6 ยาแก้ปวดประจำเดือนที่ดีและเห็นผลไว ปลอดภัยสำหรับสาว ๆ

ยาแก้ปวดประจำเดือนเป็นยาที่บรรเทาอาการปวดท้องที่เกิดขึ้นก่อนหรือขณะมีประจำเดือน โดยผู้หญิงบางคนอาจมีอาการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ ดังนั้น การกินยาแก้ปวดประจำเดือนที่มีคุณภาพ และเห็นผลไว อาจช่วยให้อาการปวดประจำเดือนดีขึ้น และสบายตัวมากขึ้น

อาการปวดประจำเดือน เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อมดลูกบีบตัวเพื่อขับเยื่อบุผนังมดลูกออกมาในรูปแบบของเลือดประจำเดือน โดยอาการปวดประจำเดือนอาจดีขึ้นได้เองเมื่อเวลาผ่านไป อย่างไรก็ตาม อาการปวดประจำเดือนมักทำให้รู้สึกไม่สบายตัว จึงอาจจำเป็นต้องใช้ยาแก้ปวดประจำเดือน เพื่อบรรเทาอาการปวดให้ดีขึ้น

ยาแก้ปวดประจำเดือน

ยาแก้ปวดประจำเดือนที่หาซื้อง่ายและได้ผลไว

ยาแก้ปวดประจำเดือนสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป โดยยาแก้ปวดประจำเดือนที่มีประสิทธิภาพดี ใช้แล้วเห็นผลได้ไว อาจมีดังนี้

1. พอนสแตน (Ponstan) 500 มิลลิกรัม บรรจุแผงละ 10 เม็ด

Mar-24-02-01 (1)

พอนสแตนเป็นยาแก้ปวดประจำเดือนที่ประกอบไปด้วยตัวยาเมเฟนามิก แอซิด (Mefenamic acid) ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์สกัดกั้นสารพรอสตาแกลนดินที่ร่างกายปล่อยออกมาเพื่อช่วยในการบีบตัวของมดลูก โดยอาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน และกลุ่มอาการผิดปกติก่อนมีประจำเดือน 

การกินยาพอนสแตนเพื่อแก้ปวดประจำเดือน ควรกินครั้งละ 1 เม็ดเมื่อเริ่มมีอาการปวด ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคตับหรือไตวาย โรคหัวใจ มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยานี้อาจเป็นอันตรายได้

2. โกเฟน (Gofen) 400 มิลลิกรัม บรรจุแผงละ 10 เม็ด

Mar-24-02-02 (1)

โกเฟนเป็นยาแก้ปวดประจำเดือนที่มีส่วนประกอบของยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ซึ่งเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ ในร่างกาย รวมไปถึงอาการปวดประจำเดือนให้ดีขึ้น โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างสารพรอสตาแกลนดิน ซึ่งมีส่วนในการเกิดอาการปวดประจำเดือน

โกเฟนเป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นแคปซูลที่มียาไอบูโพรเฟนอยู่ในรูปแบบเจล จึงทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมยาได้อย่างรวดเร็ว และลดอาการปวดประจำเดือนได้เร็วยิ่งขึ้น

เมื่อมีอาการปวดประจำเดือนเกิดขึ้น ควรรับประทานยาโกเฟนครั้งละ 1 เม็ด ทุก ๆ 4–6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 3 เม็ดภายใน 24 ชั่วโมง เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกายได้ นอกจากนี้ การใช้ยาโกเฟนเป็นยาแก้ปวดประจำเดือนหรืออาการปวดอื่น ๆ อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เคยป่วยเป็นแผลในกระเพาะอาหาร เพราะยานี้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหารได้

3. ไทลินอล (Tylenol) 500 มิลลิกรัม บรรจุแผงละ 10 เม็ด  

Mar-24-02-03 (1)

ไทลินอลเป็นยาที่สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือนได้ โดยไทลินอลมีส่วนประกอบของยาพาราเซตามอล ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลาง และออกฤทธิ์ระงับอาการปวดที่เกิดขึ้น จึงอาจนำมาใช้แก้ปวดที่มีอาการไม่รุนแรง รวมไปถึงอาการปวดประจำเดือน

โดยการกินยาไทลินอล ควรรับประทานห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง ซึ่งปริมาณอาจแตกต่างกันไปตามน้ำหนักตัว เช่น น้ำหนัก 34–50 กิโลกรัม รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด น้ำหนักมากกว่า 50–67 กิโลกรัม รับประทานยาครั้งละ 1 เม็ดครึ่ง วันละไม่เกิน 5 ครั้ง และน้ำหนักมากกว่า 67 กิโลกรัม รับประทานยาครั้งละ 2 เม็ด วันละไม่เกิน 4 ครั้ง

