหนีบ

สำหรับผู้ที่มีอาการปวดขาหนีบมาจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ การดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนร่างกายและประคบเย็นบริเวณที่ปวดก็อาจช่วยบรรเทาอาการได้ แต่หากเห็นว่าอาการไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงขึ้น ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

ส่วนผู้ที่มีอาการปวดขาหนีบมาจากสาเหตุอื่น การรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ ดังนั้น ผู้ที่เห็นว่าตนเองอาจมีสาเหตุมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคใด ๆ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจตั้งแต่เนิ่น ๆ

แต่หากผู้ที่มีอาการปวดจาหนีบหลังจากการเกิดอุบัติเหตุ หรือมีอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ให้ผู้ป่วยรีบไปพบแพทย์ทันที ได้แก่ มีไข้ หนาวสั่น ปัสสาวะปนเลือด ปวดท้องหรือกระดูกเชิงกราน คลื่นไส้ อาเจียน ขาไม่สามารถรับน้ำหนักได้ อาการปวดลุกลามไปยังบริเวณหลัง ท้อง หรือหน้าอก อาการปวดหรือพบก้อนเนื้อบริเวณอัณฑะในผู้ชาย