เจ็บใต้ราวนม สาเหตุและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

เจ็บใต้ราวนมอาจมีลักษณะเจ็บแบบเสียวแปลบ เจ็บแบบเป็น ๆ หาย ๆ เจ็บเมื่อหายใจเข้า หรือเจ็บเมื่อขยับตัว ในบางกรณีอาการเจ็บอาจเกิดขึ้นในบริเวณอื่น ๆ นอกเหนือจากราวนมด้วย โดยอาจลามไปถึงหลัง รักแร้ หรือกระดูกหน้าอกได้เช่นกัน อาการเจ็บใต้ราวนมสามารถเกี่ยวข้องกับอวัยวะได้หลากหลายส่วน เช่น ปอด หัวใจ กระดูกซี่โครง ระบบย่อยอาหาร

อาการเจ็บใต้ราวนมอาจเกิดจากสาเหตุทั่วไป เช่น กล้ามเนื้อตึง การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรืออาจเกิดจากสาเหตุที่รุนแรงมากขึ้นและควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เช่น ภาวะหัวใจขาดเลือด ดังนั้น หากมีอาการเจ็บใต้ราวนมเกิดขึ้น ควรสังเกตอาการและสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์เพื่อที่จะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เจ็บใต้ราวนม

สาเหตุที่อาจทำให้เจ็บใต้ราวนม

อาการเจ็บใต้ราวนมสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุดังต่อไปนี้

สาเหตุทั่วไป

อาการเจ็บใต้ราวนมอาจเกิดจากสาเหตุทั่วไป เช่น การใช้กล้ามเนื้อหน้าอกมากเกินไปจากการยกของหนัก หรือการเล่นกีฬา ทำให้รู้สึกปวดหรือตึงบริเวณใต้ราวนม โดยเฉพาะในเพศหญิงอาจเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในช่วงมีประจำเดือน หรือเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตน้ำนมสำหรับคุณแม่หลังคลอด นอกจากนี้ การใส่เสื้อชั้นในที่รัดจนเกินไปก็อาจทำให้เจ็บใต้ราวนมได้เช่นกัน

อาการเจ็บใต้ราวนมจากสาเหตุเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่อันตรายและไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ในกรณีของผู้ที่ให้นมบุตร อาการเจ็บใต้ราวนมอาจเกิดจากความผิดปกติของเต้านม เช่น เต้านมอักเสบ ต่อมน้ำนมอุดตัน หรือเกิดฝีที่เต้านม ซึ่งอาจจำเป็นต้องรับการรักษาจากแพทย์

ภาวะหัวใจขาดเลือด

ภาวะหัวใจขาดเลือดอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการเจ็บใต้ราวนมบริเวณตรงกลางค่อนไปทางซ้ายได้ โดยผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกเหมือนถูกบีบรัด และอาจมีอาการหายใจถี่ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หรือหมดสติร่วมด้วย ภาวะหัวใจขาดเลือดเป็นภาวะฉุกเฉินที่อันตรายถึงแก่ชีวิตได้ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จึงควรรีบไปพบแพทย์หากเกิดอาการเหล่านี้ขึ้น

การบาดเจ็บบริเวณหน้าอก

การบาดเจ็บบริเวณหน้าอกและกระดูกซี่โครงอาจทำให้เกิดอาการเจ็บใต้ราวนมได้เช่นกัน โดยมักมีสาเหตุมาจากการเล่นกีฬา การหกล้ม หรือการเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ผู้ป่วยอาจมีอาการอาการช้ำที่กดแล้วเจ็บบริเวณใต้ราวนม รวมถึงอาจรู้สึกเจ็บใต้ราวนมเมื่อหายใจเข้าลึก ๆ หรือรู้สึกเจ็บใต้ราวนมเมื่อเอี้ยวตัว

ปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร

ในบางกรณี อาการเจ็บใต้ราวนมมีสาเหตุมาจากปัญหาเกี่ยวกับระบบย่อยอาหาร เช่น โรคกระเพาะอาหาร โรคกรดไหลย้อน หรือโรคลำไส้แปรปรวน โดยอาการของโรคเหล่านี้อาจเริ่มจากการปวดท้อง ท้องอืด จุกเสียดแน่นท้อง แสบร้อนกลางอก และอาจลามมายังบริเวณใกล้เคียง จนส่งผลให้เกิดอาการเจ็บใต้ราวนมตามมาได้

ภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleurisy)

ภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบเกิดจากการที่เยื่อบุด้านนอกที่ล้อมรอบปอดเกิดการอักเสบหรือติดเชื้อ อาจมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัสอย่างเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือการติดเชื้อแบคทีเรียจนทำให้เกิดอาการปอดบวม หรือวัณโรค ภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบจะทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกโดยเฉพาะเมื่อหายใจเข้า ไอ หรือจาม หายใจถี่และตื้น รวมถึงอาจเกิดอาการเจ็บใต้ราวนมได้ด้วย

เจ็บใต้ราวนมกับสัญญาณที่ควรไปพบแพทย์

อาการเจ็บใต้ราวนมอาจเป็นสัญญาณของการเกิดปัญหาสุขภาพที่รุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ หากมีอาการเจ็บใต้ราวนมอย่างรุนแรงและฉับพลัน รวมถึงมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที

ตัวอย่างอาการที่ควรไปพบแพทย์ มีดังนี้

  • อาการเจ็บใต้ราวนมที่เกิดขึ้นไม่หายไปภายใน 2 สัปดาห์ หรือรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
  • อาการเจ็บใต้ราวนมลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น แขน หรือหัวไหล่
  • เกิดอาการเจ็บใต้ราวนมร่วมกับมีอาการบาดเจ็บอื่น ๆ ที่หน้าอก
  • รู้สึกแน่นหน้าอก หายใจถี่ หายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออก
  • รู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ หรือรู้สึกเหมือนจะเป็นลม
  • หน้าอกมีอาการบวมแดง มีก้อนเนื้อ หรือมีน้ำหนองไหลออกมาจากหัวนม

อาการเจ็บใต้ราวนมสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งจากสาเหตุทั่วไปที่ไม่อันตราย สามารถหายได้เองโดยไม่ต้องทำการรักษา และจากสาเหตุร้ายแรงที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้น หากมีอาการเจ็บใต้ราวนมเกิดขึ้นไม่ควรเพิกเฉย ควรไปพบแพทย์ทันทีหากสังเกตถึงอาการผิดปกติที่รุนแรง