ความดันต่ำ

ความหมาย ความดันต่ำ

ความดันต่ำ (Low Blood Pressure/Hypotension) หรือภาวะความดันโลหิตต่ำ เป็นภาวะที่ความดันโลหิตในหลอดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ หรือมีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ในผู้ใหญ่ ซึ่งหากมีภาวะความดันเลือดต่ำแต่ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษา แต่หากมีอาการผิดปกติที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเกิดขึ้น ควรเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม

การวัดค่าความดันโลหิตจะแบ่งออกเป็น 2 ค่า คือค่าความดันโลหิตตัวบนหรือค่าความดันโลหิตซีสโตลิค (Systolic Pressure) เป็นแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจบีบตัว และค่าความดันโลหิตตัวล่างหรือค่าความดันโลหิตไดแอสโตลิค (Diastolic Pressure) เป็นแรงดันในหลอดเลือดแดงขณะที่หัวใจคลายตัว ซึ่งค่าความดันโลหิตปกติของผู้ใหญ่คือค่าความดันตัวบนอยู่ระหว่าง 90–120 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างไม่ต่ำกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท

ความดันต่ำ

ประเภทของภาวะความดันต่ำ

ภาวะความดันโลหิตต่ำสามารถแบ่งออกได้หลายประเภทตามลักษณะที่ทำให้เกิดอาการ ได้แก่

  • ภาวะความดันโลหิตต่ำเมื่อเปลี่ยนท่าทางอย่างกะทันหัน (Orthostatic Hypotension)
  • ภาวะความดันโลหิตต่ำหลังรับประทานอาหารมื้อใหญ่ (Postprandial Hypotension)
  • ภาวะความดันโลหิตต่ำขณะยืนเป็นเวลานาน (Neurally Mediated Hypotension)
  • ภาวะความดันโลหิตต่ำที่รุนแรงจนนำไปสู่อาการช็อก

อาการของภาวะความดันต่ำ

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำกว่าปกติโดยธรรมชาติมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ แต่สำหรับผู้ที่เคยมีความดันโลหิตสูงแล้วลดลง แม้จะไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความดันโลหิตปกติก็ถือว่าเป็นภาวะผิดปกติที่ต้องรักษา ภาวะความดันโลหิตต่ำอาจเป็นผลมาจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอหรือมีความผิดปกติเกิดขึ้นภายในร่างกายจนเป็นผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง โดยมักจะแสดงอาการได้ดัง

  • มีค่าความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท
  • วิงเวียนศรีษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม 
  • รู้สึกอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย
  • มีอาการมึนงง สับสน
  • มองเห็นภาพไม่ชัด
  • ทรงตัวไม่อยู่
  • คลื่นไส้
  • กระหายน้ำ
  • ใจสั่น ใจเต้นแรง
  • หายใจตื้นและถี่
  • ตัวเย็น ผิวซีด และหนาวสั่น

อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นชั่วคราว สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถบรรเทาได้ด้วยการดื่มน้ำมาก ๆ หยุดทำกิจกรรมในขณะนั้น และค่อย ๆ นั่งพักหรือนอนลงสักครู่ แต่หากมีอาการเกิดขึ้นบ่อยหรือรุนแรงขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์

สาเหตุของภาวะความดันต่ำ

ภาวะความดันโลหิตต่ำสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากพันธุกรรม อายุ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานยาบางชนิดที่อาจส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาเบต้า บล็อกเกอร์ (Beta Blocker) ที่ใช้รักษาโรคหัวใจ หรือยารักษาโรคพาร์กินสัน ไปจนถึงปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ภายในร่างกาย 

ซึ่งปัญหาสุขภาพที่อาจส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ มีดังนี้

  • ภาวะขาดน้ำ เมื่อร่างกายสูญเสียน้ำปริมาณมาก เช่น การขับน้ำออกทางผิวหนังในรูปแบบของเหงื่อ การอาเจียน หรือท้องเสีย
  • โรคโลหิตจาง ซึ่งเกิดจากปริมาณฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดมีปริมาณต่ำกว่าปกติหรือมีจำนวนเม็ดเลือดแดงน้อย หรืออาจมีสาเหตุมาจากการสูญเสียเลือดปริมาณมากจากการบาดเจ็บรุนแรงด้วย
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น โรคพาร์กินสัน
  • ปัญหาเกี่ยวกับระบบต่อมไร้ท่อ เช่น ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ภาวะต่อมหมวกไตทำงานบกพร่อง หรือในผู้ป่วยบางรายอาจเกิดจากโรคเบาหวาน
  • ความผิดปกติเกี่ยวกับการทำงานของหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นช้า (Bradycardia) ลิ้นหัวใจมีปัญหา ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือภาวะช็อก เช่น ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะช็อกจากอาการแพ้ (Anaphylactic Shock) หรือภาวะช็อกจากหัวใจทำงานผิดปกติ (Cardiogenic Shock)
  • การสื่อสารระหว่างหัวใจและสมองผิดพลาด เช่น การที่ร่างกายส่งสัญญาณไปยังสมองว่ามีความดันโลหิตสูงมากเกินไป แต่แท้จริงแล้วร่างกายมีความดันโลหิตต่ำ สมองจึงสั่งให้หัวใจลดอัตราการเต้นให้ช้าลง ส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลงกว่าเดิม

ทั้งนี้ ความดันโลหิตปกติสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดทั้งวัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายส่วน เช่น อุณหภูมิ อาหาร ช่วงเวลาในระหว่างวัน ความเครียด หรือกิจกรรมที่ทำในขณะนั้น ล้วนส่งผลต่อความดันโลหิตทั้งสิ้น

การวินิจฉัยภาวะความดันต่ำ

โดยปกติแพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และตรวจร่างกายทั่วไป รวมถึงมีการตรวจวัดความดันโลหิตของผู้ป่วยว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่ นอกจากนี้ ในรายที่มีอาการรุนแรง มีอาการเกิดขึ้นบ่อย และการดูแลในเบื้องต้นไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น อาจต้องมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามลักษณะอาการของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์เพื่อหาสาเหตุ เช่น

  • การตรวจเลือด (Blood Tests) เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับระดับน้ำตาลในเลือด หรือการเกิดโรคโลหิตจาง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตต่ำ
  • การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติหัวใจด้วยเตียงปรับระดับ (Tilt Table Test) เพื่อตรวจดูค่าความดันโลหิตของผู้ป่วยในขณะที่เปลี่ยนแปลงท่าทาง
  • การตรวจระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic Nervous System) เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงจังหวะการเต้นของหัวใจในขณะที่ทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น ในขณะที่หายใจเข้าลึก ๆ หรือในขณะที่จุ่มมือลงในน้ำเย็นจัด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) เพื่อทดสอบสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจในแต่ละจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความสม่ำเสมอหรือไม่
  • การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter and Event Monitors) เพื่อดูการทำงานของหัวใจของในช่วง 24 ชั่วโมงว่ามีความผิดปกติหรือไม่
  • การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Stress Test) เพื่อดูการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย เพราะความผิดปกติของหัวใจบางอย่างสามารถตรวจพบได้ง่ายเมื่อหัวใจทำงานหนักและมีการสูบฉีดมากขึ้น
  • การตรวจปัสสาวะใน 24 ชั่วโมง (24 Hour Urine Test) โดยแพทย์จะให้ผู้ป่วยเก็บปัสสาวะตลอดช่วงระยะเวลา 24 ชั่วโมงลงในบรรจุภัณฑ์ที่เตรียมไว้ เพื่อนำไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ

การรักษาภาวะความดันต่ำ

จุดประสงค์ของการรักษาภาวะความดันต่ำคือการควบคุมความดันโลหิตให้กลับมาสู่ภาวะปกติและช่วยบรรเทาอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้น โดยวิธีการรักษาจะขึ้นอยู่กับชนิดของภาวะความดันโลหิตต่ำและความรุนแรงของอาการเป็นหลัก และผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีการตอบสนองต่อการรักษาแตกต่างกันออกไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น อายุ เงื่อนไขสุขภาพ ความแข็งแรงของร่างกาย หรือการใช้ยา

การรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำจะแบ่งเป็นการดูแลรักษาด้วยตัวเองและการรักษาทางการแพทย์ ดังนี้

การรักษาภาวะความดันต่ำด้วยตัวเอง

ผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำที่ไม่รุนแรงและมีสุขภาพแข็งแรง สามารถดูแลรักษาภาวะความดันโลหิตต่ำได้ด้วยตัวเอง ดังนี้

  • หากมีอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม ซึ่งเกิดจากการมีความดันโลหิตต่ำ ควรนั่งพักหรือนอนลงทันทีที่มีอาการ และพยายามยกเท้าให้อยู่สูงกว่าระดับหัวใจ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ในมื้อเดียว โดยควรแบ่งรับประทานอาหารทีละน้อย ๆ แต่รับประทานบ่อย ๆ แทน
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนในตอนกลางคืน และจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้
  • หลีกเลี่ยงการยืนเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำที่เกิดจากการสื่อสารผิดระหว่างหัวใจและสมอง (Neutrally Mediated Hypotension)  
  • หมั่นเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำโดยเฉพาะในช่วงเช้าของวัน เพื่อเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจให้สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ร่างกาย
  • สวมถุงเท้าที่ช่วยเพิ่มความดันโลหิต (Support Stockings/Compression Stockings) เพื่อช่วยส่งเสริมระบบการไหลเวียนของเลือดและช่วยเพิ่มความดันโลหิต แต่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้งาน

การรักษาภาวะความดันต่ำทางการแพทย์

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรงหรือต่อเนื่อง รวมถึงผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากการบาดเจ็บอย่างรุนแรงหรือเกิดภาวะช็อก แพทย์จะทำการรักษาดังต่อไปนี้

  • การให้น้ำเกลือ มักใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากภาวะขาดน้ำ การสูญเสียเลือดมาก หรือเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • การรักษาต้นเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่มีภาวะความดันโลหิตต่ำจากฮอร์โมนผิดปกติ จะได้รับการตรวจจากแพทย์ด้านฮอร์โมนโดยเฉพาะ และรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนทดแทน
  • การรักษาด้วยยา เช่น ยาที่ช่วยเพิ่มความดันโลหิต (Vasopressors) อย่างยากลุ่มแอลฟา อะดรีเนอร์จิก รีเซพเตอร์ อะโกนิสต์ (Alpha Adrenergic Receptor Agonists) 

ภาวะแทรกซ้อนของภาวะความดันต่ำ

แม้ว่าจะมีภาวะความดันโลหิตต่ำที่ไม่รุนแรง แต่ก็อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงในการหกล้มจากอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุที่เมื่อหกล้มแล้วอาจส่งผลกระทบรุนแรงจนถึงขั้นสะโพกหักหรือกระดูกสันหลังร้าว ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายยากลำบากขึ้น และเกิดปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมาด้วย

และในผู้ป่วยที่ความดันโลหิตลดต่ำลงมากจนทำให้เกิดอาการรุนแรง ก็อาจส่งผลให้ร่างกายขาดออกซิเจนจนทำให้หัวใจ สมอง หรืออวัยวะต่าง ๆ เกิดความเสียหาย และอาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

การป้องกันภาวะความดันต่ำ

ภาวะความดันโลหิตต่ำในผู้ป่วยแต่ละคนมีสาเหตุในการเกิดที่แตกต่างกัน จึงอาจไม่สามารถป้องกันได้เสมอไป แต่ก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำได้ด้วยการปฏิบัติตนตามคำแนะนำดังนี้

  • หมั่นตรวจวัดความดันโลหิตย่างสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงการลุก การนั่ง หรือการเปลี่ยนท่าทางที่รวดเร็วมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก เพราะอาจจะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น
  • ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ และช่วยเพิ่มปริมาณเลือดให้สูงขึ้น
  • ควรรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละมื้อ โดยแบ่งรับประทานเป็นมื้อย่อย ๆ หลายมื้อ

ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารครบถ้วน เน้นรับประทานอาหารประเภทผัก ผลไม้ ธัญพืช และเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงด้วย