ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension)

ความหมาย ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension)

Orthostatic Hypotension (ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า) เป็นภาวะที่ความดันโลหิตในร่างกายลดต่ำลงอย่างฉับพลันจากการเปลี่ยนท่าทางกะทันหัน พบขณะเปลี่ยนท่าเป็นลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วจากท่านั่งหรือนอน เนื่องจากเลือดในร่างกายไหลเวียนกลับสู่หัวใจน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายเกิดอาการผิดปกติตามมา เช่น เวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม เป็นต้น

ภาวะ Orthostatic Hypotension เป็นภาวะความดันโลหิตต่ำชนิดหนึ่งที่เกิดได้จากหลายปัจจัย แต่ผู้สูงอายุอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม อาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ผู้ที่เกิดภาวะนี้บ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะผิดปกติบางอย่างทางร่างกายที่รุนแรง ดังนั้น ผู้ป่วยควรหมั่นสังเกตอาการ และไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมหากอาการต่าง ๆ มีความรุนแรงขึ้น

ความดันโลหิตต่ำจากการเปลี่ยนท่า (Orthostatic Hypotension)

อาการของ Orthostatic Hypotension

ผู้ที่มีภาวะ Orthostatic Hypotension มักพบอาการเวียนหรือมึนศีรษะขณะกำลังเปลี่ยนท่าทางจากท่านั่งหรือนอนเป็นท่าลุกขึ้นยืน โดยอาการมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยเฉพาะในช่วงเช้าของวัน ช่วงที่ร่างกายขาดน้ำ ช่วงที่ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือในขณะที่สภาวะแวดล้อมหรือร่างกายมีอุณหภูมิสูง จากนั้นอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น 

ในบางกรณี ผู้ป่วยอาจพบอาการอื่นร่วมด้วย เช่น สายตาพร่ามัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ ปวดศีรษะ หายใจไม่อิ่ม ไม่มีสมาธิ สับสน รู้สึกร้อนวูบวาบ มีเหงื่อออกมาก ใจสั่น กล้ามเนื้อสั่น หรืออาจเป็นลม เป็นต้น

โดยส่วนใหญ่ อาการต่าง ๆ จากภาวะ Orthostatic Hypotension มักไม่รุนแรง แต่ผู้ที่เกิดอาการบ่อย ๆ หรือเกิดความผิดปกติอื่นร่วมด้วย อย่างเจ็บหน้าอก ล้ม หมดสติ หรือเกิดภาวะช็อก (Shock) ซึ่งจะมีอาการตัวซีดหรือเย็น เหงื่อออกมากผิดปกติ หายใจถี่ หรือมีชีพจรต่ำ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสม 

สาเหตุของ Orthostatic Hypotension

โดยปกติ ความดันโลหิตในขณะลุกขึ้นยืนจะลดต่ำลงจากการที่หัวใจมีเลือดไหลเวียนกลับมาน้อยกว่าปกติ เนื่องจากขณะเปลี่ยนท่าจากการนั่งหรือนอนเป็นท่ายืน เลือดในร่างกายไหลเวียนลงสู่ช่วงท้องและขามากขึ้นตามแรงโน้มถ่วง ซึ่งร่างกายจะปรับความดันโลหิตให้กลับสู่ภาวะปกติโดยการกระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดและหดขนาดหลอดเลือดบริเวณช่วงท้องและขาให้ตีบลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีภาวะ Orthostatic Hypotension จะพบว่ากลไกการปรับความดันโลหิตในข้างต้นทำงานผิดปกติไป โดยอาจเกิดขึ้นอย่างไม่ทราบสาเหตุ หรือมีปัจจัยบางอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น 

  • อายุเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงอายุ 65 ปีขึ้นไป ประสิทธิภาพของร่างกายในการปรับความดันโลหิตจะลดลง
  • ความผิดปกติทางหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ  ภาวะหัวใจขาดเลือด  ภาวะหัวใจวาย เป็นต้น
  • ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease) หรือภาวะสมองเสื่อมชนิด Lewy Body เป็นต้น
  • โรคหรือภาวะผิดปกติบางชนิด เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ โรคแอดดิสัน (Addison's Disease) เบาหวาน ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ภาวะขาดน้ำ หรือภาวะโลหิตจาง เป็นต้น
  • การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันโลหิตสูง ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาพาร์กินสัน ยาต้านอาการทางจิต ยาคลายกล้ามเนื้อ ยารักษาภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ยาต้านเศร้า หรือยาแก้ปวดชนิดเสพติด (Narcotics) เป็นต้น

นอกจากนี้ Orthostatic Hypotension ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น เช่น การรับประทานอาหารเนื่องจากเลือดในร่างกายจะไหลเวียนไปยังบริเวณลำไส้มากขึ้นในขณะย่อยอาหาร การตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในช่วง 24 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ภาวะขาดวิตามินบี 12 การเสียเลือดในปริมาณมาก การนอนอยู่กับที่เป็นระยะเวลานาน การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก หรือการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ร้อนเกินไป เป็นต้น

การวินิจฉัย Orthostatic Hypotension

แพทย์จะสอบถามอาการผิดปกติและประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย อย่างโรคประจำตัวหรือประวัติการใช้ยา ร่วมกับการตรวจร่างกายในเบื้องต้น หากแพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีแนวโน้มมีภาวะ Orthostatic Hypotension แพทย์จะตรวจวัดความดันโลหิตของผู้ป่วยขณะยืน นั่ง หรือนอน โดยแพทย์จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะ Orthostatic Hypotension กรณีที่อยู่ในเกณฑ์ต่อไปนี้

  • ค่าความดันโลหิตช่วงหัวใจบีบตัว (Systolic Blood Pressure) หรือความดันตัวบนลดลง 20 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ในช่วงหลังจากลุกขึ้นยืนเป็นเวลาประมาณ 2–5 นาที
  • ค่าความดันโลหิตช่วงหัวใจคลายตัว (Diastolic Blood Pressure) หรือความดันตัวล่างลดลง 10 มิลลิเมตรปรอท ในช่วงหลังจากลุกขึ้นยืนเป็นเวลาประมาณ 2–5 นาที 
  • ผู้ป่วยเกิดอาการผิดปกติที่เข้าข่ายภาวะนี้ขณะยืนขึ้น

จากนั้น หากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีภาวะ Orthostatic Hypotension แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีอื่นเพิ่มเติมตามปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน เพื่อหาสาเหตุและนำผลที่ได้ไปใช้พิจารณาวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การตรวจเลือด การใช้เตียงปรับระดับร่วมกับการวัดความดันโลหิต (Tilt Table Test) การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: EKG) หรือการทำเอ็กโคหัวใจ (Echocardiogram) เป็นต้น

การรักษา Orthostatic Hypotension

แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาผู้ป่วยแต่ละคนตามสาเหตุ เช่น การผ่าตัดหรือการใช้ยาบางชนิดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ เพิ่มปริมาณการดื่มน้ำให้มากขึ้นกรณีผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ปรับปริมาณยาบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุ สวมถุงน่องทางการแพทย์หรืออุปกรณ์รัดหน้าท้องเพื่อลดปริมาณการไหลเวียนโลหิตบริเวณขา เป็นต้น 

หากผู้ป่วยมีภาวะ Orthostatic Hypotension ขั้นรุนแรง แพทย์อาจใช้ยาบางชนิดในการรักษาร่วมด้วย เพื่อเพิ่มระดับเลือดในร่างกาย หรือหดตัวหลอดเลือดให้ตีบลง เช่น ยาฟลูโดรคอร์ติโซน (Fludrocortisone) ยามิโดดรีน (Midodrine) หรือยาอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างร่วมกับการรักษาทางการแพทย์ โดยให้หลีกเลี่ยงการลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วจากท่านั่งหรือนอน หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ร้อน หลีกเลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง หรือกรณีที่ผู้ป่วยไม่มีภาวะความดันโลหิตสูงร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเพิ่มปริมาณการรับประทานเกลือในแต่ละเมนูอาหารให้มากขึ้น เพื่อรักษาระดับน้ำในร่างกาย

ภาวะแทรกซ้อน Orthostatic Hypotension

ผู้ที่มีภาวะ Orthostatic Hypotension อย่างเรื้อรังและไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุหรือได้รับบาดเจ็บจากการเป็นลม เช่น หกล้ม กระดูกหัก หรือเกิดการกระทบกระเทือนบริเวณสมอง เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะผิดปกติรุนแรงอื่น ๆ อย่างโรคหลอดเลือดสมองจากการที่สมองมีเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ภาวะช็อกหรือการทำงานของอวัยวะล้มเหลวจากภาวะความดันโลหิตต่ำ หรือโรคทางหัวใจและหลอดเลือด อย่างภาวะหัวใจวาย และหัวใจเต้นผิดจังหวะ

การป้องกัน Orthostatic Hypotension

เนื่องจากภาวะ Orthostatic Hypotension เป็นภาวะที่เกิดได้จากหลายปัจจัย การป้องกันอาจทำได้ยาก แต่ในเบื้องต้นอาจลดความเสี่ยงได้ปฏิตามวิธีต่อไปนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แต่ควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีน
  • ควบคุมปริมาณอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงในแต่ละมื้ออาหารให้พอเหมาะ
  • หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง
  • ปรับหมอนหนุนศีรษะขณะนอนให้สูงขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการลุกขึ้นยืนอย่างรวดเร็วขณะนั่งหรือนอน
  • ขยับหรือเปลี่ยนท่าทางบ่อย ๆ หากต้องยืนหรืออยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน