กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome)

ความหมาย กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome)

Myofascial Pain Syndrome หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด เป็นกลุ่มโรคที่ก่อให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้ออย่างเรื้อรังและเกิดอาการทางระบบประสาทอัตโนมัติ ซึ่งเป็นผลมาจากการเกิดจุดกดเจ็บ (Trigger Point) ในกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด บางครั้งอาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวดลามไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายด้วย โดยสาเหตุอาจมาจากกล้ามเนื้อถูกใช้งานอย่างซ้ำ ๆ จากการทำงานและการทำกิจกรรม หรืออาจเกิดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อมากเกินไป

1771 Myofascial Pain Syndrome rs

อาการของกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด

อาการที่บ่งบอกว่าอาจเป็น Myofascial Pain Syndrome มีดังนี้

  • เจ็บกล้ามเนื้อ โดยจะปวดแบบลึก ๆ
  • ปวดกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง หรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ
  • อาจมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อต้องทำกิจกรรมบางอย่างหรือเกิดความเครียด
  • กล้ามเนื้อจับตัวเป็นก้อนแน่น
  • นอนหลับยากเพราะปวดกล้ามเนื้อ
  • เกิดภาวะซึมเศร้า อ่อนเพลีย หรือมีความผิดปกติทางพฤติกรรม

หากพบว่ามีอาการปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง โดยอาการไม่หายขาดไปหรือดูแลอาการโดยทั่วไป อย่างหยุดใช้งานกล้ามเนื้อหรือนวดกล้ามเนื้อแล้วยังไม่ได้ผล ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาอย่างถูกต้อง

สาเหตุของกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด

เมื่อกล้ามเนื้อถูกใช้งานอย่างหนักหรือได้รับบาดเจ็บอาจทำให้มีการก่อตัวของเนื้อเยื่อพังผืดหรือจุดกดเจ็บ โดยจุดกดเจ็บนี้สามารถทำให้เกิดอาการปวดและตึงได้ หากอาการนี้เป็นอย่างต่อเนื่องไม่หายไปและมีอาการปวดมากขึ้น จะเรียกภาวะนี้ว่า Myofascial Pain Syndrome หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด ส่วนสาเหตุของ Myofascial Pain Syndrome ยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่พบว่าอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่ไปกระตุ้นให้เกิดอาการดังกล่าว ดังนี้

  • กล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ โดยอาจได้รับบาดเจ็บอย่างกะทันหันหรือกล้ามเนื้อเกิดความตึงเครียดอย่างต่อเนื่องจนทำให้เกิดจุดกดเจ็บได้ เช่น จุดภายในกล้ามเนื้อหรือบริเวณใกล้กันกับกล้ามเนื้อที่ตึงอาจกลายเป็นจุดกดเจ็บ การเคลื่อนไหวแบบซ้ำ ๆ และการจัดท่าทางร่างกายที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
  • ความเครียดและความวิตกกังวล มีแนวคิดที่ว่าผู้ที่มีความเครียดและความวิตกกังวลบ่อย ๆ อาจเสี่ยงเกิดจุดกดเจ็บได้มากขึ้น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักจะมีการเกร็งกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ จนเกิดจุดกดเจ็บ

การวินิจฉัยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด

ในเบื้องต้นแพทย์จะวินิจฉัย Myofascial Pain Syndrome จากการสอบถามประวัติทางการแพทย์ร่วมกับการตรวจบริเวณที่มีอาการปวดเป็นหลัก โดยแพทย์อาจใช้นิ้วกดลงบริเวณที่มีอาการเบา ๆ เพื่อหาจุดที่มีอาการ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการกระตุกที่กล้ามเนื้อเมื่อแพทย์กดลงบริเวณจุดกดเจ็บ

อย่างไรก็ตาม อาการปวดกล้ามเนื้อสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ดังนั้น แพทย์อาจแนะนำให้มีการทดสอบด้วยขั้นตอนการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุที่แน่ชัดต่อไป

การรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด

ไม่มีวิธีรักษา Myofascial Pain Syndrome ที่เฉพาะเจาะจง โดยแพทย์อาจใช้วิธีการเดียวหรือหลายวิธีร่วมกัน เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยให้ดีขึ้น ดังนี้

การใช้ยา

แพทย์จะพิจารณาใช้ยาตามสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ซึ่งยาที่ใช้รักษาอาจแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น

  • ยาแก้ปวด มีทั้งยาชนิดที่หาซื้อได้เองทั่วไป เช่น ยาไอบูโพรเฟน ยานาพรอกเซน เป็นต้น แต่ในบางกรณีอาจเป็นยาตามใบสั่งแพทย์ ซึ่งเป็นยาชนิดที่มีฤทธิ์แรงกว่าหรือเป็นยาชนิดแผ่นแปะ
  • ยากล่อมประสาทสำหรับรักษาผู้ป่วยที่มีอาการวิตกกังวลและมีการนอนหลับที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งภาวะดังกล่าวสามารถเกิดกับผู้ป่วย Myofascial Pain Syndrome ได้ แต่ต้องใช้ยาอย่างระมัดระวัง เพราะอาจทำให้มีอาการง่วงนอนและเสพติดการใช้ยาชนิดนี้ได้
  • ยารักษาโรคซึมเศร้า อาจใช้ลดอาการปวดและช่วยด้านการนอนหลับในผู้ป่วยบางราย
  • ยาฉีด แพทย์อาจฉีดยาชาหรือยาสเตียรอยด์ลงไปบริเวณจุดกดเจ็บเพื่อบรรเทาอาการปวด

การรักษาอื่น ๆ

โดยทั่วไปจะมีนักกายภาพบำบัดเป็นผู้ดูแลและให้คำแนะนำผู้ป่วยขณะทำการบำบัดตามวิธีต่าง ๆ ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็นหลายเทคนิค ดังนี้

  • การยืดเอ็นและกล้ามเนื้อ นักกายภาพบำบัดจะเป็นผู้นำในขั้นตอนการบริหารกล้ามเนื้อ โดยการยืดเอ็นและกล้ามเนื้อจะช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อได้ แต่หากผู้ป่วยรู้สึกถึงจุดกดเจ็บในระหว่างการบริหาร นักกายภาพบำบัดก็อาจพ่นสเปรย์เพื่อให้รู้สึกชาลงบนจุดกดเจ็บนั้น ๆ
  • การฝึกวางท่าทางร่างกายอย่างเหมาะสม การปรับปรุงท่าทางต่าง ๆ หรือการปรับบุคลิกภาพให้เหมาะสมก็มีส่วนช่วยบรรเทาอาการปวดได้ นอกจากนี้ การออกกำลังกายจะช่วยให้กล้ามเนื้อรอบ ๆ จุดกดเจ็บแข็งแรงขึ้น และช่วยลดการทำงานกล้ามเนื้อไม่ให้ทำงานหนักจนเกินไป
  • การหลีกเลี่ยงการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณที่เกิดอาการปวด เพื่อพักการใช้งานกล้ามเนื้อในบริเวณดังกล่าวไประยะหนึ่ง
  • การประคบร้อนด้วยถุงร้อนหรือผ้าร้อน อาจช่วยบรรเทากล้ามเนื้อที่ตึงเกร็งและลดอาการปวดกล้ามเนื้อได้
  • การนวด นักกายภาพบำบัดจะนวดกล้ามเนื้อเพื่อบรรเทาอาการปวด โดยจะเน้นบริเวณที่มีอาการเพื่อช่วยคลายความตึงเกร็งของกล้ามเนื้อ
  • การบำบัดด้วยคลื่นเสียงหรืออัลตราซาวด์ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและให้ความอุ่น ซึ่งมีส่วนช่วยบรรเทาอาการของกล้ามเนื้อที่มีปัญหาได้
  • การใช้เข็มเจาะลงไปที่จุดกดเจ็บ เพื่อคลายความแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือการฝังเข็มที่จุดกดเจ็บหรือบริเวณรอบ ๆ หลาย ๆ จุด

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตนเองควบคู่ไปด้วยในระหว่างที่รักษาตัว ซึ่งอาจช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับอาการปวดได้ดีขึ้น เช่น ออกกำลังกายเบา ๆ ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักและผลไม้ นอนหลับให้เพียงพอ หรือรู้จักผ่อนคลายความเครียด เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด

Myofascial Pain Syndrome อาจส่งผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ยากขึ้นหรือมีปัญหาในการนอน เพราะขณะนอนหลับอาจไปโดนจุดกดเจ็บและตื่นขึ้นมากลางดึกได้ หรือผู้ป่วยอาจหาตำแหน่งในการนอนหลับที่สบายได้ยากลำบาก นอกจากนี้ บางรายอาจเสี่ยงต่อกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อ เอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนด้วย (Fibromyalgia) ซึ่งเป็นอาการปวดเรื้อรังที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายหลายส่วน

การป้องกันกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด

แม้ว่า Myofascial Pain Syndrome เป็นภาวะเจ็บป่วยที่ไม่สามารถป้องกันได้ แต่การป้องกันในเบื้องต้นอาจทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้อาการแย่ลง ดังนี้

  • ระมัดระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บหรือการบาดเจ็บซ้ำ
  • ฝึกวางท่าทางร่างกายให้เหมาะสม ทั้งการเดิน นั่ง ยืน และนอน โดยให้กล้ามเนื้ออยู่ในสภาพสมดุล ควรหลีกเลี่ยงการนั่งหรือการยืนตัวเอียง เอี้ยวตัว ห่อไหล่ หลังค่อม และไม่ควรก้มหรือเงยหน้าเป็นเวลานาน รวมไปถึงจัดการสภาพแวดล้อมให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เช่น จัดโต๊ะทำงานให้หน้าจอและแป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์อยู่ในลักษณะที่ถูกต้อง โดยให้มีขนาดที่เหมาะสมกับร่างกายของผู้ใช้งาน เป็นต้น
  • พยายามควบคุมไม่ให้เกิดความเครียด
  • รักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า
  • ฝึกการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