ทั้งนี้ ควรกินยาตามขนาดที่แนะนำเท่านั้น เพราะการกินยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดพิษต่อตับ และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา หากดื่มสุราเป็นประจำ เป็นโรคตับหรือโรคไต เพราะยาพาราเซตามอลอาจส่งผลต่อตับ ซึ่งอาจทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

4. พานาดอล แอคติฟาส (Panadol Actifast) 500 มิลลิกรัม บรรจุแผงละ 10 เม็ด

Mar-24-02-04 (1)

พานาดอล แอคติฟาสเป็นยาเม็ดที่อาจนำมาใช้บรรเทาอาการปวดประจำเดือน โดยพานาดอลมีส่วนประกอบของยาพาราเซตามอล ซึ่งนอกจากจะนำมารักษาอาการปวดประจำเดือนแล้ว ยังอาจนำมาใช้ลดไข้ และบรรเทาอาการปวดอื่น ๆ ที่มีอาการเล็กน้อยหรือปานกลาง

พานาดอล แอคติฟาสอาจนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือนได้อย่างดี เพราะไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร อีกทั้งยาสูตรนี้ยังดูดซึมเข้าร่างกายเร็วกว่าพานาดอลสูตรปกติถึง 2 เท่า จึงอาจช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้เร็วยิ่งขึ้น

โดยการรับประทานพานาดอลอาจทำได้ดังนี้ น้ำหนัก 34–50 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ด น้ำหนักมากกว่า 50–67 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 1 เม็ดครึ่ง วันละไม่เกิน 5 ครั้ง และน้ำหนักมากกว่า 67 กิโลกรัม รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละไม่เกิน 4 ครั้ง โดยรับประทานยาห่างกันอย่างน้อย 4 ชั่วโมง เฉพาะเวลาปวดประจำเดือน โดยควรอ่านฉลากหรือปรึกษาเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้งเพื่อความปลอดภัย

5. อีเบอริล (Eberil) 120 มิลลิกรัม บรรจุแผงละ 5 เม็ด

Mar-24-02-05 (1)

อีเบอริลเป็นยาอีกหนึ่งตราที่สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือนได้ โดยอีเบอริลประกอบด้วยยาอีโตริคอกซิบ ซึ่งเป็นยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างพรอสตาแกลนดินที่เป็นสาเหตุของการบีบตัวของมดลูก และก่อให้เกิดอาการปวดประจำเดือนตามมา

อีเบอริลเป็นยาแก้ปวดประจำเดือนที่ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยวิธีการรับประทานอีเบอริลที่นำมาใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือนนั้นไม่ยาก เพียงรับประทานยาอีเบอริล 120 มิลลิกรัมครั้งละ 1 เม็ด โดยยานี้ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 8 วัน เพราะอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ทั้งนี้ ผู้ที่มีความผิดปกติของตับและไต และผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน ผู้ที่สูบบุหรี่ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง และควรใช้ยาอย่างระมัดระวังเพื่อความปลอดภัย

6. นาโปรฟาสต์ (Naprofazt) 250 มิลลิกรัม บรรจุแผงละ 10 เม็ด

Mar-24-02-06 (1)

นาโปรฟาสต์เป็นยาแก้ปวดที่มีส่วนประกอบหลักเป็นยานาพรอกเซน ซึ่งเป็นตัวยาที่ช่วยยับยั้งการสร้างเอนไซม์ที่สร้างสารพรอสตาแกลนดิน และบรรเทาอาการปวดต่าง ๆ เช่น ปวดฟัน ปวดหลัง และนำมาใช้เป็นยาแก้ปวดประจำเดือนได้ 

ยานาพร็อกเซนของนาโปรฟาสต์อยู่ในรูปแบบของแคปซูลแบบซอฟต์เจล (Softgel capsule) ซึ่งอาจส่งผลให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายยิ่งขึ้น และลดอาการปวดประจำเดือนได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับบรรเทาอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง หรือปวดประจำเดือน เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 2 เม็ดหลังจากนั้นรับประทานครั้งละ 1 เม็ด ทุก 6–8 ชั่วโมง หรือ 2 เม็ด ทุก ๆ 12 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนรับประทานยานี้ หากปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น มีลือดออกในกระเพาะอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร เพราะยานี้อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้

เมื่อเริ่มมีอาการปวดประจำเดือน ควรรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนทันทีเพื่อให้ยาสามารถออกฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากการรับประทานยาแล้ว ผู้ที่มีอาการปวดประจำเดือนสามารถดูแลตัวเองด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ เช่น ประคบร้อนบริเวณหน้าท้อง นวดเบา ๆ ที่หน้าท้องและหลัง 

หากรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนแล้ว แต่อาการยังคงไม่ดีขึ้น หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ เกิดขึ้น เช่น ประจำเดือนมามากผิดปกติ ปวดประจำเดือนอย่างรุนแรงจนทุกเดือนจนอาจกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป