แอมโมเนีย สารเคมีภายในบ้านกับความเสี่ยงต่อสุขภาพ

แอมโมเนีย (Ammonia) เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งที่มีกลิ่นฉุน อยู่ในรูปแบบก๊าซและของเหลว โดยพบได้ตามธรรมชาติและกระบวนการสังเคราะห์ ในปัจจุบันแอมโมเนียมักใช้เป็นส่วนประกอบของน้ำยาทำความสะอาด ปุ๋ย และผลิตภัณฑ์อีกหลายภายในบ้าน

แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์กัดกร่อนและทำให้เกิดภาวะเป็นพิษ เมื่อสัมผัสโดนอาจทำให้เกิดอาการทางผิวหนังและระบบทางเดินหายใจ หากได้รับในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นและเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่อมนุษย์และมีประโยชน์ในทางการแพทย์ จึงควรใช้ด้วยความระมัดระวังและใช้ให้ถูกวิธี

Structural,Chemical,Formula,Of,Ammonia,Molecule,With,Ammonia,Glass,Cleaner

แอมโมเนียกับชีวิตประจำวัน

แอมโมเนียเป็นสารเคมีที่พบได้ทั่วไปในธรรมชาติ ทั้งในดิน อากาศ ต้นไม้ หรือแม้แต่ภายในร่างกายมนุษย์และสัตว์ โดยแอมโมเนียในร่างกายมนุษย์จะเกิดจากกระบวนการเผาผลาญพลังงาน จัดเป็นสารเคมีที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและมีส่วนในการสังเคราะห์โปรตีน ส่วนแอมโมเนียในธรรมชาติมักมีความเข้มข้นต่ำและไม่เป็นอันตราย 

นอกจากนี้ ยังมีแอมโมเนียสังเคราะห์ที่พบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด น้ำยาเช็ดกระจก น้ำยาเคลือบเงา ปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งการสัมผัสกับแอมโมเนียสังเคราะห์ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติและเป็นอันตราย 

โดยแอมโมเนียจากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ส่วนมากจะเข้าสู่ร่างกายผ่านการสัมผัสทางผิวหนัง ดวงตา และการสูดดม แต่บางกรณีอาจพบผู้ที่ได้รับแอมโมเนียเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานได้เช่นกัน ซึ่งผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมผลิตสีทาบ้าน สารหล่อเย็น โลหะ กระดาษ กาว เครื่องหนัง และชาวไร่ชาวสวนที่ต้องใช้ปุ๋ยอาจมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากแอมโมเนียสูงกว่าคนทั่วไป

นอกจากประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรม แอมโมเนียความเข้มข้นต่ำยังเป็นประโยชน์ทางการแพทย์อีกด้วย หลายคนอาจเคยเห็นการปฐมพยาบาลคนเป็นลมด้วยการนำยาดมหรือไม้พันสำลีจุ่มแอมโมเนียให้ผู้ที่เป็นลมสูดดม ซึ่งกลิ่นฉุนและฤทธิ์กัดกร่อนอ่อน ๆ ของแอมโมเนียความเข้มข้นต่ำจะทำให้เยื่อบุในระบบทางเดินหายระคายเคืองเมื่อสูดเข้าไปในร่างกาย จึงกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาต่อการหายใจและช่วยให้ผู้ที่เป็นลมหายใจได้ดีขึ้น

รู้จักภาวะเป็นพิษจากแอมโมเนีย

แม้ว่าแอมโมเนียจะมีประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมและการแพทย์ แต่การสัมผัสกับแอมโมเนียปริมาณมากหรือแอมโมเนียความเข้มข้นสูงอาจทำให้เกิดความผิดปกติได้ เช่น 

  • การสัมผัสแอมโมเนียทางผิวหนังและดวงตาจะทำให้บริเวณดังกล่าวแสบร้อน เป็นแผลพุพอง ระคายเคือง น้ำตาไหล ในรายที่รุนแรงอาจเกิดแผลพุพองรุนแรง แผลลึก หรือสูญเสียการมองเห็นเมื่อสัมผัสถูกดวงตา
  • การสูดดมและได้รับแอมโมเนียผ่านการรับประทานจะทำให้ปวดแสบปวดร้อนภายในช่องปาก จมูก ลำคอ และลำไส้ ไอ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ในรายที่รุนแรงจะเกิดอาการบวมและเป็นแผลไหม้รุนแรงบริเวณริมฝีปาก ช่องปาก ลำคอ หายใจติดขัด หายใจไม่ออก หมดสติ และเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ผู้ที่สัมผัสและทำงานเกี่ยวข้องกับแอมโมเนียต่อเนื่องเป็นเวลานานอาจเพิ่มความเสี่ยงของโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) 

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อสัมผัสแอมโมเนีย

หากได้รับแอมโมเนียผ่านการสูดดม สิ่งแรกที่ควรทำคือออกจากบริเวณที่แอมโมเนียรั่วไหลไปยังพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเท ในกรณีที่แอมโมเนียโดนภายนอกร่างกาย ควรถอดเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่เปื้อนแอมโมเนียออก และรีบทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่น หากแอมโมเนียถูกผิวหนังหรือดวงตา ควรทำความสะอาดด้วยน้ำสะอาดต่อเนื่องกันอย่างน้อย 20 นาที หรือใช้น้ำเกลือทางการแพทย์ล้างแทนได้ โดยในระหว่างและหลังการปฐมพยาบาล ควรหมั่นสังเกตอาการของผู้ประสบเหตุอยู่ตลอดเวลา และรีบโทรเรียกรถพยาบาลหรือนำผู้ประสบเหตุส่งโรงพยาบาล

เพื่อป้องกันอันตรายจากแอมโมเนีย ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแอมโมเนียหรือสารเคมีเป็นส่วนประกอบด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ในชีวิตประจำวัน มีการสวมถุงมือ แว่นตา และหน้ากากอนามัยเพื่อลดการสัมผัสกับแอมโมเนีย เก็บผลิตภัณฑ์ให้พ้นจากเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่ควรเก็บแอมโมเนียในบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากแก้วเพราะอาจทำบรรจุภัณฑ์แตกและเกิดอันตราย นอกจากนี้ ห้ามใช้แอมโมเนียร่วมกับสารฟอกขาวเด็ดขาดเพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาทางเคมีที่รุนแรงและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต สำหรับผู้ที่ต้องทำงานกับแอมโมเนียและสารเคมี ควรสวมอุปกรณ์ที่เหมาะสมอยู่เสมอเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ ลดความเสี่ยงและปัญหาสุขภาพ และหมั่นไปตรวจร่างกายเป็นประจำ