สาเหตุของอาการปวดหลังช่วงบน และวิธีบรรเทาอาการเบื้องต้น

ปวดหลังช่วงบนเกิดได้จากหลายสาเหตุ โดยอาจเกิดจากสาเหตุทั่วไปที่บรรเทาอาการได้ด้วยตนเอง หรือจากสาเหตุร้ายแรงที่เป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ และจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ หากคุณรู้ว่าอาการปวดหลังช่วงบนที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากอะไร ก็จะช่วยให้รับมือได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

อาการปวดหลังช่วงบนเป็นอาการปวดหลังบริเวณตั้งแต่ฐานของคอลงไปจนถึงซี่โครง ซึ่งอาการปวดหลังช่วงบนนั้นจะมีหลายลักษณะ โดยอาจเป็นอาการปวดแบบแสบร้อน อาการปวดตุบ ๆ หรืออาการปวดจี๊ด ๆ ในบางกรณีอาจมีอาการกล้ามเนื้อตึง มีอาการชา หรือเกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย

สาเหตุของอาการปวดหลังช่วงบน และวิธีบรรเทาอาการเบื้องต้น

ปวดหลังช่วงบน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง

อาการปวดหลังช่วงบนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

การบาดเจ็บทั่วไป

การบาดเจ็บทั่วไปอย่างอาการเคล็ดขัดยอก กล้ามเนื้อตึง หรือกล้ามเนื้อฉีกเป็นสาเหตุหลักที่มักทำให้คุณปวดหลังช่วงบน ส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป หรือเกิดอุบัติเหตุขณะใช้กล้ามเนื้อ เช่น การทำงานที่ต้องออกแรงซ้ำ ๆ ในท่าเดิมเป็นเวลานานอย่างงานขุดดิน งานเลื่อยไม้ หรืองานแบกหาม การยกของหนักแบบผิดท่า รวมถึงการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา การออกกำลังกาย หรือการซ้อมเต้นด้วย

พฤติกรรมการนั่ง ยืน หรือเดินที่ไม่เหมาะสม

การจัดระเบียบร่างกายที่ไม่เหมาะสม เช่น นั่งเอามือเท้าคาง นั่งหลังค่อม ยกไหล่ หรือเอนตัวไปข้างหน้ามากไปในขณะที่กำลังเขียนหนังสือหรือนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์จนติดเป็นนิสัย อาจทำให้กล้ามเนื้อเกร็ง ตึง เกิดการกดทับเส้นประสาท ไปจนถึงกล้ามเนื้อสูญเสียความแข็งแรง ทำให้อาจเกิดอาการปวดหลังช่วงบนตามมาได้

รวมถึงท่าทางในการสะพายกระเป๋าที่ไม่เหมาะสม เช่น สะพายกระเป๋าที่ไหล่ข้างเดียวเป็นประจำ สะพายกระเป๋าเป้ที่มีน้ำหนักมากเกินไปเป็นเวลานาน หรือใส่กระเป๋าเงินที่มีน้ำหนักมากไว้ที่กระเป๋ากางเกงด้านหลัง ซึ่งอาจทำให้กล้ามเนื้อบริเวณคอเกิดอาการตึง เกิดการกดทับเส้นประสาทบริเวณใกล้เคียงอย่างเส้นประสาทไซอาติก (Sciatic Nerve) หรืออาจส่งผลให้กระดูกสันหลังโค้งงอจนเกิดอาการปวดหลังช่วงบนได้เช่นกัน 

ปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหรือเรื้อรัง

อาการปวดหลังช่วงบนในบางกรณีอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่รุนแรงหรือเรื้อรัง เช่น ภาวะหมอนรองกระดูกเคลื่อนจนไปกดทับเส้นประสาท (Herniated Disc) กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) โรคข้อเสื่อม และนิ่วในถุงน้ำดีที่สามารถทำให้เกิดอาการปวดบริเวณระหว่างสะบักหรือไหล่ขวาได้เช่นกัน

ปัจจัยสุขภาพอื่น ๆ 

ภาวะสุขภาพบางอย่างสามารถเพิ่มความเสี่ยงในการปวดหลังช่วงบนได้ เช่น การมีหน้าอกใหญ่แต่ไม่ได้ใส่เสื้อชั้นในที่รองรับน้ำหนักได้ดีพอ การมีน้ำหนักตัวที่มากเกินไปทำให้เกิดแรงกดทับบนหลังมากขึ้น การขาดการออกกำลังกายทำให้กล้ามเนื้อหลังขาดความยืดหยุ่นและแข็งแรง การสูบบุหรี่ทำให้การไหลเวียนของเลือดบริเวณหลังลดลง รวมถึงการเพิ่มขึ้นของอายุทำให้ความหนาแน่นของมวลกระดูกลดน้อยลงด้วย

นอกจากนี้ ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนอาจเกิดอาการปวดหลังช่วงบนได้ง่ายขึ้น เนื่องจากมีลักษณะทางร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหนัก ส่วนสูง ค่าดัชนีมวลกาย ขนาดเต้านม ความหย่อนคล้อยของเต้านม รวมถึงความทนทานของกล้ามเนื้อที่ช่วยในการยืดหดของหลังช่วงบนด้วย

วิธีรับมืออาการปวดหลังช่วงบนด้วยตนเอง

ผู้ที่มีอาการปวดหลังช่วงบนในระดับเล็กน้อยถึงปานกลางสามารถจัดการกับอาการปวดได้ด้วยตนเองตามวิธีต่อไปนี้

  • รับประทานยาแก้ปวดทั่วไป เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs)
  • ประคบร้อนเพื่อช่วยลดอาการปวดและอาการกล้ามเนื้อตึง หรือประคบเย็นเพื่อช่วยลดอาการปวดและอาการบวมก็ได้เช่นกัน
  • ออกกำลังกายที่ช่วยบริหารกล้ามเนื้อเบา ๆ เช่น การยืดกล้ามเนื้อหรือการม้วนไหล่อาจช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อหรืออาการกล้ามเนื้อตึงได้ หรืออาจนวดเบา ๆ บริเวณฐานของคอหรือสะบักอาจช่วยคลายกล้ามเนื้อที่ตึง ทำให้อาการปวดลดลงได้

อย่างไรก็ตาม หากปฏิบัติตามวิธีข้างต้นแล้วยังมีอาการปวดหลังช่วงบนนานติดต่อกันหลายวัน หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น มีอาการปวดรุนแรง มีไข้ร่วมกับมีอาการปวด กล้ามเนื้อกระตุก รู้สึกเสียวแปลบ หรือมีอาการชาบริเวณขา สะโพก หรือก้น รวมถึงไม่สามารถควบคุมการปัสสาวะได้ควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่น ๆ ตามมา