เป็นประจำเดือนห้ามกินอะไร มาหาคำตอบกัน

เป็นประจำเดือนห้ามกินอะไร หรือมีอาหารอะไรบ้างที่จะสามารถช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือนหรือไม่ น่าจะเป็นหนึ่งในคำถามที่ผู้หญิงหลายคนรู้สึกสงสัย เนื่องจากในช่วงรอบเดือนจะเป็นช่วงผู้หญิงหลายคนรู้สึกว่าอาการต่าง ๆ โดยเฉพาะอาการปวดท้อง มักส่งผลให้การใช้ชีวิตประจำวันลำบากขึ้น

สำหรับผู้หญิงที่เข้าสู่ช่วงวัยที่มีประจำเดือน ในช่วงหนึ่งของทุก ๆ เดือน หรือประมาณทุก 28 วัน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในร่างกายจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ผนังของมดลูกจะจับตัวกันหนาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ แต่หากไม่มีการปฏิสนธิ ผนังมดลูกที่จับตัวกันหนาก็จะหลุดลอกออกจากร่างกายผ่านทางช่องคลอด หรือที่ใครหลายคนเรียกกันว่าเลือดประจำเดือน

เป็นประจำเดือนห้ามกินอะไร มาหาคำตอบกัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบางอย่าง ซึ่งก็รวมถึงการรับประทานอาหารบางชนิด ก็อาจส่งผลให้ผู้ที่มีประจำเดือนบางคนมีอาการผิดปกติบางอย่างในช่วงมีประจำเดือนที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น ปวดท้อง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ หรืออารมณ์แปรปรวน ดังนั้น ผู้ที่มีคำถามว่า เป็นประจำเดือนห้ามกินอะไร ก็อาจจะลองทำความรู้จักอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงได้จากในบทความนี้

เป็นประจำเดือนห้ามกินอะไร 

ในช่วงที่มีประจำเดือน อาหารที่คุณผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงก็เช่น

1. อาหารที่มีน้ำตาลสูง

คำตอบแรกสำหรับข้อสงสัยที่ว่า เป็นประจำเดือนห้ามกินอะไร ก็คืออาหารที่มีน้ำตาลสูง เนื่องจากอาหารที่มีน้ำตาลสูงอาจส่งผลให้ระดับอินซูลิน (Insulin) ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเมื่อระดับอินซูลินในร่างกายเริ่มสูงเกินไป ระดับฮอร์โมนเพศหญิงในร่างกายก็จะเริ่มขาดความสมดุล รวมถึงอาจนำไปสู่อาการอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น ท้องอืด อ่อนเพลียผิดปกติ หรือปวดศีรษะบ่อย ๆ

2. อาหารที่มีเอสโตรเจนสูง

ในกระบวนการหลุดลอกของผนังมดลูกที่จับตัวกันหนาในช่วงที่มีประจำเดือน ร่างกายจะต้องผลิตสารที่มีชื่อว่า พรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ออกมา ซึ่งสารนี้จะเป็นสารที่ส่งผลให้ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมีอาการปวดท้องในช่วงนี้

ดังนั้น การรับประทานอาหารที่มีเอสโตรเจนสูงก็จะยิ่งส่งผลให้ผนังมดลูกจับตัวกันหนา และผลิตสารพรอสตาแกลนดินออกมามากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่อาการปวดท้องประจำเดือนที่แย่ลงได้ โดยตัวอย่างอาหารที่มีเอสโตรเจนสูงก็เช่น

  • พืชตระกูลถั่ว โดยเฉพาะถั่วเหลือง
  • ผลไม้ตระกูลเบอร์รีและพืชตระกูลกะหล่ำ เช่น สตรอว์เบอรรี บลูเบอร์รี เชอร์รี กะหล่ำปลี และบร็อคโคลี
  • กระเทียม 
  • ธัญพืช

3. นมและผลิตภัณฑ์จากนม

คำตอบสำหรับข้อสงสัยที่ว่าเป็นประจำเดือนห้ามกินอะไรสำหรับผู้ที่มีภาวะย่อยน้ำตาลแล็กโทสบกพร่อง (Lactose Intolerance) ก็คือไม่ควรดื่มนมวัว เนื่องจากจะยิ่งส่งผลให้อาการท้องอืด หรือไม่สบายท้องจากการมีประจำเดือนยิ่งแย่ลง นอกจากนี้ นมวัวหรืออาหารใด ๆ ที่ผลิตจากนมวัวก็ถือเป็นอาหารที่มีเอสโตรเจนสูงเช่นกัน

4. สัตว์เนื้อแดง

สัตว์เนื้อแดง เช่น หมู หรือวัว เป็นกลุ่มอาหารที่มีสารพรอสตาแกลนดินสูง ซึ่งอย่างที่ได้กล่าวไปว่าสารชนิดนี้เป็นสารที่ร่างกายจะผลิตออกมาในช่วงที่มีประจำเดือน เพื่อช่วยให้ผนังมดลูกที่จับตัวกันหนาหลุดลอกออก แต่ก็ยังเป็นสารที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือนด้วย ดังนั้น ในช่วงที่มีประจำเดือน ผู้ที่มีประจำเดือนควรหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มนี้ไปก่อน

อย่างไรก็ตาม เนื้อแดงเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีน เหล็ก และวิตามินบี 12 ซึ่งมีส่วนช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือด จึงควรรับประทานสารอาหารเหล่านี้ให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะเลือดจางในช่วงเป็นประจำเดือนซึ่งเกิดการสูญเสียเลือด โดยเฉพาะหากประจำเดือนมามาก โดยอาจเลือกบริโภคอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีสารอาหารเหล่านี้สูงแทน เช่น ไข่ เครื่องในสัตว์ อาหารทะเล

5. เกลือ

ในช่วงที่มีประจำเดือน อาการท้องอืดถือเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อย โดยการรับประทานเกลือในปริมาณมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะในอาหารแปรรูปที่มักมีส่วนผสมของเกลือสูง จะอาจยิ่งส่งผลให้ร่างกายกักเก็บน้ำมากขึ้น จนอาจทำให้อาการท้องอืดยิ่งแย่ลงได้

6. เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์อาจส่งผลให้ร่างกายเกิดการสูญเสียน้ำได้ ซึ่งเมื่อร่างกายมีระดับน้ำที่ต่ำจนเกินไป อาการปวดศีรษะ หรืออาการท้องอืดที่มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีประจำเดือนก็จะยิ่งแย่ลงได้ นอกจากนี้ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก็ยังอาจส่งผลให้บางคนเกิดอาการที่เกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารได้อีกด้วย เช่น อาการคลื่นไส้ หรือท้องเสีย 

7. คาเฟอีน

อาหารอีกชนิดหนึ่งที่เป็นคำตอบสำหรับข้อสงสัยที่ว่า เป็นประจำเดือนห้ามกินอะไร ก็คือคาเฟอีน การที่ร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณมาก ๆ อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืด ปวดศีรษะ หรือในบางคน ก็อาจพบอาการท้องเสียได้อีกด้วย ดังนั้น ในช่วงที่มีประจำเดือน ผู้ที่มีประจำเดือนก็ควรจะลดหรือจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนไม่ให้มากจนเกินไป

8. อาหารรสเผ็ด

การรับประทานอาหารรสเผ็ดอาจส่งผลให้บางคนเกิดอาการท้องเสีย ปวดท้อง ไม่สบายท้อง หรือคลื่นไส้ได้ ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในช่วงที่มีประจำเดือน โดยเฉพาะผู้ที่มักเกิดอาการในข้างต้นหลังจากรับประทานอาหารเผ็ด ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารในกลุ่มนี้ไปก่อน

มาถึงตรงนี้หลายคนคงพอทราบเป็นแนวทางแล้วว่า เมื่อเป็นประจำเดือนห้ามกินอะไรเพื่อไม่ให้อาการต่าง ๆ ในช่วงนี้ยิ่งแย่ลง อย่างไรก็ตาม นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารหรือเครื่องดื่มในข้างต้นแล้ว การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่มีสารอาหารบางชนิด เช่น ใยอาหาร ธาตุเหล็ก และกรดไขมันโอเมก้า 3 ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญที่อาจช่วยบรรเทาอาการในช่วงนี้ได้เช่นกัน

นอกจากนั้นยังอาจบรรเทาอาการด้วยการประคบร้อน การอาบน้ำอุ่น หรือการรับประทานยาแก้ปวด เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) แต่หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังรับประทานยา ปวดประจำเดือนมากขึ้นหรือประจำเดือนมามากกว่าเดิม รู้สึกปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ขณะปัสสาวะ หรืออุจจาระ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม