เป็นลม

ความหมาย เป็นลม

เป็นลม (Faint)  คือ อาการที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกขณะและเกิดขึ้นกะทันหัน ทำให้หมดสติไปในระยะเวลาสั้น ๆ  สาเหตุที่พบได้บ่อยเนื่องจากระดับความดันในเลือดต่ำ หรือเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพในส่วนอื่น ๆ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ โรคโลหิตจาง โรคเบาหวาน ความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวลสูง การขาดออกซิเจน การเปลี่ยนอิริยาบถจากนอนเป็นนั่ง จากนั่งเป็นยืนเร็วเกินไป ผู้ที่เป็นลมส่วนใหญ่จะฟื้นคืนสู่สภาพปกติได้ในเวลาไม่นานหลังจากได้นอนราบลงไป เป็นลมเป็นอาการที่ไม่รุนแรง แต่ควรไปพบแพทย์หากสงสัยว่าการเป็นลมอาจเป็นอาการเตือนของโรคอื่น ๆ

เป็นลม

อาการเป็นลม

เป็นลม เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทั้งตอนนั่ง ยืน หรือแม้แต่ตอนที่ลุกขึ้นหรือเปลี่ยนท่าเร็วเกินไป ซึ่งอาจจะทำให้รู้สึกอ่อนแรงก่อนจะหมดสติ ในบางรายอาจพบอาการเตือนก่อนเป็นลมในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาที โดยจะพบอาการต่อไปนี้

  • หาว
  • วิงเวียน ปวดศีรษะ หรือมีอาการบ้านหมุน
  • หน้าซีด อ่อนแรง เหงื่อออกมาก
  • สายตาพร่ามัว มองไม่ชัด หรือมองเห็นจุดสีดำหรือสีเทา
  • หูอื้อ หรือรู้สึกมีเสียงในหู
  • หายใจสั้นและหายใจเร็ว
  • รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียน
  • รู้สึกชาที่ริมฝีปากหรือปลายนิ้ว

หลังจากรู้สึกตัวหรือฟื้นจากการเป็นลมมักจะรู้สึกเหนื่อยหรืออ่อนแรงประมาณ 30 นาที รวมถึงอาจไม่สามารถจำเหตุการณ์ในช่วงก่อนเป็นลมได้ ควรไปพบแพทย์หากพบว่าเป็นลมในช่วงระหว่างการออกกำลังกาย หรือมีอาการหัวใจสั่น หรือมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วผิดปกติ หรือมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นลมหรือเสียชีวิตกะทันหัน การเป็นลมอาจเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ หากพบผู้ที่เป็นลมเกิน 2 นาที ควรโทรเรียกรถพยาบาลด่วน

อาการเป็นลมอาจมีลักษณะที่คล้ายกับอาการของโรคหลอดเลือดในสมองที่เกิดขึ้นจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ควรรีบโทรเรียกรถพยาบาลด่วน หากพบผู้ที่มีลักษณะหรืออาการดังต่อไปนี้

  • หน้าเบี้ยว หนังตาตก ไม่สามารถยิ้มหรือขยับปากได้ปกติ
  • ไม่สามารถยกแขนข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้ง 2 ข้างได้ เนื่องจากมีอาการชาหรืออ่อนแรง
  • ไม่สามารถพูดได้อย่างชัดเจน หรือพูดจาอ้อแอ้

สาเหตุของอาการเป็นลม

เป็นลม สาเหตุมีหลายประเภทและสาเหตุยังไม่แน่ชัด อาจมีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เป็นลมได้ เช่น ความดันในเลือดที่ลดต่ำลง ความเครียด ความกลัว ความหิว ความร้อน การยืนในท่าเดิมเป็นเวลานาน ลุกขึ้นเร็วเกินไป ไออย่างรุนแรง โรค หรือเป็นผลมาจากการดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้สารเสพติด อาการเป็นลมที่พบได้โดยทั่วไปแบ่งได้หลายประเภท แต่ที่พบบ่อย คือ

  • Vasovagal Syncope หรือเป็นลมธรรมดา อาจมีการเกร็งร่วมด้วยในบางราย มักเกิดขึ้นกับผู้ที่มีร่างกายหรือจิตใจที่อ่อนแอ ผู้ที่มีความเครียดสูง ผู้ที่อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน รวมถึงผู้ที่เป็นลมเพราะเห็นเลือดหรือเห็นสิ่งที่ไม่พึงประสงค์
  • Carotid Sinus Syncope เป็นผลมาจากหลอดเลือดแดงในลำคอตีบ มักเกิดขึ้นหลังจากมีการหันศีรษะไปทางใดทางหนึ่งนานเกินไป การนวด หรือการใส่เสื้อคอปกที่มีการรัดแน่นบริเวณลำคอมากเกินไป
  • Situational Syncope เกิดจากการกระตุ้นของสถานการณ์บางอย่าง เช่น การไอ การจาม การบิดเอว การปัสสาวะหรืออุจจาระ หรือผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร

นอกจากนี้ รวมไปถึงปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของการเป็นลม ได้แก่

  • ความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่าทาง (Orthostatic Hypotension) จะเกิดขึ้นเมื่อเวลานั่งหรือนอนเป็นเวลานานแล้วลุกขึ้นยืนทันที เพราะความดันในเลือดลดต่ำลงและทำให้เลือดที่ไปเลี้ยงสมองมีปริมาณไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในภาวะขาดน้ำ ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทในการรักษาระดับความดันในเลือดให้เป็นปกติ ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ปัสสาวะบ่อยจึงเป็นเหตุให้ร่างกายสูญเสียน้ำ ผู้ที่ใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า (Antidepressant Drugs) หรือการใช้ยารักษาความดันโลหิตสูง รวมถึงผู้ป่วยโรคพาร์กินสันหรือผู้ที่มีเงื่อนไขทางระบบประสาท
  • ปัญหาของหัวใจ (Cardiac Syncope) ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดที่จะไปเลี้ยงสมองและทำให้เป็นลมได้ ความเสี่ยงหลักคืออายุที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ มีประวัติการหัวใจวาย มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของหัวใจ ผนังห้องหัวใจอ่อนแอ (Ventricular Dysfunction) หลอดเลือดหัวใจตีบแคบหรืออุดตัน อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือการเต้นของหัวใจที่ผิดจังหวะ
  • สมองขาดออกซิเจนเฉียบพลัน (Reflex Anoxic Seizures) มักพบมากในเด็กเล็ก เป็นผลมาจากอัตราการเต้นหัวใจที่ลดลง และอาจหยุดเต้นไปประมาณ 5-30 วินาที เด็กจะอ้าปากเหมือนตอนร้องไห้ แต่ไม่มีเสียงออกมาก่อนที่จะตัวซีด อาจมีอาการตัวแข็งทื่อหรือตัวอ่อนปวกเปียก ตาเหลือกและเป็นลมหมดสติไป รวมถึงมีอาการชักร่วมด้วยประมาณ 1 นาที หลังจากนั้นเด็กจะฟื้นและมีอาการเป็นปกติ อาการนี้จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเด็กแต่จะอาจทำให้คนที่พบเห็นตกใจได้ โดยปกติอาการจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อเด็กมีอายุ 4-5 ปี
  • โรคหอบจากอารมณ์หรือภาวะหายใจเกิน (Hyperventilation Syndrome) เป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่ออารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ความเครียด ความกลัว ความวิตกกังวล ด้วยการหายใจเอาออกซิเจนเข้าและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากร่างกายเร็วเกินไป

การวินิจฉัยอาการเป็นลม

ผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติทั่วไปหากเป็นลมในครั้งแรก อาจยังไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ผู้ที่เคยมีประวัติการเป็นลม หรือเป็นลมบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยปัญหาหรือสาเหตุที่แท้จริงของการเป็นลม โดยแพทย์มีแนวทางในการวินิจฉัยโดยตรวจร่างกาย สอบถามเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์ ประวัติการใช้ยา สอบถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ในช่วงที่เป็นลม เช่น ทำอะไรอยู่ก่อนที่จะเป็นลม มีความรู้สึกอย่างไรก่อนที่จะเป็นลม หรืออาจตรวจเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

  • การตรวจเลือด เพื่อหาสมดุลของสารเคมีในร่างกายและโรคโลหิตจาง
  • การตรวจระบบประสาท เช่น การตรวจศีรษะด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) การตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือการตรวจคลื่นสมอง (Electroencephalogram: EEG)
  • การตรวจหัวใจ เช่น การตรวจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) การตรวจบันทึกการทำงานของหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitor) การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)

การรักษาอาการเป็นลม

เป็นลม รักษาได้ตามการวินิจฉัยของแพทย์ ขึ้นอยู่กับสาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้เป็นลม และความถี่ที่เกิดอาการ เช่น การเป็นลมที่ไม่ได้มีอาการบ่อยและไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาของโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ อาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แพทย์อาจจ่ายยาเพื่อรักษาสาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้เป็นลม อาจต้องใส่เครื่องกระตุ้นหัวใจในผู้ที่เป็นลมจากสาเหตุของจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ หรือใส่อุปกรณ์เสริมเพื่อปรับความดันโลหิต รวมทั้งแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูงเพื่อป้องกันภาวะความดันในเลือดต่ำ

วิธีการปฎิบัติตัวหรือการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อพบเห็นคนเป็นลม

  • หากพบว่ายังหายใจอยู่ ควรจัดคนเป็นลมให้อยู่ในท่านอนและยกขาขึ้นให้อยู่ในระดับที่สูงกว่าหัวใจประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อเพิ่มการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมอง แล้วหันศีรษะไปด้านข้าง เพื่อป้องกันไม่ให้ลิ้นบังทางเดินหายใจ รวมถึงปลดเข็มขัด กระดุม ปกเสื้อ หรือเสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นลมซ้ำอีกครั้ง และไม่ควรให้รีบลุกขึ้น
  • หากพบว่าหยุดหายใจ ควรทำปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary Resuscitation: CPR) จนกว่าจะหายใจหรือกลับมามีสติอีกครั้ง หรือโทรเรียกรถพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ทั้ง 3 หมายเลข คือ 1669 (ศูนย์นเรนทร) 1691 (ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาลกรมตำรวจ) หรือ 1554 (หน่วยกู้ชีพ กรุงเทพมหานคร)

ภาวะแทรกซ้อนของอาการเป็นลม

ผู้ที่เป็นลมจะไม่รู้สึกตัว และอาจจะจำเหตุการณ์ในช่วงก่อนการเป็นลมไม่ได้ เป็นลมมักเกิดขึ้นพร้อมอาการหมดสติ บางรายถ้ายืนอยู่อาจล้มลงไปที่พื้น ทำให้เกิดการบาดเจ็บที่ร่างกาย อาจทำให้เนื้อเยื่อ ผิวหนัง กล้ามเนื้อ กระดูก หรือศีรษะได้รับการกระแทกจนเกิดความเสียหาย รวมไปถึงความสามารถในการเคลื่อนไหว การเดิน การวิ่ง โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ

การป้องกันอาการเป็นลม

การเป็นลม ป้องกันได้ หากรู้ถึงสาเหตุหรือปัจจัยที่ทำให้เป็นลม หรือปฏิบัติตามแนวทางดังต่อไปนี้เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดซ้ำ เช่น

  • ถ้าเป็นลมจากความหิว ควรรับประทานอาหารตามเวลาปกติ ไม่ควรอดอาหาร
  • หากเคยมีประวัติเป็นลมเพราะเห็นเลือด ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบก่อนการเจาะเลือด หรือตรวจเลือด
  • ไม่ควรรีบเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น จากนอนเป็นนั่ง หรือจากนั่งเป็นลุกขึ้นยืน
  • หากรู้สึกว่าจะเป็นลมหรือพบว่ามีอาการเตือนก่อนเป็นลมควรนั่งหรือนอนพัก
  • พยายามกำหนดลมหายใจให้สม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหอบจากอารมณ์หรือภาวะหายใจเกิน ที่มีสาเหตุมาจากความเครียดหรือความกลัว
  • ผู้ที่เป็นลมโดยมีสาเหตุมาจากปัญหาของโรคที่เกี่ยวกับหัวใจ ควรรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง และดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและรักษาระดับความดันโลหิต