หาว เกิดจากอะไร หาวบ่อย เป็นสัญญาณอันตรายหรือไม่

หาว เป็นอย่างไร ?

หาว เป็นกระบวนการที่มักเกิดขึ้นอย่างไม่ตั้งใจ มีลักษณะอาการ คือ อ้าปากแล้วสูดลมหายใจเข้าลึก ๆ นำอากาศเข้าสู่ปอด ก่อนจะหายใจออกมา หาวอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้น ๆ หรือยาวนานหลายวินาทีก่อนที่คนจะอ้าปากเพื่อหาว โดยกระบวนการหาวอาจเกิดร่วมกับการมีน้ำตาไหล การยืดกล้ามเนื้อ หรือการเกิดเสียงในขณะหาวได้ด้วยเช่นกัน

หาว

ทำไมคนเราต้องหาว ?

  • ความง่วง ความเมื่อยล้า ความเบื่อหน่าย แม้นักวิจัยยังไม่สามารถหาสาเหตุที่แน่ชัดของการหาวได้ แต่ยังมีทฤษฎีหลักเกี่ยวกับสาเหตุของการหาว คือ ความง่วง ความเมื่อยล้า และความเบื่อหน่าย เช่น เมื่อเรากำลังเบื่อหรือเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เราจะไม่สามารถหายใจได้ตามปกติ การหาวจะช่วยให้เราสามารถหายใจเข้าลึก ๆ นำออกซิเจนเข้าสู่กระแสเลือดได้มากขึ้น ในขณะที่หายใจออกนำเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากกระแสเลือดได้มากขึ้นด้วยเช่นกัน
  • กระบวนการสร้างความเย็นแก่สมอง ทฤษฎีนี้นำเสนอว่า การหาวอาจช่วยลดอุณหภูมิภายในสมองได้ โดยในขณะที่หาว การยืดกล้ามเนื้อบริเวณขากรรไกรจะกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดบริเวณลำคอ ใบหน้า และศีรษะ โดยการหายใจเข้าลึก ๆ ในขณะหาว จะนำเอาอากาศเย็นเข้าไปผ่านทางปาก และอากาศเย็นเหล่านี้จะเพิ่มความเย็นแก่น้ำไขสันหลังและเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมองต่อไป
  • ยืดเนื้อเยื่อปอด อีกทฤษฎีเกี่ยวกับสาเหตุของการหาว คือ หาวเพื่อยืดเนื้อเยื่อปอด รวมทั้งการยืดกล้ามเนื้อและข้อต่อต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการหาว จะช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และทำให้ผู้ที่หาวรู้สึกกระปรี้กระเปร่ายิ่งขึ้นด้วย
  • กระตุ้นสารหล่อลื่นภายในปอด อีกความเชื่อหนึ่ง คือ การหาวเป็นปฏิกิริยาที่ช่วยกระตุ้นการสร้างสารหล่อลื่นที่ทำให้เนื้อเยื่อภายในปอดชุ่มชื้น และป้องกันปอดทำงานล้มเหลว ตามทฤษฎีนี้เชื่อว่า หากเราไม่หาว จะทำให้การหายใจเข้าลึก ๆ เป็นไปอย่างยากลำบากขึ้น

ความเชื่อเกี่ยวกับการหาว : เมื่อเห็นคนหาว เรามักหาวตาม

มีความเชื่อว่า การหาวตาม ๆ กัน อาจเกี่ยวข้องกับการสื่อสารทางสังคม เนื่องจากโดยทั่วไป คนส่วนใหญ่มักจะหาวหรืออยากหาวหลังจากพบเห็นคนอื่น ๆ หาว หรือแม้กระทั่งการคิดหรือพูดถึงการหาว ก็ทำให้เราเกิดอาการหาวขึ้นมาได้เช่นกัน

หาวบ่อย เกิดจากอะไร อันตรายหรือไม่ ?

หาวบ่อย คือ อาการหาวที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ มากกว่า 1 ครั้ง/นาที แม้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของการหาวอาจมาจากความง่วง ความอ่อนเพลีย และความเบื่อหน่าย แต่ในบางครั้ง การหาวมากผิดปกติอาจเป็นผลมาจากการเจ็บป่วยด้วยโรคและภาวะที่ต้องการการรักษา เช่น

  • มีปัญหาในการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือโรคลมหลับ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ เนื่องจากไม่สามารถนอนหลับสนิทได้
  • ได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น กลุ่มยารักษาโรคซึมเศร้า หรือกลุ่มยารักษาภาวะวิตกกังวล ซึ่งจะมีผลข้างเคียงเป็นอาการง่วงซึม นอนไม่หลับ
  • ภาวะเลือดออกภายในหัวใจ หรือเนื้อเยื่อบริเวณหัวใจ

ส่วนภาวะอาการป่วยรุนแรงที่มีโอกาสพบได้น้อย แต่อาจทำให้เกิดอาการหาวบ่อย ๆ ได้แก่

แม้อาการหาวไม่ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดใด ๆ แต่สามารถปรึกษาแพทย์หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาได้ หากมีอาการหาวบ่อย ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

การตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เมื่อมีอาการหาวบ่อยจนเกินไป

เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์จะซักถามเกี่ยวกับอาการและความถี่ในการหาว พฤติกรรมการนอนว่าผู้ป่วยพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ สอบถามประวัติทางการแพทย์และการรักษา รวมทั้งอาจทำการตรวจร่างกายในเบื้องต้นด้วย หากแพทย์มีข้อสงสัยเพิ่มเติมถึงอาการป่วยที่เป็นสาเหตุ อาจส่งตรวจผู้ป่วยเพิ่มเติม เช่น

  • ตรวจการนอนหลับ (Sleep Test หรือ Polysomnography) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจในขณะนอนหลับ หรือโรคลมหลับ โดยจะมีการตรวจวัดระดับออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ คลื่นไฟฟ้าสมอง การกลอกตา การขยับของหน้าอกและช่องท้อง เพื่อดูว่ามีความผิดปกติในระหว่างการนอนหลับอย่างไร
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (Electroencephalogram: EEG) เป็นการตรวจปฏิกิริยาและการทำงานของคลื่นไฟฟ้าในสมอง ใช้ตรวจในกรณีที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคลมชัก หรือมีภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่กระทบต่อการทำงานของสมอง
  • ตรวจเลือด อาจใช้ตรวจเมื่อแพทย์มีข้อสงสัยถึงอาการชัก โรคลมชัก หรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการหาวบ่อย ๆ โดยแพทย์อาจตรวจค่าความสมบูรณ์ของเลือด และตรวจหาระดับสารเคมีต่าง ๆ ในเลือดด้วย เพื่อตรวจหาสัญญาณการติดเชื้อ หรือตรวจการทำงานของตับและไต เป็นต้น
  • การฉายภาพด้วยเครื่องสแกนสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) คล้ายกับการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ผู้ป่วยจะอยู่บนเตียงของเครื่องสแกน ปล่อยให้สนามแม่เหล็กวิ่งผ่านรอบตัวผู้ป่วย แล้วคอมพิวเตอร์จะสร้างภาพฉายอวัยวะภายในบริเวณที่ต้องการตรวจออกมา มักใช้ตรวจหาความผิดปกติในระบบต่าง ๆ เช่น โรคที่เกี่ยวข้องกับสมอง ไขสันหลัง และการทำงานของหัวใจ

หาว ต้องรักษาให้หายหรือไม่ ?

อาการหาวไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาเหมือนอาการป่วยอื่น ๆ ทุกคนทุกเพศทุกวัยล้วนต้องหาว เช่นเดียวกันกับสัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ เพราะการหาวเป็นกระบวนการหนึ่งของร่างกายที่เป็นไปตามธรรมชาติ

หากต้องเผชิญกับอาการหาวบ่อย ๆ จากความง่วง ความเมื่อยล้า และความเบื่อหน่าย ที่ไม่มีสาเหตุปัจจัยจากการเจ็บป่วยอื่น ๆ อาจบรรเทาอาการได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • นอนหลับให้เต็มที่ พักผ่อนอย่างเพียงพอกับเวลานอนที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอายุ หากกำลังเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หรือไข้หวัด ผู้ป่วยอาจต้องการการพักผ่อนยาวนานกว่าปกติ เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวจากอาการป่วยได้เร็วขึ้น
  • กำจัดอุปสรรคที่รบกวนการนอน ปิดเสียงและแสงที่อาจรบกวนการนอนได้ ไม่รับประทานอาหารก่อนเข้านอน ไม่ทำกิจกรรมอื่น ๆ บนเตียงก่อนเข้านอน เช่น ดูโทรทัศน์ หรืออ่านหนังสือ
  • สำหรับผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นตัวจากอาการป่วย ควรเริ่มกลับมาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันตามปกติ เพื่อไม่ให้อยู่ในภาวะเมื่อยล้าอ่อนเพลียนานจนเกินไป
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ตามโภชนาการในปริมาณที่เหมาะสม และไม่อดอาหาร โดยเฉพาะอาหารมื้อเช้า
  • ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ
  • ทำกิจกรรมนอกบ้านและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดอาการอ่อนเพลียเมื่อยล้า แต่ไม่ควรออกกำลังกายใกล้กับเวลาเข้านอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาในการนอนได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาในกลุ่มที่เสี่ยงทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการอ่อนเพลีย เมื่อยล้า หรือง่วงซึม หากจำเป็นต้องใช้ยา สามารถปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับวิธีการใช้ยาหรือการปรับยาได้
  • งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์และคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่ และไม่ใช้ยาเสพติด

หากเป็นอาการหาวบ่อย ๆ ที่เกิดจากภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์ โดยแพทย์จะพิจารณารักษาตามอาการป่วยด้วยวิธีที่เหมาะสมต่อไป เช่น

  • มีปัญหาในการนอน แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ เช่น เข้านอนให้เป็นเวลา ออกกำลังกายหรือหากิจกรรมผ่อนคลายความเครียด รวมทั้งอาจจ่ายยานอนหลับเพื่อช่วยรักษาบรรเทาอาการด้วย
  • ผลข้างเคียงจากการใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้ลดปริมาณยารักษาที่ใช้อยู่ เปลี่ยนไปใช้ยาตัวอื่น หรือหยุดใช้ยาชนิดนั้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ และไม่ปรับยาหรือหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันด้วยตนเอง

นอกจากนี้ หากมีอาการหาวบ่อย ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากโรคหรือภาวะเจ็บป่วยที่รุนแรง ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมจากแพทย์อย่างเร่งด่วน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน โรคลมชัก ตับวาย เป็นต้น